สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

Search

องค์กรภาคประชาชนไทใหญ่แฉผลประโยชน์แอบแฝง จีนสนับสนุนกองทัพว้าขยายพื้นที่ตอนเหนือรัฐฉานหวังสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน นักสิ่งแวดล้อมเชื่อส่งผลกระทบข้ามแดนถึงไทยด้วยแน่

เมื่อวันที่ 6 กันยายน องค์กรภาคประชาสังคมไทใหญ่ Shan State Frontline Investment (SSFIM) เปิดเผยว่ากองทัพว้า (United Wa State Army – UWSA) ได้เข้ายึดเมืองต้างยาน ทางตอนเหนือของรัฐฉาน โดยอาจมีจุดประสงค์เพื่อเปิดทางให้จีนดำเนินการสร้างเขื่อนหนองผา  (Naung Pha dam) บนแม่น้ำสาละวิน ซึ่งจะเป็น 1 ใน 3 เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดกั้นแม่น้ำสาละวิน หรือแม่น้ำคง ในภาษาไทใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางกองทัพว้าได้ยอมให้จีนดำเนินการสร้างเขื่อนมานโตงกั้นแม่น้ำมาซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของสาละวิน

 SSFIM ระบุว่า กองทัพว้าได้ขยายอิทธิพลเข้าไปในเมืองต้างยาน โดยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ทหารว้ากว่า 2,000 นาย ได้เดินทางด้วยรถบรรทุกจากด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เข้าประจำตามจุดต่าง ๆ รอบเมืองต้างยาน และตามแนวเส้นทางหลวงต้างยาน- เมืองหยัย ทั้งนี้กองทัพว้าได้เข้าไปควบคุมตอนเหนือของเมืองต้างยานแล้วทั้งหมด และขับไล่กองกำลังมานป่างซึ่งรัฐบาลทหารพม่าให้การสนับสนุนออกไป และการขยายอิทธิพลของกองทัพว้าครั้งนี้ทำให้สามารถควบคุมพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดที่กำลังมีการสร้างเขื่อนมานโตง ขนาด 225 เมกะวัตต์ บนแม่น้ำมา ลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินในเขตปกครองตนเองของว้า UWSA

องค์กรไทใหญ่ระบุว่า โครงการเขื่อนมานโตง เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐวิสาหกิจจีน Hydrochina Corporation และบริษัทของกองทัพพม่า International Group of Entrepreneurs (IGE) ซึ่งมีข้อตกลงครอบคลุมถึงการก่อสร้างโครงการเขื่อนหนองผา ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ บนแม่น้ำสาละวิน ที่ตั้งอยู่บริเวณนั้นอีกด้วย ทั้งสองโครงการเขื่อนนี้เป็นโครงการแบบ Build Operate Transfer (BOT) คือเอกชนผู้รับสัมปทาน เป็นผู้ออกแบบ-ก่อสร้าง-บริการจัดการ และเมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วก็โอนกิจการและทรัพย์สินคืนแก่รัฐ และมีแผนจะส่งออกไฟฟ้าอย่างน้อย 50% ไปยังจีน

องค์กรไทใหญ่รายงานว่า พบความเคลื่อนไหวผิดปกติเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2567 โดยมีนักธุรกิจชาวจีนจำนวน 12 คน เดินทางไปในพื้นที่ตั้งโครงการเขื่อนหนองผา ซึ่งคณะได้ขับรถเอสยูวีผ่านทางสะพานท่ากองแอ็ค  มีทหารของกองทัพว้าคอยอารักขา

“ประเมินว่า การที่กองทัพว้ายินยอมทำตามผลประโยชน์ของจีน มีการเดินหน้าเขื่อนมานโตง และจะทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีการเร่งเดินหน้าโครงการเขื่อนหนองผาเช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันกองทัพว้าได้เข้ามาควบคุมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำสาละวินในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการแล้ว” องค์กรไทใหญ่ระบุ

โครงการเขื่อนหนองผาเป็น 1 ในเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่งตามแผนก่อสร้างของบริษัทจากจีนบนแม่น้ำสาละวินในรัฐฉาน โดยเขื่อนอีกสองแห่งได้แก่ เขื่อนกุ๋นโหลง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ตอนเหนือ และเขื่อนเมืองโต๋น หรือเขื่อนท่าซาง ขนาด 7,000 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ตรงข้าม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ที่ผ่านมา ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น ภาคประชาสังคม พรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้า และกลุ่มต่อต้านติดอาวุธที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำสาละวินในพม่า ได้แสดงการต่อต้านการสร้างเขื่อนอย่างต่อเนื่องหลายปี เนื่องจากผลกระทบด้านสังคม สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำสาละวิน

“โครงการเขื่อนหนองผา ตั้งอยู่ใกล้กับแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกหลายแห่ง ซึ่งเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว โดยเมื่อปี 2547 รัฐบาลจีนเองเคยระงับแผนการสร้างเขื่อน 13 แห่งบนแม่น้ำสาละวินตอนบน หรือแม่น้ำนู่เจียง ในเขตประเทศจีนเอง เพราะเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เนื่องจากแม่น้ำสายนี้ไหลผ่านแนวรอยเลื่อนขนาดใหญ่โดยตรง ประเทศจีนควรรับฟังเสียงของประชาชนที่กังวลต่อการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน และขอให้ยกเลิกแผนก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักด้านตะวันออกของพม่าสายนี้ทันที” รายงานขององค์กร SSFIM ระบุ

ทั้งนี้บันทึกความเข้าใจของโครงการเขื่อนทั้ง 2 แห่ง ได้รับการลงนามเมื่อปี 2552 ระหว่างการเดินทางมาเยือนกรุงเนปีดอว์ของรองประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในขณะนั้น และมีการลงนามบันทึกความตกลงเมื่อปี 2557 กับรัฐบาลเต็งเส่ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากถูกประชาชนได้ออกมาคัดค้านต่อต้านอย่างหนัก ส่งผลให้การก่อสร้างเขื่อนหนองผาต้องหยุดชะงัก ขณะที่กองทัพว้านั้นได้อนุญาตให้มีการสร้างเขื่อนมานโตงในเขตพื้นที่ของตนอย่างเงียบๆ โดยภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดชี้ให้เห็นว่า มีการเดินหน้าสร้างฐานเขื่อนอย่างต่อเนื่อง บนทั้งสองฝั่งของแม่น้ำมา

นส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค International Rives กล่าวว่าแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ จากต้นธารที่หิมาลัย ถึงปากน้ำที่ทะเลอันดามัน แม่น้ำสาละวินยังคงไหลอิสระ แต่โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่วางแผนก่อสร้างกั้นแม่น้ำสาละวินในพม่า ทั้งในรัฐฉาน รัฐคะเรนนี และรัฐกะเหรี่ยง ล้วนแต่อยู่ในพื้นที่สงครามที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ที่น่าเป็นห่วงมากคือการเข้ามาของจีนด้วยการนำของกองทัพว้า UWSA ที่มีทรัพยากรมาก สามารถแผ่อิทธิพลครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในรัฐฉาน และมีแนวโน้มที่จะขยายอิทธิพลลงทางใต้ ตามแนวลำน้ำสาละวิน ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนในรัฐฉานจริงจะส่งผลกระทบต่อประชาชนชาติพันธุ์ต่างๆและส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมาถึงชายแดนไทยด้วยอย่างแน่นอน

On Key

Related Posts