นายสมพงค์ สระแก้ว
มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)
กลุ่มประชากรข้ามชาติ รวมถึงเด็ก เยาวชน คนในวัยแรงงาน ผู้สูงอายุ มีการอพยพย้ายถิ่นจากประเทศต้นทาง อาทิ กัมพูชา เมียนมา และลาว มาเป็นจำนวนมาก โดยร้อยละ 60-70 เป็นชาวเมียนมาและมีเด็กแรกเกิดที่เกิดเมืองไทยจำนวนหนึ่ง รวมถึงเป็นผู้ติดตามมาอีกจำนวนหนึ่ง กลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้น้อย เนื่องจากภาวะความขาดแคลน ยากจน ภัยพิบัติ โรคระบาด อยู่ห่างไกลจากสถานศึกษา ขณะที่สถานศึกษาบางแห่งไม่ตอบสนองนโยบายการเปิดรับเด็กเข้าเรียนและมีทัศนคติเชิงลบต่อคนย้ายถิ่น เช่นเดียวกับสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายรับเด็กเหล่านี้ โจทย์คือ หากเราจะปลุกเร้า สร้างจินตนาการใหม่ให้กับหน่วยงานเหล่านี้ให้ปรับแนวความคิดใหม่และมีบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติ น่าจะเป็นโอกาสดีไม่น้อย
ส่วน กศน. (เดิม) ปัจจุบัน คือ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบคือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิ ยังมีบทบาทน้อยมากกับการยกระดับการศึกษาแก่กลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็กข้ามชาติ หากกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ปรับยุทธศาสตร์การทำงานกับเด็กข้ามชาติตามกรอบวิสัยทัศน์และภารกิจที่ไม่เลือกปฏิบัติ เชื่อมั่นว่าเด็กข้ามชาติจะมีพื้นที่เรียนรู้ในทุกๆ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้หรือมาประสานการทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม จะเป็นการดียิ่ง
สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ไม่ได้มีบทบาทเชิงรุกเข้าถึงและเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนหนังสือตามพื้นที่ความรับผิดชอบ สถานประกอบการ หรือองค์กรภาคธุรกิจเอกชน ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนดูแลส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติน้อยมาก เพียงมีบางประเด็นที่ใส่ใจมากขึ้นคือ การป้องกันการใช้แรงงานเด็กที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น หาก สพฐ. ร่วมกับภาคธุรกิจ ทำบันทึกข้อตกลงในการสนับสนุนลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในบริษัทตนเองเข้าเรียนในโรงเรียน จะส่งผลดียิ่งต่อตัวชี้วัดโอกาสทางการศึกษาของไทย
ในกรณีผลกระทบที่ได้รับจากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เด็กออกจากสถานศึกษาจำนวนมากจนบางแห่งปิดดำเนินการ แต่เมื่อโควิดจางหายไปได้กลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง ในช่วงหลังการเปิดภาคเรียนใหม่ของสถานศึกษาในระบบรัฐไทย หากเป็นศูนย์การเรียนชาวเมียนมา อาศัยการเรียนการสอนผ่านหลักสูตรเมียนมาผสมภาษาไทย และเปิดการเชื่อมต่อกับประเทศต้นทาง เมื่อเรียนจบในระดับหนึ่งสามารถไปเรียนต่อยังโรงเรียนของตนเองได้ แต่ตัวอย่างศูนย์การเรียนบางแห่งที่อำเภอแม่สอดและพบพระ จังหวัดตาก สพฐ. เพียงแค่ไปกำกับดูแลตรวจตรา นับจำนวนเท่านั้น ไม่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณใดๆ ทำให้ส่วนใหญ่ของศูนย์การเรียนต่างๆ ต้องพึ่งพาตนเองสูงที่สุด
ส่วนผู้ดำเนินการจัดการศึกษา ส่วนใหญ่มิได้เป็นคนไทยหรือไม่มีวุฒิบัตรการศึกษาจบครูในประเทศไทย และบางแห่งจบระดับปริญญาตรีหลักสูตรครูจากประเทศเมียนมาเข้ามาเป็นอาสาสมัครครูผู้สอน และครูอาสาสมัครชาวเมียนมา จดทะเบียนแรงงานไว้กับกระทรวงแรงงาน แต่โดยบทบาทต้องมาช่วยสอนหนังสือแก่เด็กนักเรียน ในส่วนนี้หากรัฐบาลเห็นความสำคัญของกลไกครูผู้สอน ต้องมีระบบอย่างใดอย่างหนึ่งมารับรองสถานะบุคคล หรือให้มีการจดทะเบียนกลางเป็นผู้ประสานงานภาษาในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือ กระทรวงศึกษาขึ้นทะเบียนรับรอง ซึ่งต้องคิดหาทางออกร่วมกัน
เด็กข้ามชาติที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาไทย ต้องเรียนในพื้นที่ห่างไกล กันดาร การที่ครอบครัวมีรายได้น้อย ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ การขาดแคลนภาวะโภชนาการ สุขอนามัยไม่ดี เป็นต้น หากเด็กข้ามชาติเข้าถึงภาวะโภชนาการที่ดี องค์กรปกครองท้องถิ่นส่งเสริมสนับสนุนเสมือนกับศูนย์เด็กอนุบาลของ อบต. หรือ หน่วยงานด้านสาธารณสุขเข้าไปสำรวจดูแลส่งเสริมและป้องกันโรคจะเป็นการดีมาก
จากประเด็นต่างๆ ข้างต้น ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในห้วงของวัยผู้สูงอายุ ขาดกำลังวัยแรงงานที่มีคุณภาพจำนวนมาก ขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการจำนวนมาก เราจะสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณค่าที่ไม่ใช่ประชากรไทย แต่เป็นประชากรข้ามชาติที่เป็นกำลังแรงงานในอนาคตได้อย่างไร จะทำให้กลุ่มประชากรข้ามชาติที่เกิดขึ้นทุกวัน เป็นบุคลากรที่มีคุณค่าทางสังคมและเป็นแรงงานที่มีคุณภาพสร้างผลผลิตแก่สถานประกอบการได้อย่างไร
ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม
1.สถานศึกษาทุกรูปแบบ หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานต้องมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติให้ครอบคลุมทั่วถึงในพื้นที่ต่างๆ ที่มีกลุ่มประชากรข้ามชาติพักอาศัยอยู่
2.ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มเครือข่ายทางสังคมแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติแบบยืดหยุ่นในหลายๆ รูปแบบตามสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มนั้นๆ และมีการสนับสนุนงบประมาณร่วมด้วย
3.กระทรวงศึกษาผลักดันให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพฐ.) และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ ภายใต้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) (อังกฤษ: Department of Learning Encouragement : DOLE) มีบทบาทใหม่ในการทำงานเชิงรุกและจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติ และพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มเครือข่ายทางสังคมแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะส่งผลทำให้เห็นภาพในเชิงปริมาณและคุณภาพ
4.พัฒนาการจัดเก็บเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ BIG DATA เพื่อให้เห็นตัวเลขเพื่อนำมาจัดทำนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในฐานะที่เป็นองคาพยพหนึ่งของประเทศไทย
5.จัดทำเป้าหมายใหญ่ในเชิงยุทธศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของกลุ่มประชากรอาเซียน มี Road Map ที่ชัดเจนให้กับผู้ให้การศึกษา หน่วยงาน สถาบันต่างๆ และผู้เรียน เพื่อกำหนดทิศทางอนาคตของตนเองได้ อาทิ เรียนจบปริญญาตรี แล้วประกอบอาชีพอะไรได้ สถานะทางกฎหมายเป็นคุณแก่ผู้เรียน ได้รับการยอมรับในอาชีพการงาน เป็นต้น
6.การพัฒนาระบบการศึกษาไทยและการศึกษาข้ามพรมแดน อาทิ ไทย เมียนมา ไทย กัมพูชา ไทย ลาว ให้สอดคล้องส่งต่อไปได้อย่างมีมาตรฐาน เมื่อตนเองอยู่ที่ได้ย้ายไปที่ใดสามารถเรียนต่อในขั้นสูงต่อไปได้เลย
7.ปรับกฎระเบียบและหลักสูตรของศูนย์การเรียนให้ยืดหยุ่นและง่ายต่อการจดทะเบียนศูนย์การเรียน และให้ผู้ปกครองกลุ่มเปราะบางเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรการศึกษาเรียนรู้
8.ให้ กองทุนเสมอภาคทางการศึกษามีส่วนกำหนดการจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ในกลุ่มประชากรข้ามชาติมากขึ้น และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุ้มครองเด็กข้ามชาติในประเทศไทย
9.การส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างศูนย์ต่างๆ ที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับเด็กข้ามชาติในประเทศไทยต่อกรณีที่เด็กไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียนของรัฐได้ และรวมถึงโรงเรียนของรัฐบางแห่งเลือกปฏิบัติที่จะไม่รับเด็กข้ามชาติเข้าเรียนด้วยเงื่อนไขที่สร้างข้อจำกัดให้กับครอบครัวและผู้ปกครอง
10.จัดเวทีสาธารณะเพื่อหารูปธรรมการบริหารจัดการที่เอื้อต่อสภาพการณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ปัญหาในประเทศต้นทางที่บีบคั้นการเคลื่อนย้ายถิ่นของเด็กและเยาวชนข้ามชาติ ในบางจังหวัดให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารจัดการตนเองโดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน หลักความมั่นคงของมนุษย์มากกว่าความมั่นคงของรัฐ