ศ.สุริชัย-ครูแดง เตือนสติ ศธ.คำนึงถึงสิทธิการศึกษาของเด็กก่อนสั่งปิดศูนย์การเรียน-หวั่นบานปลายจี้รัฐเร่งกำหนดนโยบายเชิงรุก-แนะภาครัฐเป็นพี่เลี้ยงทำงานร่วมกับภาคี
ความคืบหน้าจากกรณีที่รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)สั่งตรวจสอบสถานศึกษาที่มีเด็กเคลื่อนย้ายจากประเทศพม่าเรียนหนังสือ ภายหลังจากคลิปเด็กนักเรียนร้องเพลงชาติพม่าได้ชัดเจนกว่าเพลงชาติไทยแพร่กระจายกลายเป็นไวรัล และมีการสั่งปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี และเตรียมดำเนินการกับศูนย์การเรียนต่างๆทั่วประเทศที่ยังไม่ได้จดทะเบียนกับ ศธ.โดยล่าสุดมีกระแสข่าวว่าในวันที่ 9 กันยายนจะมีการดำเนินการปิดศูนย์การเรียนใน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีเด็กเคลื่อนย้ายจากพม่าอยู่นับหมื่นคน
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญคือเด็กในประเทศต้องได้รับการศึกษา กรณีสั่งปิดศูนย์การเรียนนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องฟังกระทรวงศึกษาธิการ ต้องพัฒนาความเข้าใจของตนเองต่อเรื่องนี้ และจัดการด้วยความเข้าใจ จะจัดการทุกอย่างได้ยังไง ในโลกที่ต้องทำงานร่วมกันกับภาคีหลายส่วนพึ่งกัน เป็นภาระที่ไทยสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านทั้งแรงงาน กรรมกร การจัดวางตำแหน่งตัวเองในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทันสถานการณ์ ต้องตระหนักว่าต้องปรับปรุง
ในขณะที่ นางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวว่าเป็นการขัดต่อนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน(Education for all) ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดเมื่อพ.ศ. 2548 เมื่อครั้งที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่รัฐไทยเป็นภาคี ในปกป้องคุ้มครองเด็กให้ได้ประโยชน์สูงสุด ปลอดภัยในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี
“ดิฉันเคยไปเยี่ยมศูนย์การเรียนที่จังหวัดระนองสำหรับลูกแรงงานข้ามชาติภาคประมงซึ่งเป็นอาชีพที่ขาดแคลนแรงงาน ต้องใช้แรงงานจากเมียนมาร์เกือบทั้งหมด ผู้ปกครองเด็ก ต้องการให้ลูกได้ใช้เวลาอยู่กับศูนย์การเรียนซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยและทำให้ลูกได้มีพัฒนาการเรียนรู้ที่จะอยู่กับสังคมไทย หากศูนย์การเรียนถูกปิด แม่ก็จะไม่ได้ไปทำงานเพราะต้องคอยดูแลลูกทำให้ไม่มีรายได้พอเพียง ลูกอาจถูกชักจูงไปในทางผิดกฎหมายเช่นเรื่องยาเสพติดหรือ เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์” นางเตือนใจ กล่าว
อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวอีกว่า แรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโดยถูกกฎหมายก็ยังมีความกังวลว่าตนยังไม่ได้สิทธิอาศัยที่ถูกกฎหมาย แม้จะเป็นสิทธิ์ที่อาศัยชั่วคราว ชีวิตจึงอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวว่าจะถูกส่งกลับไปประเทศต้นทางซึ่ง สถานการณ์ยังไม่ปลอดภัยต่อชีวิต
“ขอเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งกำหนดนโยบายเชิงรุก ที่จะดูแล ผู้ที่อพยพให้แรงงานข้ามชาติและลูกหลานซึ่งเป็นผู้ติดตาม ด้วยหลักมนุษยธรรม หลักสิทธิมนุษยชน ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิที่อาศัยชั่วคราว ได้สิทธิทำงานถูกกฎหมาย สนับสนุนศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในสภาวะเคลื่อนย้าย ให้ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย เป็นพี่เลี้ยงให้ศูนย์การเรียน จัดการเรียนด้วยมีหลักสูตรที่มีคุณภาพเชื่อมโยงหลักสูตรไทยกับหลักสูตรเมียนมา เมื่อสถานการณ์สงบเด็กจะได้กลับไปเรียนในโรงเรียนหลักสูตรเมียนมาได้” นางเตือนใจ กล่าว
นายวีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ในความดูแลของมูลนิธิกระจกเงาเชียงราย กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องการเมืองที่ทำให้เด็กได้รับผลกระทบ
“ความตั้งใจที่จะให้การศึกษากับเด็กในประเทศไทย พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เปิดให้ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) การศึกษานอกโรงเรียนเดิม หรือศูนย์การเรียนทั่วไปที่จดตามมาตรา 12 ที่ จ.ระนอง เป็นการสอนในพื้นที่มีครูพม่ามาสอน ถ้าไม่คิดอะไรก็ไม่น่าจะผิด เหมือนวัดที่สอนภาษาไทยใหญ่ เขมร ขอม เรียนตามวัดได้ไม่มีวุฒิอะไรเป็นการเรียนรู้โดยปกติ”
ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา กล่าวอีกว่า ในอดีตที่ จ.ระนอง มีการจับครูซึ่งเป็นแรงงานพม่า โดยถือใบอนุญาตทำงานเป็นกรรมกร แต่มาเป็นครูผิดที่ทำงานผิดประเภทมารับจ้างเป็นครูโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน นายจ้างไม่ขออนุญาต ก็ต้องไปดูกฎหมายแรงงานกับกฎหมายคนเข้าเมือง ถ้าไม่มีใบอนุญาตก็ถือว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย
“พอไปจับครูหมดก็ไม่มีคนสอนก็เป็นการปิดศูนย์การเรียนไปโดยปริยาย เขาทำแบบนั้นเพราะไม่ได้สั่งปิด แต่ จ.สุราษฎร์ธานี ผมงงมากว่าสั่งปิดในข้อหาอะไร มีการตามจับครูอยู่ด้วยใช้โมเดลแบบที่ จ.ระนอง ถ้าจำข่าวได้ที่ จ.อ่างทอง ผอ.กัลยา ทาสม ก็โดนข้อหานำพาต่างด้าวเข้าเมืองไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้ที่พักพิง เล่นกันแต่ไม่ได้ดูเด็กเลยนะ เช่นเดียวกับกรณีมูลนิธิของครูน้ำที่เอาเด็กไปเชียงแสน การแก้ปัญหาตรงนี้ไม่มองว่าจะจัดการศึกษาเด็กเหล่านี้อย่างไรให้ถูกต้อง” นายวีระ กล่าว
“ผมว่าศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 สามารถเข้าไปแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย มีคำถามว่าแล้วทำไมไม่ไปโรงเรียนรัฐ คือถ้าเด็กอายุ 15 ปีแล้วไปเข้า ป.1 เด็กจะอยู่ได้ไหมกับเด็ก 6-7ขวบ นี่เป็นเรื่องจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก ถ้าเจอเด็กกลุ่มนี้จะทำอย่างไร นี่เป็นปัญหาของครูในพื้นที่ที่ไม่อยากรับ แต่นโยบายไม่ได้ปิดกั้น ข้อเท็จจริงคือเขาไม่รับ เหมือนเด็กที่ศูนย์การเรียนไร่ส้ม อายุ 16 ปีมาสมัครเรียน ป.1 เพราะไปที่อื่นไม่รู้จะอยู่อย่างไ แต่ที่ไร่ส้มมีเด็กเกินเกณฑ์อายุหลายคน” นายวีระ กล่าว
ส่วนกรณีที่เด็กนักเรียนกว่าหมื่นคนจะถูกลอยแพนั้น นายวีระ กล่าวว่า รัฐไทยผิดที่ไม่จัดการศึกษาให้เด็ก ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาให้คนในประเทศ ทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ด้าน ปารมี ไวจงเจริญ หรือครูจวง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)พรรคประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้ก็มีข่าวว่าอาจจะมีการสั่งหยุดการเรียนการสอนของศูนย์การเรียนรู้ใน จ.ตาก ที่มีกลุ่มลูกหลานแรงงานข้ามชาติเข้าเรียนทั้งหมดอีกด้วย
“กรณีนี้ดิฉันตกใจอย่างมากเพราะเมื่อวานเพิ่งได้โทรศัพท์ประสานงานไปยัง 3 ผู้บริหารสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ คือ คุณสิริพงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, คุณสุเทพ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคุณธนุ เลขาธิการ สพฐ. เพื่อขอให้ช่วยประสานงานว่าอย่าเพิ่งสั่งหยุดการเรียนการสอนเพราะจะกระทบต่อเด็กเป็นจำนวนมาก จะทำให้เด็กไม่มีที่เรียน แต่ก็ยังเกิดการสั่งปิดศูนย์การเรียนขึ้นมาจนได้ เหตุการณ์นี้ถ้าเกิดขึ้นในช่วงที่มีคณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ ดิฉันคงจะเสนอทางพรรคประชาชนเพื่อขอตั้งกระทู้ถามด่วนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ในขณะนี้คณะรัฐมนตรีแม้ว่าจะถวายสัตย์ฯแล้ว แต่ยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดิฉันจึงต้องโทรศัพท์ประสานงานด่วนไปยังคุณสิริพงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอให้ช่วยประสานงานแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน” น.ส.ปารมี กล่าว