สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

Search

“จาตุรนต์”จวกผู้บริหาร ศธ.ไม่รู้หน้าที่ตัวเองเหตุสั่งปิดศูนย์การเรียน-หวั่นประเทศไทยเสียหาย กสม.ออกแถลงการณ์ให้ทบทวน “ศ.สมพงษ”แนะเด็ก 2 วัฒนธรรม ชี้สั่งการตามกระแสไม่เหมาะสม ปลัด ศธ.ปฎิเสธตอบเตรียมลุยศูนย์การเรียนที่แม่สอด

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)สั่งการให้มีการตรวจเข้มศูนย์การเรียนที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้กับ ศธ. หลังจากมีคลิปเด็กนักเรียนเคลื่อนย้ายจากประเทศพม่าร้องเพลงชาติพม่าชัดเจนกว่าเพลงชาติไทยจนกลายเป็นกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และได้มีการปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ว่า “การรีบปิดเพราะไปตามกระแส ผมคิดว่ามันอาจจะดูแล้วไม่น่าจะเหมาะสมเท่าไร เวลาเราดูตามกระแสแล้วจะมีความรู้สึกเรื่องชาตินิยมเข้ามาเกี่ยว มันก็จะทำให้เราคิดหรือตัดสินใจประเด็นอื่นๆจะมีความสำคัญรองลงไป แต่ถ้าเรารอบคอบคิดไปถึงอนาคตมากขึ้น ผมคิดว่าเราจะเข้าไปจัดการได้นุ่มนวลกว่านี้ 

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า การเข้าใจปัญหาเรื่องที่เด็กร้องเพลงชาติประเทศอื่น ถ้ามองมุมหนึ่งอาจดูไม่สมควร แต่อีกมุมคิดว่าเด็กที่ทะลักเข้ามา อาจต้องพิจารณาในเรื่อง 2 วัฒนธรรม เขาก็ร้องเพลงชาติไทยได้และร้องเพลงชาติพม่าได้ ถ้ามองแบบนี้เราจะเข้าใจและนุ่มนวลกว่านี้” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว  

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า เด็กที่ทะลักเข้ามาในไทยเนื่องจากหนีภาวะสงคราม บริเวณชายแดนไทยที่ยาวกว่า 2 พันกิโลเมตรนี้ เป็นสิทธิมนุษยชน Corridor  เป็นกำแพงในการช่วยเหลือเยียวยาเด็ก  ถ้ามองในแง่ 2 วัฒนธรรรมเราจะจัดการการศึกษาให้ดี อย่ามองแบบชาตินิยมอย่าวเดียว ซึ่งหลายฝ่ายได้แก่รัฐไทย รัฐพม่า และภาคประชาสังคม ต้องหารือกันว่าจะจัดการกับเรื่องคนทะลักเข้ามาอย่างไร ทิศทางนโยบายที่จะทำเรื่องนี้ต้องเปิดเวทีให้มีพื้นที่พูดคุยอย่างชัดเจนและได้บทสรุป  

“เราต้องให้การศึกษาตามสิทธิที่เขาควรจะได้รับ ให้เขาอยู่บริเวณชายแดนก็ได้ แต่เราต้องจัดการศึกษาบนพื้นฐานของเด็กที่หนีภาวะสงคราม อาจจะมียูนิเซฟ ยูเนสโก องค์กรด้านการศึกษาทั้ง 2 ฝั่งมาช่วยจัดการศึกษาในลักษณะเด็ก 2 วัฒนธรรม เป็นการศึกษาที่ค่อนข้างจะเป็นสากล” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว  

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองอย่างไรหาก ศธ.จะปิดศูนย์การเรียนที่ไม่ได้จดทะเบียนทั่วประเทศ  ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า การปิดศูนย์แล้วจะเอาเด็กจำนวนนับพันคนไปไว้ที่ไหน แล้วเราจะจัดการศึกษาอย่างไร ถ้าส่งเด็กกลับก็น่าจะไม่เหมาะ  

“ผมคิดว่าควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ถ้ามันไม่ถูกต้องก็พยายามหาทางที่มันนุ่มนวล ทำให้เกิดความเข้าใจกับทุกฝ่าย ถ้าเราจัดการดีละมุนละม่อมมันจะซื้อความหมายที่เป็นคุณและเป็นบวกกับประเทศ แต่ถ้าปิดแบบรวบรัด ผมคิดว่าจะมีผลลบมากกว่าผลดี อยากฝาก ปลัดศธ.ไว้ด้วย” กรรมการบริหาร กสศ.กล่าว  

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรี ศธ. กล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกที่มีการพูดถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และระบบกฎหมายของประเทศไทยที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับอยู่ทำให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และยังสอดคล้องกับเรื่อง Education for All  โดยมีการพูดกันผ่านสื่อมวลชน และพูดในรัฐสภา มีการพูดให้เห็นปัญหาอย่างชัดเจนว่าเด็กในประเทศไทยไม่ว่าจะสัญชาติอะไร จะเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ มีสัญชาติหรือไม่ ก็ต้องได้รับการคุ้มครองในการได้รับการศึกษา แต่กระทรวง ศธ.ซึ่งควรจะเข้าใจเรื่องนี้แล้ว ก็กลับไม่เข้าใจ ไปปิดศูนย์การเรียน ถ้าต้องการจะเข้มงวดเรื่องการเข้าเมือง ไม่ต้องการให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในไทยมากๆก็ต้องไปเข้มงวดโดยฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง แต่เมื่อเด็กเข้ามาไทยแล้ว ศธ.ก็มีหน้าที่ให้การศึกษาเด็ก ศธ.จึงไม่ควรสับสนหน้าที่ของตนเอง  

อดีตรัฐมนตรี ศธ. กล่าวอีกว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กที่รัฐไทยเป็นภาคีแน่ๆ และไม่สอดคล้องกับมติ ครม. ส่วนในข่าวบอกว่าการที่เด็กร้องเพลงชาติไทยไม่ชัดเท่าเพลงชาติพม่า อาจเป็นสาเหตุของดราม่านั้น เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วไปปิดศูนย์ด้วยเหตุนี้ ก็ยิ่งเป็นเรื่องไร้สาระ ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างร้ายแรง  

“เด็กมาจากพม่าข้ามมาเรียนที่ศูนย์การเรียนหรือโรงเรียน เขาก็เป็นเด็กพม่าได้รับสิทธิโดยไม่ต้องเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทย เขาร้องเพลงชาติพม่าได้ชัดก็ถูกแล้ว จะร้องเพลงชาติไทยไม่ได้ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไรเลย แต่เราไม่มีสิทธิอะไรจะไปบังคับให้เขาร้องเพลงชาติไทย เมื่อกระทรวง ศธ.ไม่ทำความเข้าใจเรื่องนี้เสียทีมันก็ทำให้ปัญหาคาราคาซัง แล้วก็อาจจะบานปลาย หากยังมีการไปปิดศูนย์การเรียนในที่ต่างๆแล้วผลักดันให้เด็กกลับไปประเทศของตน จะเป็นเรื่องผิดเสียหายร้ายแรงเพราะเมื่อยู่ในไทย ระบบการศึกษามีหน้าที่คุ้มครองให้เขาเรียน ไม่ใช่ผลักไสให้เขาออกนอกประเทศโดยเฉพาะกลับไปประเทศที่กำลังมีภัยจากสงครามและเสี่ยงอันตราย”อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว

 นายจารุรนต์กล่าวว่า สิ่งที่ควรจะทำอันดับแรกคือ ผู้บริหารกระทรวง ศธ. ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ก่อนว่าตนเองมีหน้าที่อะไร เพื่อให้อยู่ในโลกที่เป็นอารยะได้ ไม่ใช่ทำให้ประเทศไทยเสียภาพพจน์ และต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กจำนวนมาก เพราะวิธีการที่ ศธ.ดำเนินการอยู่ นอกจากไม่สนับสนุนให้เด็กได้เรียนแล้ว ยังสกัดกั้นขัดขวางด้วย 

ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์สอบถามนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวง ศธ. จากกรณีที่มีข่าวว่าในวันพรุ่งนี้ (9 กันยายน 2567) จะมีการดำเนินการตรวจจับศูนย์การเรียนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก  ซึ่งนายสุเทพ ถามกลับว่าเอาข่าวมาจากไหน   “ไม่จริง ผมไม่ได้ไป ผมมีงานอยู่ที่กรุงเทพ”

เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามกรณีปิดศูนย์การเรียนเพิ่ม ปลัดกระทรวง ศธ. กล่าวว่า   “ไม่ตอบดีกว่าครับ ผมตอบมาเยอะแล้ว ขอบคุณครับ รอให้มันชัดเจนก่อนครับ”    

วันเดียวกันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยกรณีการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ โดยระบุว่าตามที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้มีการปิดศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ฯทุกแห่ง ส่งผลให้เด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติกว่า 2,000 คน ต้องหยุดเรียนกลางคัน นั้น กสม.มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจขยายตัวและส่งผลกระทบไปยังศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ ซึ่งรองรับเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติจำนวนหลายหมื่นคน ทั้งทางด้านการศึกษา ความปลอดภัยระหว่างที่บิดามารดาต้องไปทำงาน

แถลงการณ์ระบุว่า หากเด็กต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง ย่อมเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์ ล่วงละเมิดทางเพศ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่กำหนดให้การดำเนินการใด ๆ รัฐต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาและโอกาสทางการศึกษา อีกทั้งยังส่งผลต่อท่าทีของรัฐบาลที่เห็นชอบให้ถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ

“การปิดศูนย์การเรียนเหล่านี้ ในขณะที่หน่วยงานรัฐ และสถานศึกษาในพื้นที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะรองรับเด็ก จะส่งผลกระทบกับเด็กอย่างรุนแรง และอาจส่งผลถึงเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่จะมารองรับด้วย กสม. ขอให้ ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติแบบเหมารวม และเร่งดำเนินการจดแจ้งลงทะเบียนศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติทั่วประเทศ”แถลงการณ์ ระบุ

On Key

Related Posts