สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

Search

 “ยูนิเซฟ” แนะคำนึงถึงสิทธิเด็กวอนทุกฝ่ายร่วมมือหาทางออก เครือข่ายสิทธิเด็กฯ แฉคำสั่งปิดศูนย์การเรียนถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง จี้รัฐหามาตรการเยียวยา-คุ้มครองเด็ก ผช.รมว.ศธ.ระบุ “มิตตาเย๊ะ”ถูกร้องเรียนหลายครั้งจนต้องดำเนินการ ขณะที่ผู้ให้เช่าเผยหน่วยงานรัฐรับรู้มาโดยตลอด วอนสังคมเข้าใจ

ความคืบหน้ากรณีที่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สั่งการให้มีการตรวจเข้มศูนย์การเรียนของเด็กนักเรียนข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้กับ ศธ. หลังจากมีคลิปตัดต่อเด็กนักเรียนเคลื่อนย้ายจากประเทศพม่าร้องเพลงชาติพม่าชัดเจนกว่าเพลงชาติไทยจนกลายเป็นกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และได้มีการปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ดร.รับขวัญ ธรรมาภรณ์พิลาศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ว่า การจัดการศึกษาให้เด็กข้ามชาติมีความซับซ้อนที่ต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ซึ่งเป็นสิทธิของเด็กทุกคน ไม่เฉพาะว่าจะต้องจัดการศึกษาให้เด็กไทยหรือเด็กข้ามชาติเท่านั้น  ประเทศไทยเป็นจุดกำเนิดของ Education for All ตั้งแต่ปี 1990 ต่อมาจึงมีการย้ำในพันธสัญญาในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ Development Goal ที่เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ไทยเองก็พัฒนานโยบายต่างๆเช่น มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2548 การจัดการศึกษาให้คนที่ไม่มีสัญชาติไทย สถานการณ์ที่มีเด็กข้ามชาติเข้ามาในไทยเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองของพม่ามีจำนวนเด็กๆ เข้ามาเยอะมากเป็นแสนๆคน ในขณะที่การศึกษาในไทยมีโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์การเรียนที่จดทะเบียนตามมาตรา 12 ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ (MLC) จำนวนเด็กบางพื้นที่มีประชากรข้ามชาติเข้ามาเยอะมากซึ่งโรงเรียนรัฐรองรับได้ไม่เพียงพอ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวอีกว่า เคยทำการสำรวจความคิดเห็นของประชากรข้ามชาติในการเลือกสถานศึกษาในไทย พบว่าเหตุผลในการเลือกศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ MLC คืออยากเตรียมความพร้อมในอนาคตที่จะกลับประเทศต้นทาง เพื่อจะได้ไม่มีอุปสรรคด้านภาษา เข้าเรียนง่าย และผ่อนปรนอายุของนักเรียน ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้โรงเรียนรัฐของไทยค่อนข้างตายตัว 

“ความหนาแน่นของประชากรข้ามชาติในแต่ละพื้นที่ของไทยไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างศูนย์การเรียน MLC ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก มีเด็กข้ามชาติในโรงเรียนรัฐประมาณ 5 หมื่นคน และ MLC ประมาณ 2 หมื่นคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมาก ในจังหวัดที่โรงเรียนเพียงพอ MLC อาจมีน้อย เพราะโรงเรียนรองรับได้ ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ต้องแก้ไขแบบค่อยเป็นค่อยไป มีการสำรวจศูนย์การเรียนว่ามีอยู่ที่ไหนบ้าง มีเด็กจำนวนเท่าไรเพื่อให้อยู่ในสายตารัฐ ไม่ใช่แค่การจัดการศึกษาเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการดูแลความปลอดภัยของเด็กด้วย ควรมีการพูดคุยสนับสนุนให้ศูนย์การเรียนจดทะเบียนให้ถูกต้องตามระเบียบรัฐ” ดร.รับขวัญ กล่าว 

ขณะที่เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย ออกแถลงการณ์ขอให้ทบทวนการปิดศูนย์การเรียนเด็กต่างชาติ  โดยระบุว่า การสั่งตรวจสอบสถานศึกษาที่มีเด็กเคลื่อนย้ายจากเมียนมาเรียนหนังสือแล้วร้องเพลงชาติจนมีการสั่งปิดศูนย์การเรียน รวมทั้งเตรียมดำเนินการในลักษณะเดียวกันในจังหวัดอื่นตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศธ. และปลัดกระทรวง ศธ. สร้างความสับสนให้กับบุคลากรสถานศึกษาหลายพื้นที่ทั่วประเทศ คำสั่งดังกล่าวยังถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ยุยงปลุกปั่น สร้างความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ และมีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงและความแตกแยกในสังคม 

“ขอแสดงความห่วงใยต่อท่าทีและนโยบายการสั่งปิดศูนย์การเรียนเด็กต่างชาติ เนื่องจากเล็งเห็นว่าอาจส่งผลกระทบทางลบต่อเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผลเสียต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยที่ไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ขอให้รัฐทบทวนนโยบาย” แถลงการณ์ระบุ และมีข้อเสนอด้วยว่า  1.กำหนดมาตรการฉุกเฉินในการเยียวยาและคุ้มครองเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการปิดศูนย์การเรียนเด็กต่างชาติใน จ.สุราษฎร์ธานีและจัดระบบรองรับเด็กอย่างเหมาะสม

2.ทบทวนคำสั่งในการปิดศูนย์การเรียนเด็กต่างชาติในพื้นที่อื่นจนกว่าจะมีนโยบายและแนวทางในการจัดการศึกษาที่ชัดเจน  เหมาะสม และป้องกันการหลุดจากระบบสำหรับเด็กต่างชาติในพื้นที่ 

3.สำรวจศูนย์การเรียนต่างชาติ เร่งดำเนินการจดแจ้ง จัดระบบศูนย์การเรียน พัฒนาศักยภาพและรับรองครู ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเด็กจะได้เข้าถึงสิทธิในการพัฒนาและโอกาสทางการศึกษา โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก 

4.สร้างความตระหนักและความเข้าใจกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ รวมถึงสื่อมวลชนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเคารพสิทธิในการแสดงออกตามขอบเขตที่เหมาะสม ไม่สนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่เนื้อหาหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังหรือนำไปสู่อันตรายของเด็ก 

 ขณะที่สำนักข่าว The Reporters ได้จัดเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “สิทธิการศึกษาเด็กในศูนย์การเรียนแรงงานข้ามชาติ” โดยมีนายรัฐภัทร รัตนาศิริรัตน์ ผู้ให้เช่าศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ จ.สุราษฎร์ธานี ,ปารมี ไวจงเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาชน และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศธ. เป็นวิทยากร 

นายรัฐภัทร กล่าวว่า เดิมทีประกอบกิจการเป็นโรงเรียนเอกชนก่อนจะยุติกิจการในปี 2562 โดยมีกรมการจัดหางานมาเช่าใช้พื้นที่ทำให้ชาวเมียนมาที่เข้ามาในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี จำนวนมากรู้จัก หลังจากเคยให้เช่าสถานที่กับหน่วยงานราชการ ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ครูกับผู้ปกครองชาวเมียนมาได้ติดต่อขอใช้สถานที่เพื่อสอนหนังสือเด็ก

“แรกๆ ยังลังเล แต่ผู้ปกครองชาวเมียนมาพูดว่าให้เช่าที่เถอะ สงสารเด็กตอนนี้ไม่ได้เรียนหนังสือ ไปเรียนตามสวนปาล์ม สวนยาง สอนในกระท่อม ไม่ปลอดภัย ผมยังจำคำพูดนี้ได้ ก็เลยตัดสินใจให้เช่าใช้ วันแรกที่เข้ามามีเด็กเยอะกว่าที่คาดไว้เกือบๆ 200 คน ผ่านไป 2 สัปดาห์จึงปรึกษากันว่าควรแจ้งกับทางราชการ และได้เข้าพบกับหัวหน้าส่วนราชการบางแห่ง เขาก็มีความห่วงใยด้านความมั่นคง บางแห่งก็ยินดีที่เด็กได้เรียนหนังสือ ผมเคยถามสยา (ครูชาวเมียนมา) ว่าก่อนหน้านี้ดูแลเด็กอย่างไร สยาเป็นครูอยู่ที่เมียนมาเข้าไทยมาทำงานเป็นลูกจ้างที่ผู้ปกครองฝากเด็กหลังเลิกเรียนให้สอนหนังสือ โดยใช้ลานดินในสวนปาล์มรกๆ เป็นที่สอน ผมเคยเข้าไปดูแล้วเห็นว่าถ้าฝนตกก็สอนหนังสือกันไม่ได้” นายรัฐภัทร กล่าว  

เจ้าของสถานที่ให้เช่าศูนย์การเรียน กล่าวอีกว่าหลังเข้าพบส่วนราชการก็ดำเนินการกันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีผู้ร้องเรียนซึ่งส่วนราชการก็มีการเชิญประชุมแล้วแนะนำให้จัดตั้งศูนย์การเรียนตามกฎกระทรวง ยื่นขอจัดตั้งกันแล้วและพิจารณาหลักสูตรการเรียนไป แต่แผนการเรียนไม่ผ่านการอนุมัติ ซึ่งทางศูนย์ก็ทำหนังสือส่งไปว่าจะพยายามทำให้ถูกต้อง ระหว่างนี้หลายส่วนราชการก็เข้ามาตรวจเยี่ยม บางหน่วยงานเข้ามาฉีดวัคซีน พ่นยากำจัดยุงลาย ดังนั้นศูนย์นี้อยู่ในหูในตาส่วนราชกาและชาวบ้าน จ.สุราษฎร์ธานี มาโดยตลอด 

“ครั้งล่าสุดเรายื่นหนังสือขอจัดตั้งศูนย์การเรียน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา ยื่นขอจัดตั้งชื่อศูนย์การเรียนเมตตาธรรม แต่ถูกปฏิเสธไม่รับเอกสารอ้างเหตุว่ายังไม่อยู่ในช่วงพิจารณาเอกสาร หากเอกสารหายไม่รับผิดชอบแล้วก็เกิดเหตุคลิปหลุดขึ้น จนนำมาสู่การปิดศูนย์การเรียน ผมในฐานะเป็นผู้ให้เช่าสถานที่ไม่ได้จัดตั้งกับเขา แต่รับรู้มาโดยตลอด ขอยืนยันต่อประเทศไทยว่าศูนย์การเรียนแห่งนี้ไม่ได้ลักลอบเปิด และไม่เคยมีคำสั่งปิดมาก่อน ไม่เคยปิดมาอีก 10 ครั้งอย่างที่ถูกกล่าวหา ยังคงเปิดมาโดยตลอด”นายรัฐภัทร กล่าว

นอกจากนี้ นายรัฐภัทร ยังกล่าวด้วยว่า ตลอด 2 ปีที่เปิดศูนย์การเรียน ครูผู้สอนชาวเมียนมาติดต่อขอเช่าห้องเพิ่มเนื่องจากมีเด็กมากขึ้น โดยเป็นเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ในฐานะเจ้าของสถานที่ ตรงนี้เคยเป็นโรงเรียนมาก่อน ไม่อยากให้สถานที่แห่งนี้ถูกเช่าไปใช้ในกิจการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อเด็ก ตนคุยกับสยาตั้งวันแรกที่ให้เช่าแล้วว่าให้ใช้เพื่อเด็กเท่านั้น อันนี้ชัดเจน 

ส่วนกรณีคลิปการร้องเพลงชาติของเด็กๆที่เป็นกระแสดราม่าในโซเชียล นายรัฐภัทร กล่าวว่า กิจกรรมช่วงเช้าในศูนย์การเรียนมีทั้งร้องเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี นั่งสมาธิ 20 นาที ซึ่งครูเป็นผู้ถ่ายคลิปลง TikTok ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และสื่อเมียนมาก็นำไปเผยแพร่ แล้วสื่อไทยบางสำนักนำไปตัดต่อคลิปเหลือช่วงเดียว จนเป็นปรากฏการณ์ขณะนี้

“ผมในฐานะเจ้าของสถานที่ไม่ทราบว่าเขาร้องเพลงชาติเมียนมา ต้องขอโทษคนไทยบางส่วนที่ไม่พอใจเหตุที่เกิดขึ้น ถามว่าผมเห็นด้วยไหม มันคือการผสมผสานทางวัฒนธรรม เด็กๆ ก็มีสิทธิระลึกถึงชาติของเขา เหตุใดเราจึงรักประเทศไทย คำตอบคือเพราะการศึกษา ถ้าบรรพบุรุษผมวันนั้นไม่ได้รับโอกาสด้านการศึกษาวันนี้ผมคงไม่ได้มานั่งตรงนี้ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทำไมเราไม่ให้การศึกษากับเด็กๆ เหล่านี้เพื่อเขาจะได้ไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มาพัฒนาประเทศ ถ้าเราเอาเพลงชาติมาเป็นมูลเหตุก็คงเหมือนการล่าแม่มดไปเรื่อยๆ เขารักประเทศไทย เขารักคนไทย ผมกล้ายืนยัน” นายรัฐภัทร กล่าว 

ด้าน ปารมี ไวจงเจริญ หรือ ครูจวง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาชน กล่าวว่าเด็กที่เรียนในศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย และศูนย์การเรียนแห่งนี้พยายามยื่นเรื่องให้ถูกต้องแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐ จนเกิดเหตุบานปลายมาถึงวันนี้

“มองแบบชาวพุทธ เราต้องมีเมตตาธรรม เด็กตาดำๆ คุณจะผลักไสไล่ส่งเขาไปไหน จะจับเขาขังคุกหรือ คุกจะพอไหมเด็กเป็นพันคน แล้วตอนนี้เขาเคว้งคว้างมาก สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายในหลายรูปแบบ” ปารมี กล่าว และว่าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐไทยเพิ่งขอถอนข้อสงวนตามมาตรา 22 ของอนุสัญญาสิทธิเด็กเพราะกำลังจะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ แล้วเมื่อเกิดเรื่องนี้จะไปแถลงหลักการต่อนานาชาติให้เขาสนับสนุนได้อย่างไร

ในขณะที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศธ. กล่าวว่า เหตุดังกล่าวเกิดจากมีผู้ร้องเรียนว่าศูนย์การเรียนยังไม่มีใบอนุญาต จึงต้องดำเนินการตามที่มีผู้ร้อง โดยเริ่มมีเรื่องมีราวตั้งแต่ปี 2562 ตั้งแต่มีนักเรียนหลักร้อย จนตอนนี้เป็นพันคน มีการยื่นเรื่องเข้ามาหลายครั้ง จึงได้ขอข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงว่าทางศูนย์การเรียนขอจัดตั้งตามมาตราไหน ซึ่งน่าจะตามมาตรา 12 ระบบกฎหมายที่มีอยู่เดิมที่จะได้รับการอนุมัติก็ไม่ได้สะดวก เนื่องจากเป็นการจัดการเรียนการสอนกึ่งๆตามอัธยาศัย ไม่ได้อยากเรียนในระบบ โดยให้ สพฐ.เป็นผู้อนุมัติซึ่งก็ไปยึดโยงกับหลักสูตรแกนกลาง

“คือเอาคนในระบบไปอนุมัติคนนอกระบบมันจะถูกหรือไม่ ที่ดูแล้วศูนย์ยื่นเข้ามาก็ไม่ได้ เช่นวิชาประวัติศาสตร์ ที่อาจจะต้องเรียนซึ่งยึดกับหลักสูตรไทย ขอกี่ทีคุณก็ไม่ได้เพราะเขาเรียนหลักสูตรพม่า เขาเรียนเพื่อเอาไปสอบเทียบ ดังนั้นก็ต้องไปขอตามมาตราอื่น เช่น ขอเป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบ แต่ก็จะมีติดเรื่องวีซ่าคือถ้าเป็นศูนย์การเรียนวีซ่าจะขอได้ 1 ปี แต่ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบ วีซ่าจะได้ 90 วัน การไปขอต่อวีซ่าก็จะมีความยุ่งยาก” นายสิริพงศ์ กล่าว

ผู้ช่วยรัฐมนตรี ศธ.กล่าวว่า อีกทางเลือกหนึ่งคือไปขอเป็นโรงเรียนนานาชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้หลักสูตรไทย สอนวิชาอื่นๆเหมือนกันแต่เป็นภาษาพม่า ทาง ศธ.ก็คำนึงเรื่องสิทธิแต่ก็ถือฐานของรัฐ การเคารพธงชาติอื่นบนผืนแผ่นดินไทยเหมาะสมไหม ก็ต้องมาคุยกัน ถ้าเรื่องการเรียนเราเห็นตรงกันว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรได้เรียน

“ผมคิดว่าที่ผ่านมาก็ดำเนินการอย่างอะลุ่มอล่วยคือถ้าไม่มีคนร้อง แล้วตอนนี้มันมีเหตุในเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ก็ขอเวลาให้กระทรวงนิดนึง สิทธิของเด็กก็ควรได้ แต่เรื่องความมั่นคงเราก็ต้องดูแลด้วย ต้องหาทางออกที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย จะต้องทำให้สถานศึกษาเข้าระบบทั้งหมด กระทรวงไม่ได้มาจับผิดแต่ทางศูนย์การเรียนถูกร้องมาหลายครั้ง” ผู้ช่วย รมว.ศธ.กล่าว 

 ————- 

On Key

Related Posts