สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

Search

น้ำโขงอีสานเพิ่มสูงสุดในรอบ 15 ปี ชาวบ้านผลัดกันเฝ้าระวัง ผู้เชี่ยวชาญเตือนมวลน้ำกำลังมาอีกระลอกใหญ่ เผยเขื่อนกั้นลำน้ำสาขาในลาวเต็ม 100% “ครูตี๋”แนะรัฐเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการน้ำใหม่

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 นายประยูร แสนแอ สมาชิกกลุ่มประมงเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำโขงว่า ระดับแม่น้ำโขงได้เพิ่มสูงขึ้นมากในรอบกว่า 15 ปี ซึ่งหนักกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2551 โดยในตัวเมืองเชียงคาน ปริมาณน้ำโขงได้เอ่อท่วมทางเดินเลียบแม่น้ำโขงส่วนหนึ่งแล้ว ทางกลุ่มประมงได้ช่วยกันเฝ้าระวังระดับน้ำอยู่ทั้งวัน ต้องดูแลการผูกแพของกลุ่มประมงตลอดเวลา เวลานี้น้ำโขงได้หนุนเข้าลำน้ำฮวย ใน อ.เชียงคาน และน้ำได้เอ่อท่วมพื้นที่ไร่นาของชาวบ้าน

นางพรพิมล จันทร์หอม แกนนำสตรีกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำโขง บ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย กล่าวว่า ระดับน้ำโขงตอนนี้สูงมาก หากสูงขึ้นอีกครึ่งเมตรก็ก็อาจะเอ่อท่วมเข้าไปยังบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ ขณะนี้น้ำโขงเริ่มทะลักเข้าสู่ร่องระบายน้ำและเริ่มไหลเข้าสู่ที่ต่ำและลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านแล้ว ชาวบ้านมีความกังวลมากและพากันไปขอดินจาก อบต.เพื่อช่วยกันทำกระสอบดินกั้นน้ำไว้ไม่ให้น้ำโขงไหลเข้ามาท่วมบ้าน ซึ่งมีทั้งน้ำห้วยตาดและน้ำโขงดันเข้ามา

“ตอนนี้ได้รับการแจ้งทางเครือข่ายน้ำโขงว่าปริมาณน้ำอาจจะเพิ่มขึ้นมาก ให้เตรียมยกข้าวของขึ้นที่สูงไว้ เครือข่ายชาวบ้านก็ได้ช่วยกันแจ้งเตือน ส่งรายงานระดับน้ำกันทุกชั่วโมง” นางพรพิมลกล่าว

นายสมาน แก้วพวง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย กล่าวว่าขณะนี้มีฝนตกในพื้นที่ซึ่งคาดว่าฝนจะตกทั้งวัน แม่น้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นสูงมากตั้งแต่เมื่อวานนี้ (13 กย. 2567) ปริมาณน้ำโขงเริ่มท่วมและล้นตลิ่งแล้ว น้ำท่วมมาถึงศูนย์ของกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขงบ้านม่วงที่อยู่ติดกับวัดบ้านม่วงแล้ว ในหลายหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงพบว่าน้ำได้ล้นเขื่อนกันตลิ่งริมแม่น้ำโขงแล้ว

“ในบ้านม่วง มีบ้านที่ได้รับผลกระทบหนักแล้ว 7-8 หลังคาเรือน เพราะตัวบ้านตั้งอยู่ระดับต่ำ ชาวบ้านได้อพยพออกไปอยู่บ้านญาติแล้ว” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าว

นายมนตรี จันทะวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง กลุ่ม The Mekong Butterfly กล่าวว่าระดับน้ำโขงได้ล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ชุมชนและเขตเมืองที่ติดแม่น้ำโขงตั้งแต่ อ.เชียงคาน, อ.ปากชม, อ.สังคม, อ.ศรีเชียงใหม่, อ.ท่าบ่อ และอ.เมืองหนองคาย และมวลน้ำกำลังเคลื่อนที่ต่อเนื่องไปยัง เขต อ.โพนพิสัย และ จ.บึงกาฬ ต่อไป

“ปริมาณน้ำโขงมหาศาลกำลังจะท่วมล้นตลิ่งในไม่กี่วันข้างหน้า และในบางพื้นที่ก็ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำไปบ้างแล้ว ปัจจัยที่จะส่งผลให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้น นอกเหนือปริมาณฝนที่ตกในภาคอีสานและภาคกลางของลาวแล้ว
เขื่อนตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ เท่าที่มีข้อมูล ได้แก่ เขื่อนน้ำงึม 1, เขื่อนน้ำซอง, เขื่อนน้ำมาง 3 และเขื่อนน้ำลึก ต่างมีระดับเก็บกัก ณ วันที่ 13 กันยายน เกิน 100% ไปแล้ว รวมทั้งเขื่อนอีกกลุ่มที่อยู่ตอนล่างคือ เขื่อนน้ำเทิน 1, เขื่อนเทินหินบูน และเขื่อนน้ำเทิน 2 ต่างมีระดับเก็บกักที่สูงเช่นกัน และยังจะมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 17 กันยายนนี้ ดังนั้น การระบายลงลำน้ำสาขาสู่แม่น้ำโขง จะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นตั้งแต่ อ.โพนพิสัย ลงมาจนถึง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี”นายมนตรี กล่าว

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่าอุทกภัยลุ่มน้ำโขงตอนบนและแม่น้ำสาขาที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคมจนถึงต้นเดือนกันยายน 2567 เป็นปรากฎการณ์ที่บ่งบอกถึงความรุนแรงที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ภายใต้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ หากนโยบายการพัฒนาและการจัดการลุ่มน้ำโขงยังคิดเหมือนเดิมและทำแบบเดิม โดยไม่ให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ แต่กลับสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำตลอดสาย เช่น เขื่อน ฝาย สิ่งก่อสร้าง อาคารที่อยู่อาศัย ถนนหนทางที่ขวางทางน้ำ ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ การเกษตรเชิงเดี่ยวที่ทำลายหน้าดิน การบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำที่เคยเป็นแหล่งรับน้ำ การหายไปของพื้นที่สีเขียวริมตลิ่่ง ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะหนุนเสริมให้เกิดผลกระทบจากอุทกภัยในลุ่มน้ำโขงรุนแรงขึ้นอีก

ครูตี๋กล่าวว่า การพัฒนาลุ่มน้ำที่ผ่านมา มีทั้งการขุดลอกลำน้ำ การสร้างเขื่อน สร้างฝายจำนวนมากตลอดลำน้ำ สิ่งเหล่านี้ต้องทบทวนและมีการศึกษาปัญหา การแก้ไขปัญหาต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ รวมทั้งแม่น้ำสายประธาน คือแม่น้ำโขงทั้งตอนบน ตอนล่าง ที่กำลังสร้างผลกระทบอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะโครงการเขื่อนปากแบง ที่กำลังจะสร้างกั้นแม่น้ำโขง ห่างจากชายแดนไทย (อ.เวียงแก่น) เข้าไปในลาว 97 กิโลเมตร หากสร้างเสร็จเขื่อนปากแบงจะขวางลำน้ำโขงและจะเกิดการเท้อกลับของแม่น้ำโขงเข้ามายังเขตไทย เกิดปัญหาผลกระทบเรื่องเขตแดนอธิปไตย สร้างความเสียหายกับระบบนิเวศ เศรษฐกิจของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง พื้นที่การเกษตร และที่อยู่อาศัย ในลุ่มน้ำสาขา เช่นน้ำงาว แม่น้ำอิง แม่น้ำกก พื้นที่บางส่วนจะถูกน้ำท่วมตลอดไป

“เหตุการณ์น้ำโขงหลากท่วมครั้งนี้หากเกิดอีกในอนาคต หากมีเขื่อนปากแบ่งกั้นน้ำโขงอยู่ตอนล่าง มีเขื่อนจิงหง และ12 เขื่อนจีนตอนบน วิกฤตอุทกภัยที่ จ.เชียงราย จะหนักขึ้นอีกกี่เท่า การระบายน้ำลงแม่น้ำโขงของแม่น้ำสาขาจะช้ามาก และเป็นปัญหาน้ำท่วมขังยาวนาน เพิ่มความเสียหายมากขึ้นกว่านี้” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าว

On Key

Related Posts