เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2567 สำนักข่าว The Reporters ร่วมกับสำนักข่าวชายขอบได้จัดเสวนาออนไลน์ “จากเหนือสู่อีสาน ภัยพิบัติของคนลุ่มน้ำโขง ประเมินสถานการณ์น้ำโขงจากเชียงราย-หนองคายและภาคอีสาน จะรับมือกันอย่างไร” โดยมีวิทยากรได้แก่ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย นายชาญณรงค์ วงลา กลุ่มประมงพื้นบ้าน อ.เชียงคาน และนายมนตรี จันทวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ดำเนินรายการโดย นส.ฐปณีย์ เอียดศรีชัย
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าวว่าเมื่อกลางเดือนและปลายเดือนสิงหาคมแม่น้ำโขงได้ท่วมสูงแล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้ท่วมสูงที่สุด รอบแรกเป็นเพราะปริมาณน้ำฝน แต่ครั้งที่สองพบว่ามีการระบายน้ำเพิ่มจากเขือนจิงหงในจีน ทำให้วิกฤตยิ่งขึ้น ปีนี้ฝนตกเยอะมากซึ่งในอดีตก็เคยท่วมเมื่อปี 2551 แต่น้ำท่วมครั้งนี้เห็นชัดว่าการไหลของน้ำไม่เหมือนเดิมแล้ว น้ำอิงท่วมมาเป็นเดือนยังระบายออกไม่ได้ เพราะน้ำโขงขึ้นสูง ทำให้น้ำตามลำน้ำสาขาไหลออกไม่ได้ และหากมีโครงการเขื่อนปากแบงสร้างกั้นแม่น้ำโขงอีก ปัญหาจะยิ่งรุนแรง
ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ สถานการณ์ครั้งนี้น้ำน่าจะลดช้า มีปัจจัยอื่นๆ คือน้ำจากตอนบน น้ำที่ระบายมาเป็นปริมาณมากจากลำน้ำสาขา อยากให้เห็นว่าการแก้ปัญหานี้ต้องบูรณาการการจัดการกับเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน (ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน) เช่น เวลานี้น้ำเยอะมากเขื่อนตอนบนควรลดการระบายน้ำ ไม่ใช่ว่าใช้งานเขื่อนตามปกติตามตาราง
“เรื่องนี้ต้องคุยกันไม่เช่นนั้นก็จะเดือดร้อน การจัดการน้ำลุ่มน้ำโขงต้องเชื่อมร้อยระหว่างประเทศ ทั้งเขื่อนในลาว เขื่อนในไทยด้วย มีเหตุการณ์น้ำท่วมแบบนี้คุณจะช่วยอย่างไร ก็ต้องลดการระบายน้ำ การบูรณาการข้อมูลเขื่อนจิงหงกับข้างล่าง และกับทางอีสาน นี่ยังไม่เห็นว่ามีการบูรณาการเลย คุณรู้ว่าฝนจะมาก็จัดการพร่องน้ำเขื่อนก่อน ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ และเห็นว่าตอนนี้เรื่องข้อมูลแย่ที่สุด สี่ประเทศลุ่มน้ำโขงเผชิญอิทธิพลพายุยางิร่วมกัน แต่การจัดการข้อมูลเป็นอย่างไร” นายนิวัฒน์ กล่าว
นายชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มประมงพื้นบ้านเชียงคาน กล่าวว่าขณะนี้น้ำโขงไหลขึ้นท่วมริมโขงแต่ไม่ถึงชุมชน เห็นการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยก็คือ เราไม่มีข้อมูล สำคัญที่สุด ไม่รู้จะโทษใครได้ เพราะปัญหาเกิดแต่รัฐบาลไม่ขยับเลย ประชาชนเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูล เรารู้อยู่แล้วน้ำจะมาอีกเยอะก็ควรจะมีแผนรองรับ แผน 1 แผน 2 ชาวบ้านที่ จ.เลย อยากรู้ข้อมูลน้ำเขื่อนไซยะบุรี และข้อมูลลำน้ำสาขาที่ลาว เช่น แม่น้ำอู แม่น้ำทา เพื่อที่จะบริหารจัดการได้ ในอนาคตหากมีแบบนี้เกิดอีกก็จะเสียหายมาก
นายมนตรี กล่าวว่านครหลวงพระบางเมื่อวันที่ 13 กันยายน ระดับน้ำโขงสูงที่สุดพร้อมๆ กับที่ อ.เชียงของ เนื่องจาก บริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ระบุว่าปริมาณน้ำระบายจากเขื่อนประมาณ 23,000 ลบม./วินาที แต่แม่น้ำโขง ที่ อ.เชียงคาน รับน้ำได้เพียง 19,000 ลบม. คือน้ำจะต้องล้นตลิ่งแน่นอน รู้ล่วงหน้าแล้ว แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่แจ้งเตือนกลับไม่บอกว่าน้ำจะมาถึงเมื่อไหร่
นายมนตรีกล่าวว่า ข้อมูลบอกว่าน้ำโขงที่สถานีเชียงคานล้นตลิ่งที่ 16 เมตร แต่หมายถึงแม่น้ำโขงที่จุดบรรจบแม่น้ำเหือง ไปถึง อ.ปากชม ซึ่งตลิ่งแม่น้ำโขงไม่ได้สูงเหมือนกันทั้งหมด มีพื้นที่ลุ่มต่ำ หากน้ำมามากจะได้รับผลกระทบก่อน เช่นเดียวกับสถานีวัดน้ำหนองคาย กินพื้นที่ยาวกว่าร้อย กม. ตลิ่งมีความสูงต่างกันไม่ใช่ 12 เมตรทั้งหมด เวลานี้น้ำมวลใหญ่มาถึง จ.หนองคาย วันนี้ระดับสูงสุด จะค่อยๆ ลดระดับลง แต่ยังมีเงื่อนไขเขื่อนลาวตามลำน้ำสาขาข่างๆ น้ำมาง 3 น้ำงึม ฯลฯ หากระบายลงมามากก็จะทำให้น้ำโขงที่หนองคายลดลงช้า บอกไม่ได้ว่ากี่วัน เป็นเงื่อนไขจากการระบายน้ำเขื่อนลาวด้วย เหมือนเมื่อปี 2561 ที่เขื่อนน้ำงึมระบายน้ำมามาก
นายมนตรีกล่าวว่า หวังว่าปีนี้เขื่อนในลาวจะไม่ระบายลงมามากจนน้ำโขงระบายไม่ได้ มวลน้ำน่าจะไปถึงมุกดาหาร และโขงเจียมในอี 4-5 วัน ฝนที่ตกเป็นบริเวณทั่ว ข้อมูลเขื่อนในลาว การระบายน้ำ ข้อมูลเหล่านี้หายาก รวมทั้งข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี มีสถานีวัดน้ำท้ายเขื่อน เว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ก็เสียมานาน 3 เดือนเพิ่งใช้ได้ และวันนี้ข้อมูลจากเว็บก็ล่มอีก ดูข้อมูลไม่ได้ การเข้าถึงข้อมูลยากพอสมควรโดยเฉพาะข้อมูลย้อนหลัง
“ชุดข้อมูลระดับน้ำแม่น้ำโขง สถานีลุ่มน้ำหลัก รวบรวมโดย MRC และส่งให้หน่วยงานในประเทศ ของไทยคือกรมทรัพยากรน้ำ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นข้อมูลในไฟล์ excel ธรรมดา หากเราขอจะต้องจ่ายค่าพิมพ์ ข้อมูลเหล่านี้ควรเปิดให้ประชาชนเข้าไป download มาได้ ข้อมูลกลับไม่เป็นสาธารณะ สำหรับการแก้ปัญหาลุ่มน้ำโขง การใช้กรอบรัฐเข้ามาจัดการไม่ได้แล้ว กรณีแม่น้ำกก ต้นน้ำอยู่ในรัฐฉาน จะมีสถานีวัดน้ำแค่ที่ชายแดนไทยคือไม่ทันแล้ว ต้องมีระบบตั้งสถานีวัดน้ำฝนและระดับน้ำ ที่ต้นแม่น้ำกก ในพม่า ทราบว่ามีความพยายามแต่ยังไม่สำเร็จ กรณีลาวมีน้ำมหาศาลจะลงมา เราต้องทราบปริมาณน้ำและฝน เพื่อให้เตรียมการ แต่เมื่อเป็นรัฐทำให้ข้อมูลไม่ครบ ไทยก็ดูได้เฉพาะในไทยเท่านั้น หากรัฐบาลต้องการจริงจังทำความร่วมมือทวิภาคี ไทยลาว เพื่อแชร์ข้อมูลกันไทยลาว ให้การแจ้งเตือนภัยพิบัติร่วมกัน เป็นประโยชน์ของประชาชนทั้งไทยลาว” นายมนตรีกล่าว
นส.ฐปณีย์ถามว่า ในวันที่ 16 กันยายน จะมีการประชุมตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งด่วนตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการเอง อยากฝากอะไรถึงนายกฯบ้าง
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องน้ำโขงเป็นประเด็นที่มีอิทธิพลหลายด้าน รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ประชาชนพูดมาตลอดหลายปีว่า 12 เขื่อนตอนบนในจีนได้สร้างหายนะมาโดยตลอด การจัดการน้ำโขงไม่ใช่แค่ในประเทศ จะมาคิดโครงการสร้างฝายสร้างเขื่อนนั้นแก้ปัญหาไม่ได้
“นายกฯ เป็นคนรุ่นใหม่ จะมาขุดลอก สร้างฝายเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว รัฐบาลต้องคิดมากกว่านี้ ทั้งป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟู เรื่องทั้งหมดนี้ต้องว่ากันใหม่หมด”ครูตี๋ กล่าว
นายมนตรี กล่าวว่าสิ่งที่อยากฝากไปถึงนายกฯคือ ที่จะทำให้ภัยพิบัติรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคตคือโครงการเขื่อนปากแบง รัฐบาลจำเป็นต้อทบทวนการสร้างเขื่อนปากแบง เพราะจะทำให้น้ำโขงเท้อมาถึง อ.เชียงของ ระดับน้ำจะสูงขึ้น แล้วเมื่อมีน้ำจากสาขาและจากน้ำโขงตอนบนลงมาก็จะหนักมากขึ้น ปีนี้น้ำโขงที่ อ.เชียงของ สูงมากกว่า 12 เมตร หากมีเขื่อนปากแบงกั้นไว้การระบายน้ำจะช้าลงอีก
“ประชาชนได้ทำจดหมายถึงรัฐบาล ขอให้มีการจัดทำแบบจำลองว่าหากน้ำมาทุกทาง สถานการณ์น้ำท่วมจะรุนแรงขนาดไหน การศึกษาเหล่านี้ยังไม่มีเลย แต่จะสร้างเขื่อนปากแบง จำเป็นต้องดูให้ชัด หากเริ่มก่อสร้างแล้วถอยหลังไม่ได้ อยากให้ทบทวนเขื่อนปากแบงโดยด่วน” นายมนตรีกล่าว
นายชาญณรงค์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากคือปัญหาจากเขื่อนในลาว เกี่ยวกับความต้องการพลังงานไฟฟ้าของไทย นายกคนรุ่นใหม่ต้องทบทวนแผนพลังงานไฟฟ้าของประเทศทันที
ทั้งนี้ในวันที่ 16 ก.ย. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมทุกหน่วยงานเพื่อเตรียมรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ 1.การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และ 2. คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม และจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและบริหารสถานการณ์ โดยมีองค์ประกอบ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ คณะกรรมการ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการนายกรัฐมนตรีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (นายชยันต์ เมืองสง) ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ขณะที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรรมการและเลขานุการ และรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ