สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ว่า พบร่างของผู้เสียชีวิต 60 คน และยังมีผู้สูญหายอีก 100 คน ใกล้กับเหมืองทอง ‘โมตี โมมิต’ ในเมืองยะเมติ่น ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งได้รับผลกระทบหนักจากเหตุอุทกภัยในเขตมัณฑะเลย์
ชาวบ้านระบุว่า ยังไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาช่วยเหลือ โดยต้องพึ่งพาอาศัยกันเอง และมีแค่หน่วยงานกู้ภัยทุกข์ท้องถิ่นเท่านั้นที่มาช่วยเหลือ ขณะที่ความช่วยเหลือและการเข้าถึงพื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากมีดินถล่มขวางเส้นทาง
ด้านกลุ่มผู้สนับสนุนกองทัพพม่าออกมาเผยแพร่ข้อมูลบนแอพพลิเคชั่นTelegram ว่า พบร่างของผู้เสียชีวิตนับร้อยคน และยังมีผู้สูญหายอีก 700 คน จากเหตุโคลนถล่ม ใกล้กับเหมืองทอง ‘โมตี โมมิต’ ในเมืองยะเมติ่น ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งได้รับผลกระทบหนักจากเหตุอุทกภัยในเขตมัณฑะเลย์
ทั้งนี้ทางการพม่าอ้างว่า เหตุอุทกภัยในพม่าทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบแล้วราว 300,000 คนแล้ว จนถึงขณะนี้ ยังไร้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือ โดยชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า หลังเกิดเหตุอุทกภัย หน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ให้การช่วยเหลือชาวบ้านทันท่วงที ทำให้ชาวบ้านที่ติดค้างในพื้นที่น้ำท่วมไม่มีอาหาร ไม่ได้ความช่วยเหลือด้านยารักษาโรค รวมทั้งไม่ได้รับการช่วยเหลือให้เคลื่อนย้ายไปยังศูนย์พักพิงที่ปลอดภัย
ขณะที่หน่วยงานกู้ภัยในพื้นที่ระบุว่า มีหมู่บ้านในเมืองยะเมติ่นพบผู้สูญหายหมู่บ้านละไม่ต่ำกว่า 30 – 50 ราย ดังนั้น ผู้สูญหายจนถึงขณะนี้น่าจะมีมากกว่า 100 คน โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยเผยว่า ทางกลุ่มนั้นขาดแคลนเรือ เสื้อชูชีพและเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเมืองเนปีดอว์นั้น กระทรวงข่าวสารของพม่าได้รายงานว่า ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 100,000 ไร่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ นอกจากพื้นที่ทางตอนกลางของประเทศ รัฐฉานก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดจากพายุ ‘ยางิ’ ล่าสุด เหตุพื้นที่น้ำท่วมยังขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น ที่ทะเลสาบอินเล สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังตั้งอยู่ทางใต้ของรัฐฉาน ระดับน้ำสูงขึ้นถึงชั้นสองของตัวบ้าน และในบางพื้นที่บ้านเรือนของชาวบ้านจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด
ผู้สูงอายุในพื้นที่กล่าวว่า เหตุน้ำท่วมครั้งนี้ รุนแรงที่สุดที่พวกเขาเคยพบเห็น โดยไร่มะเขือเทศของชาวบ้านที่ปลูกในสวนลอยน้ำในทะเลสาบอินเลก็ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากจากระดับน้ำที่สูงขึ้น
สำนักข่าว SHAN รายงานว่า ในหลายพื้นที่ของรัฐฉานเช่นที่เมืองท่าขี้เหล็ก เมืองโต๋น ยังไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาเคลียร์พื้นที่หลังน้ำลด รวมไปถึงหน่วยงานอย่างการไฟฟ้าของทางการพม่าที่ยังไม่ได้เข้ามาซ่อมแซมเสาไฟฟ้าที่หักโค่น ซึ่งทำให้ขณะนี้ทำให้เมืองท่าขี้เหล็กและหลายเมืองในรัฐฉานยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้และไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ชาวเมืองโต๋นรายหนึ่งกล่าวว่า หากมีธุระเร่งด่วน ชาวบ้านในพื้นที่ต้องไปยังชายแดน เพื่อใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากฝั่งไทยในการติดต่อสื่อสาร จนถึงขณะนี้ มีเหตุอุทกภัยเกิดขึ้นใน 40 เมืองทั่วพม่า
ภาพจาก Eleven Media