สืบสกุล กิจนุกร
นักวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
1.ต้นน้ำที่เราไม่รู้จัก (unknown watershed) เพราะต้นน้ำกกและต้นน้ำแม่สายอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน รัฐฉานประเทศเมียนมา ภาครัฐจึงไม่มีข้อมูลเรื่องฝนตกและปริมาณน้ำ มวลน้ำ การเดินทางของน้ำ เนื่องจากภาครัฐติดกับดักเขตแดนของรัฐชาติ จึงรู้เพียงแค่แม่น้ำกกและสายเมื่อเข้าเขตแดนไทยเท่านั้น จึงทำให้ทุกอย่างสายเกินไป
2. แม่น้ำเป็นพรมแดนชีวกายภาพ (biophysical boundary) มีพรมแดนเป็นของตัวเอง มีกระบวนการยืด หด ขยาย ทำลาย สร้างพรมแดนของตัวเอง อีกทั้งแม่น้ำยังตัดพรมแดนอื่นๆ ทั้งหมด ได้แก่ พรมแดนการเมือง (รัฐชาติ) พรมแดนสังคมวัฒนธรรม (ผู้คน) และพรมแดนเศรษฐกิจ
3. น้ำท่วมมีชีวิตเป็นของตัวเอง คุณลักษณะสำคัญของน้ำท่วมรอบนี้คือ ไหลบ่าไปทุกที่ ทุกทิศทาง หลากล้นเวลาใดก็ได้ พลังทำลายล้างสูง กวาดไปทั้งชีวิต ข้าวของ ผู้คน
4. ระบบเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้าอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนไม่ได้รับคำเตือนล่าวงหน้าอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือประชาชนไม่รู้เลยว่าหน่วยงานใดที่ต้องรับหน้าที่เตือนภัย ประชาชนต้องควานหาข้อมูลเรื่องน้ำท่วม ปริมาณน้ำและคาดการณ์กันเอาเองว่าน้ำจะท่วมถึงบ้านของตัวเองหรือไม่ โดยติดตามจาก socail media ที่ประชาชนช่วยกันถ่ายทอดสดและส่งต่อข้อมูล บวกกับการดูด้วนตาของตัวเองว่าน้ำจะมาถึงบ้านแล้ว
5. การพัฒนาเมืองให้กลายเป็นกำแพงกั้นแม่น้ำ เราเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อสร้างเมืองที่ขยายออกไปรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ถนน สนามบิน ห้างค้าปลีก ค้าส่ง บ้านจัดสรร สนามฟุตบอล และอื่นๆ อีกมากมายสร้างบนพื้นที่รับน้ำ และยกตัวด้วยการถามที่ดินสูงจนเป็นกำแพงกั้นทางเดินน้ำ สุดท้ายเราจึงจมน้ำไปทุกที่ทุกทาง
6. เมืองเปราะบางมาก พิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐานของเมืองล่มในทันทีที่น้ำท่วม โดยเฉพาะน้ำประปาและการจัดเก็บขยะ ประชาชนจึงขาดแคลนน้ำใช้ ไม่มีน้ำล้างบ้าน กองขยะเต็มถนนหนทาง
7. แผนการจัดการภัยพิบัติระดับจังหวัด ว่ากันว่ามีและดีมาก แต่เราไม่รู้ ไม่เห็นว่าแผนนี้ได้ถูกนำมาใช้หรือไม่อย่างไร
8. ภาครัฐยังคงทำงาานแบบแข็งทื่อ อุ้ยอ้าย และไม่ประสานงานกันในการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย เพราะยึดติดตามอำนาจหน้าที่ ยกส่วน เน้นการตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน ใช้เวลาไปกับการประชุม สั่งการ ทำให้ไม่มีความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ใช้เวลานานกว่าจะมีการให้ความช่วยเหลือ ในขณะที่ความเดือดร้อนของประชายนรอไม่ได้ ต้องทำทันที
9. ภาคประชาสังคมมีบทบาทซึ่งจัดองค์กรแบบ fast และ flexible มีบทบาทสำคัญในปัญหาน้ำท่วม ตั้งแต่การเตือนล่วงหน้า การเร่งช่วยในภาวะวิกฤต การช่วยฟื้นฟูหลังน้ำท่วม
10. soocial media โดยเฉพาะ facebook และสื่อท้องถิ่น เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของประชาชนในการเตรีนมตัวรับน้ำท่วม กระจายข่าว ส่งต่อความช่วยเหลือ
11. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างแข็งขันในทุกที่ที่มีน้ำท่วม แต่ยังขาดแคลนอุปกรณ์และทรัพยากรอื่นๆ ที่จำเป็น รวมถึงยังขาดการทำงานข้ามเขตการปกครองไปช่วยเหลือ อปท.อื่นๆ ที่ข้างเคียงหรือห่างไกลออกไป
12. การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมีความเข้มแข็งมากในสังคมไทย หากไม่มีจุดแจกข้าวกล่องจากกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันช่วยเหยื่อน้ำท่วม เราคงบอบช้ำมากกว่านี้ ความเข้มแข็งนี้สะท้อนว่าประเทศไทยยังคงมีทุนทางสังคมสูง (ความเชื่อว่าต้องช่วยคนอื่น เครือข่าย ความไว้เนื้อเชื่อใจ) แต่เราต้องเพิ่มมิติสิทธิมนุษยชนเข้าไปด้วย เพราะเหยื่อน้ำท่วมก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ
13. แรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเมือง พวกเขาเป็นเหยื่อน้ำท่วมเช่นเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มีความกระตือรือร้นเป็นอาสาสมัครล้างบ้านด้วย
14 climate change and anthropocene มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้
ข้อเสนอแนะ
1.24 hours big cleaning chiang rai city เราต้องทำงานเป็นกะ 24 ชั่วโมง กะเช้าตักเอาโคลนออกจากถนนและซอย กะกลางวันรถน้ำล้างบ้าน กะกลางคืนรถขนขยะ ถ้าทำแบบนี้เราจะล้างบ้านได้เสร็จเร็วขึ้น เงื่อนไขสำคัญคือต้องมีเทศบาลและหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือด้วย
2. ติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าในแม่น้ำทั้งหมดทั่วประเทศ และต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจนในการแจ้งข่าวประชาชน
3. ทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องข้อมูลต้นน้ำ รวมถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินด้วย
4. ต้องมีการซักซ้อมแผนภัยพิบัติน้ำท่วมของภาครัฐทุกปีและต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในแผนด้วย และต้องทำแผนตลอดทั้งลุ่มน้ำ
5. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้ง
6 ทบทวนวิธีคิดในการวางผังเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงพรมแดนแม่น้ำและชีวิตน้ำท่วม