เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567 ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงของ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นกรณีผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนปากแบง โดยมีนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธาน กมธ. เป็นประธาน โดยมีนายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอเชียงของ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้นำชุมชน ผู้แทนองค์กรภาคประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมประมาณ 50 คน
นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอเชียงของ กล่าวว่าก่อนหน้านั้นตนเป็นนายอำเภอเวียงแก่น ไม่เคยทราบเรื่องโครงการเขื่อนปากแบงเลย กระทั่งมารับตำแหน่งนายอำเภอเชียงของในปี 2567 จึงได้ทราบในฐานะนายอำเภอ ตั้งแต่นั้นจึงพยายามติดตามมาโดยตลอด ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนได้พูดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
โดยอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเชียงของเกิดจาก 3 เงื่อนไขคือ 1.แม่น้ำโขง 2.แม่น้ำอิง และ 3.ปริมาณฝน วันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมามีพื้นที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมทั้ง 7 ตำบล 94 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรอีก 18,000 ไร่
“สำหรับการสร้างเขื่อน (ปากแบง) ผมมีความเห็น ไม่ว่าสันเขื่อนจะสูงขนาดไหน เราอยู่ปลายน้ำยังได้รับผลกระทบขนาดนี้ การบริหารจัดการน้ำอยู่นอกเหนือพื้นที่ต้องเฝ้ารับชะตากรรมว่าเขื่อนจินหงของจีนจะปล่อยน้ำมาเมื่อไหร่ มากน้อยอย่างไร แล้วพอถึงฤดูแล้งเราไม่มีน้ำ ยอมรับว่าในส่วนราชการมีข้อมูลน้อยมาก แต่ภาคีเครือข่ายประชาชนต่างหากที่ดิ้นรนขับเคลื่อนมากกว่าภาครัฐด้วยซ้ำไป ในวันนี้ผมพร้อมรับฟังทุกแง่มุมที่จะสะท้อนให้ภาครัฐโดยเขื่อนปากแบง จะสร้างหรือไม่สร้าง เราก็จะต้องหาวิธีป้องกันที่จะเกิดขึ้น” นายอำเภอเชียงของ กล่าว
เรือโทพัฒนา ชนุดรัมย์ รองหัวหน้าสถานีเรือเชียงของ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) กล่าวว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติจึงใช้ร่องน้ำลึกแบ่งเขตแดน หากมีการสร้างเขื่อน (ปากแบง) จะมีผลกระทบต่อเขตแดนประเทศไทย ริมตลิ่งจะเข้าไทยได้รับผลกระทบแน่นอน ร่องน้ำลึกจะขยับเข้าเขตไทย จะเสียดินแดนทะลักเข้าฝั่งเราเพิ่มมากขึ้น
ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าน้ำเท้อเป็นประเด็นใหญ่ที่น่ากลัวมาก ถ้ามีการสร้างเขื่อนปากแบงน้ำเท้อจะเกิดขึ้นทันที โดยที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น เมื่อถึงหน้าแล้ง จะมีเกาะแก่งสวยงาม การท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ถ้าสร้างเขื่อนน้ำจะยกระดับสูง พื้นที่ใช้ประโยชน์จะหายไป น้ำเท้อกลับเข้าไปในแม่น้ำสาขา ซึ่งน้ำงาว เป็นสายสำคัญของเวียงแก่น มีพื้นที่การเกษตรที่สำคัญเช่น ส้มโอ ทุกวันนี้เขื่อนจินหง (ในจีน) การบริหารจัดการน้ำเป็นปัญหาตลอดเวลา ถ้ามีเขื่อนปากแบงมารับข้างล่างอีก แล้วบริหารน้ำไม่บูรณาการ นี่เป็นเรื่องใหญ่เพราะ อ.เชียงของ เราอยู่ตรงกลาง
ครูตี๋ ยังกล่าวถึงประเด็นปลาแม่น้ำโขงซึ่งสำคัญกับประชาชน ผลกระทบต่อการอพยพของปลามีตัวอย่างจากเขื่อนไซยะบุรี ที่มีการตั้งคำถามมาตั้งแต่ปี 2562 กระทั่งตอนนี้ยังตอบไม่ได้ และกล่าวอีกว่าการสร้างพนังกั้นตลิ่งตลอดริมแม่น้ำโขงเพื่อไม่ให้แผ่นดินเสียไป มีค่าใช้จ่ายงบประมาณกิโลเมตรละราว 120 ล้านบาท ดังนั้นระยะทาง 91 กิโลเมตรจะทำให้ไทยต้องเสียงบประมาณแสนกว่าล้านบาท
“นี่เป็นความเสียหายที่ทุกคนต้องรับผิดชอบเป็นค่าใช้จ่ายจากภาษีของประชาชน ความเสียหายกับระบบนิเวศก็ต้องมีการศึกษา ตรงไหนตลิ่งจะพังแล้วสร้างตรงนี้รับได้ แต่มีโอกาสที่ 91 กิโลเมตรจะสร้างพนังกั้นตลิ่งทั้งหมด” นายนิวัฒน์ กล่าว
น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ประธานคณะทำงานของกมธ.ที่ดินฯ กล่าวว่า สถานการณ์แม่น้ำโขง 20 ปีที่ผ่านมาไหลไม่เป็นธรรมชาติจากนโยบายของรัฐ ชาวบ้านยืนยันว่ามีผลกระทบกับการแบ่งเขตแดนซึ่งอาจจะมีความอ่อนไหวในอนาคตซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ที่ กมธ.ไม่เคยทราบ
“การศึกษาเพิ่มเติมจากนี้ กมธ.จะหาความร่วมมือจากคนในพื้นที่ท้องถิ่นให้ข้อมูลกับเรามากขึ้นหากสร้างเขื่อนไฟฟ้าปากแบง นี่ขนาดยังไม่สร้างเห็นน้ำเท้อขนาดนี้ ปัญหาชาวบ้านสะท้อนไม่ถึงรัฐส่วนกลาง นโยบายแบบปกปิดข้อมูล เขื่อนปากแบงทำให้ประชาชนมีต้นทุนต้องจ่ายแพงกว่านั้น จ่ายด้วยค่าไฟฟ้าของคนไทยทุกคน” น.ส.เบญจา กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางกว่า 30 คน เดินทางลงพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตั้งแต่ อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 20-22 กันยายน 2567 หลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือ ซึ่งนายนิวัฒน์ ได้ให้ข้อมูลกับคณะสื่อมวลชนส่วนกลางว่าน้ำท่วมครั้งนี้ชัดเจนว่าหนึ่งในสาเหตุหลักมาจากการปล่อยน้ำจากเขื่อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ฝนตกเยอะ น้ำโขงยกระดับ ขณะเดียวกับที่มีข่าวการปล่อยน้ำจากจีนเริ่มสับสน ข้อมูลคือปัญหาใหญ่ถ้าจะเป็นอย่างนี้ตาย จัดการอะไรไม่ได้
“เขาไม่สน เขาปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ปัญหาน้ำโขงจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แม่น้ำโขงจัดการน้ำอย่างเดิมไม่ได้แล้ว ผิดพลาดหมด น้ำกก น้ำสาย การป้องกันแก้ไขฟื้นฟูต้องทำใหม่ ทำในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ต้องคิดเชื่อมกับแม่น้ำสายประธาน บูรณาการแม่น้ำโขง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการจัดการน้ำระหว่างประเทศได้แล้ว จีนเคยพูดว่าเราดื่มสายน้ำเดียวกัน เป็นพี่น้องกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการปล่อยน้ำของจีนคือการดื่มน้ำสายเดียวกันหรือไม่ รัฐไทยต้องเจรจากับทุกๆ ฝ่าย” นายนิวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ระหว่างการลงพื้นที่ปากงาว ชาวบ้านได้ร่วมกันถือป้ายเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนปากแบงเพราะหวั่นเกรงว่าจะซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วมภายหลังจากในปีนี้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกันอย่างรุนแรง
นายไผท นำชัย ผู้ใหญ่บ้านยายเหนือ หมู่ 2 ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า ทางหมู่บ้านได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำเท้อในปีนี้ทำให้การปลูกส้มโอซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของเวียงแก่นได้รับผลกระทบ มีพื้นที่เพาะปลูก 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน กว่า 3,000 ไร่ สูญเสียไปทั้งหมด จึงอยากให้รัฐช่วยมาดู การสร้างเขื่อนปากแบงสร้างกระทบแน่นอน ประชาชนเวียงแก่นไม่เคยรู้ว่าสร้างเขื่อนจะกระทบอย่างไร
“นี่เขื่อนยังไม่ได้สร้างยังท่วมอย่างนี้ ถ้าเขื่อนสร้างแล้วจะขนาดไหน ปีนี้ในหมู่บ้านท่วมรอบ 3 แล้ว อยากให้ทางการเยียวยา เนื่องจากการปลูกส้มโอต้องใช้เวลา 5 ปีจึงจะเก็บผลผลิตได้ พื้นที่เกษตรเสียหาย ชาวบ้านก็ไม่กล้าจะลงทุนปลูกส้มโออีก เพราะกลัวว่าถ้าปลูกส้มโอแล้วจะเกิดน้ำเท้อซ้ำ” ผู้ใหญ่บ้านยายเหนือ หมู่ 2 กล่าว
นายบุญวาท บุดดี เกษตรกรชาวสวนส้มโอเวียงแก่น กล่าวว่า พื้นที่ปลูกส้มโอ 8 ไร่ ติดแม่น้ำงาวกำลังจะให้ผลผลิต แต่ตอนนี้น้ำท่วมจนต้นส้มโอตายหมด ตนอยากจะเสนอประธาน กมธ. ที่ดินฯ ว่า ขอให้หยุดการสร้างเขื่อนปากแบง ถ้าหากยกเลิกการสร้างเขื่อนไม่ได้ ก็ต้องดูแลความเสียหายให้ชาวบ้าน แค่น้ำท่วมแล้วแจกของ แม้จะมีค่าเหมือนกันแต่ถ้าน้ำท่วมทุกปีจะมีหน่วยงานไหนที่จะมารับผิดชอบและเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน” นายบุญวาท กล่าว
ในช่วงบ่ายวันที่ 21 กันยายน คณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่ลุ่มน้ำอิง ต.ศรีดอนชัย ซึ่งมีพื้นที่เกษตรสวนผลไม้ แปลงข้าวโพด จมอยู่ใต้น้ำ โดยนายกิตติพงศ์ วงศ์ชัย นายกเทศมนตรีกล่าวว่า แม่น้ำอิงเชื่อมกับแม่น้ำโขง เมื่อน้ำอิงไหลหลากเป็นปริมาณมากจากต้นน้ำที่กว้านพะเยาและน้ำหลากจากภูเขา ประกอบกับน้ำโขงเท้อเข้ามาก็สร้างเสียหาย
“หากสร้างเขื่อนปากแบง คงกลายเป็นตำบลบาดาล แค่น้ำจีนระบายน้ำลงมา น้ำก็ไหลเข้าแม่น้ำอิง” นายกเทศมนตรี กล่าว
———–