ภาสกร จำลองราช
ผ่านมาแล้วเกิน 1 สัปดาห์หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ ขยะและโคลนที่อยู่ตามถนนและบ้านเรือนเริ่มส่งกลิ่นเหม็น แม้ชาวบ้านพยายามช่วยกันล้างโคลนและดันคืนแม่น้ำกก แต่เพราะปริมาณที่มากมายเหลือเกิน จึงเกินกำลังจะทำได้ด้วยข้อจำกัดด้านเครื่องไม้เครื่องมือ
ชุมชนเทิดพระเกียรติ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก อ.เมือง จ.เชียงราย มีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 100 ครอบครัว บนที่ดินราชพัสดุ เดิมทีชุมชนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเกาะลอย แต่เมื่อชุมชนขยายใหญ่ขึ้นจึงแยกออกมา
ชุมชนเทิดพระเกียรติและเกาะลอยเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำกก เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่โดยน้ำป่าทะลักมาตามสายน้ำเมื่อวันที่ 10-11 กันยายน 2567 ทำให้ชุมชนย่านนี้เสียหายหนัก
“คืนวันที่ 10 น้ำเริ่มเข้ามาตอน 3-4 ทุ่ม เข้าบ้านมาทั้งจากด้านหลังและด้านข้างบ้าน พอท่วมถึงเข่า พวกเราก็ช่วยกันเก็บของไว้บนที่สูง คิดว่าคงไม่ท่วมเยอะ” นุช หรือ ญานิกา เมืองมา ครูอัตราจ้างโรงเรียนเทศบาลแห่งหนึ่งยังคงมีน้ำเสียงตื่นเต้นเมื่อเล่าถึงสถานการณ์น้ำกกทะลักท่วมบ้าน
“พอเช้าวันที่ 11 น้ำเข้ามาเยอะมาก เราอยู่ไม่ได้แล้วต้องหนีออกมา ตอนนั้นน้ำสูงระดับคอ เราปิดบ้านเอาข้าวของสำคัญใส่กล่องไว้ไม่ให้ลอยไปที่อื่น”
นุชกลับมาดูบ้านอีกครั้งในวันที่ 12 โดยการนั่งเรือ แต่เข้าบ้านไม่ได้เพราะปริมาณน้ำยังคงสูง จนกระทั่งวันที่ 13 น้ำเริ่มลดลง แต่การเข้าบ้านก็ไม่สามารถทำได้ง่ายเพราะบนถนนและซอยที่เข้าไปสู่บ้านเต็มไปด้วยโคลนที่สูงเลยหัวเข่า แต่ในที่สุดเธอก็ดั้นด้นจนถึงที่หมาย ภาพที่ปรากฏคือบ้านทั้งหลังเต็มไปด้วยโคลน
“หนูอยู่บ้านนี้มาตั้งแต่เกิด ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้เลย และไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น” นุชในวัย 27 ปีต้องเผชิญประสบการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่
“หนูยังโชคดีที่มีคณะครูและนักเรียนมาช่วย” นุชมองในมุมดีๆ ที่เกิดขึ้น ขณะที่ชาวบ้านในชุมชนเทิดพระเกียติส่วนใหญ่ต่างต้องช่วยเหลือกันเอง
“ซอยถูกโคลนท่วมสูง เราแทบเข้าออกไม่ได้ ยังดีมีฝรั่งมาช่วย เขาใช้รถไถคันเล็กๆดันลงแม่น้ำไป” นุชเล่าถึงจิตอาสาต่างชาติ ซึ่งต่างมาช่วยงานชาวบ้านย่านนี้ด้วยความเข้มแข็ง
เช่นเดียวกับชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาขา 4-5 หลังคาเรือนซึ่งอยู่ในซอยลึก จนถึงวันนี้บ้านเรือนยังเต็มไปด้วยกองโคลนมหาศาล เพราะความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง
“ที่นี่เหมือนชุมชนลูกเมียน้อย” ลุงมี-จันแก้ว จันชุม ประธานชุมชนเทิดพระเกียรติ ให้คำนิยามด้วยความน้อยใจไว้สั้นๆ ถึงความช่วยเหลือต่างๆโดยเฉพาะจากภาครัฐ
ภายหลังจากน้ำลดลงชาวบ้านทั้งชุมชนเกาะลอยและเทิดพระเกียรติต่างขนขยะกองไว้หน้าบ้านหรือจุดที่ชุมชนกำหนด ขณะที่ความช่วยเหลือจากภายนอก เช่น การนำข้าวกล่องมาแจก การบริจาคข้าวของต่างๆ มีอยู่ต่อเนื่องทุกวัน แต่มักเข้าไปไม่ถึงชุมชนเทิดพระเกียรติ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในตรอกซอกซอยแคบๆ เหมือนเป็นมุมอับในที่ดินผืนใหญ่ของราชพัสดุ แม้แต่ความช่วยเหลือจากเทศบาลนครเชียงรายก็เช่นกัน ยังเข้าถึงชาวบ้านชุมชนแห่งนี้น้อยมาก
“พวกเราก็ช่วยกันเอง เราใช้น้ำกกบ้าง น้ำบาดาลบ้าง ช่วยกันล้างบ้าน ล้างถนน ยังดีที่มีเอกชนบางรายเข้ามาช่วย ทำให้เอาโคลนบนถนนออกไปได้เยอะ ไม่เช่นนั้นเข้าออกกันไม่ได้ ”ลุงมีแม้ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง เพราะบ้านแกก็ถูกน้ำท่วมจนเครื่องสักผ้าหยอดเหรียญ 5-6 ตู้พังหมด จึงต้องทั้งทำความสะอาดบ้านและไปร่วมประชุมตามที่ทางการเรียก “ยังดีที่มีพี่ๆน้องๆมาช่วยล้างบ้าน เขาบอกว่าหลังเสร็จงานนี้ ลาออกเถอะ”
แม้ผ่านมาแล้วร่วม 10 วัน แต่การล้างโคลนและนำขยะจำนวนมหาศาลออกไปทิ้ง ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชนทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากพื้นที่ย่านนี้เป็นถนนและซอยที่แคบ เมื่อต้องเอาขยะมากองไว้ตามหน้าบ้าน ทำให้พื้นที่สัญจรของรถยนต์ต้องเป็นไปด้วยความลำบาก
ขณะที่จังหวัดเชียงรายและเทศบาลนครเชียงรายมีเครื่องมือและบุคลากรจำกัด เมื่อต้องเผชิญกับความเดือดร้อนขนาดใหญ่ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 34 ชุมชน อย่างไรก็ตามเสียงวิพากษ์วิจารณการทำงานของภาครัฐดังขึ้นทุกวัน เพราะขาดการวางแผนและการบริหารจัดการที่ดี แทนที่จะระดมสรรพกำลังและอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือจากจังหวัดใกล้เคียงมาช่วย แต่กลับทำได้เพียงจำกัด ทำให้ปริมาณขยะมหาศาลยังคงกองอยู่ดาษดื่นทั่วพื้นที่น้ำท่วมในเมืองเชียงราย
เช่นเดียวกับน้ำประปาที่ยังไหลๆหยุดๆ ซึ่งในตอนแรกที่การประปาภูมิภาค(กปภ.) สาขาเชียงรายประกาศงดจ่ายน้ำเมื่อวันที่ 11 กันยายน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ชาวเชียงรายต่างให้กำลังใจเพื่อให้การแก้ไขเสร็จสิ้นและสามารถจ่ายน้ำประปาได้โดยเร็ว ซึ่ง กปภ.สาขาเชียงรายได้แจ้งข่าวสารผ่านเฟสบุคทำท่าว่ากลับมาดำเนินกิจการได้เป็นปกติตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน แต่จนแล้วจนรอดถึงวันนี้ น้ำประปาก็ยังคงไหลๆหยุดๆ หลายพื้นที่ที่อยู่รอบนอก ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทั้งๆที่น้ำเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยามนี้ ชาวบ้านต้องซื้อน้ำใช้ในราคาสูง ดังนั้นเสียงวิจารณ์จึงกระหึ่มเมือง โดยเฉพาะการไม่มีแผนสำรองหรือแผนฉุกเฉินเตรียมไว้เลย
ภายหลังภัยพิบัติใหญ่ครั้งนี้ ผู้นำประเทศตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องบางส่วน พากันลงพื้นที่แจกข้าวของและถุงยังชีพในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งชาวบ้านรู้สึกเหมือน “ชะโงกทัวร์” เพราะปัญหาระดับฐานที่ต้องการการวางแผนและการบริหารจัดการที่ดียังไม่เกิดขึ้น
แม้รัฐบาลจะมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อดูแล แต่ดูเหมือนการอยู่ไกลถึงเมืองหลวง อานิสงส์ของการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดยังส่งมาไม่ถึงชาวเชียงรายที่ยังต้องลุยโคลนและตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นขยะ
ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ภัยพิบัติจากการบริหารจัดการภาครัฐยังคงดำเนินต่อไป
————–