เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 ณ วัดถ้ำสุวรรณคูหา อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโมง ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การจัดการน้ำของรัฐบาลที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน โดยเฉพาะบทเรียนการจัดการน้ำของโครงการโขง ชี มูล ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ตลอดจนการคัดค้านโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล และเขื่อนแก่งเสือเต้นที่รัฐพยายามผลักดัน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน
หลังจากเสร็จเวทีแลกเปลี่ยน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโมง ได้อ่านแถลงการณ์คัดค้านโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล และเรียกร้องให้รัฐหยุดฉวยโอกาสสร้างโครงการซ้ำเติมประชาชน โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่คือ ให้หยุดปลุกผีรื้อโครงการสร้างเขื่อนแข่งเสือเต้น และคัดค้านการจัดการน้ำส่วนกลางที่ไม่ฟังเสียงประชาชน เช่นโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล
น.ส.สุกัลยา ชินแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโมง กล่าวว่า เราไม่เอาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดแก่ประชาชน และยังสร้างผลกระทบให้แก่คนภายในพื้นที่อย่างมหาศาล รัฐไม่เคยเปิดเผยข้อมูลโครงการที่ชัดเจนครบถ้วนให้ชาวบ้านได้รับรู้ ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาจากรัฐที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
นายนิมิต หาระพันธ์ กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดยโสธร กล่าวว่า บทเรียนจากการสร้างเขื่อนของโครงการโขง ชี มูล ในแม่น้ำชี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2534 – 2535 ชาวบ้านยังไม่รู้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการ รัฐบอกแต่ว่าจะสร้างฝายยาง ซึ่งฝายในความรู้สึกของชาวบ้านนั้นไม่ใหญ่ แต่พอก่อสร้างจริงๆ กลับเป็นเขื่อนปูนขนาดใหญ่ กั้นแม่น้ำชีเป็นระยะๆ และเปลี่ยนทิศทางการไหลของแม่น้ำ สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิเพื่อให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหาและตอนนี้ชาวบ้านก็รียกร้องมากว่า 15 ปีแล้ว
ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก เครือข่ายประชนปกป้องลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่จากภาครัฐ ไม่ได้มีการศึกษานิเวศที่แท้จริงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่จริง แต่กลับกำหนดนโยบายโดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ได้รับรู้ข้อมูลมาก่อน การจัดการน้ำแบบรัฐจึงส่งผลกระทบอีกด้านต่อชุมชนและทรัพยากร ที่ผ่านมาบทเรียนการจัดการน้ำในภาคอีสานสะท้อนให้เห็นบาดแผลจากการพัฒนาการสูญเสียที่ดินทำกิน น้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตร การสูญเสียอาชีพประมงพื้นบ้าน การพังทลายของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการหายไปของพันธุ์ปลา พันธุ์พืชท้องถิ่น การแพร่กระจายของดินเค็ม เป็นต้น ปัจจุบันรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เพียงมิได้เหลียวหลังทบทวนความบกพร่องของแนวความคิดและความล้มเหลวในการดำเนินโครงการ โขง ชี มูล เท่านั้น แต่กลับเดินหน้าจัดวางระบบอำนาจ ในการบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเร่งรัดผลักดันโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มสร้างความเสียหายซ้ำรอยโครงการ โขง ชี มูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศภายในงาน มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง ทั้งประเด็นโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เป็นประโยชน์ต่อใคร? .โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เป็นโครงการที่รัฐไม่ให้ข้อมูลข่าวสาร ข้อเสนอจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าหลังจากที่ กสม. สั่งไปแล้วหน่วยงานรัฐได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเนื้อหาของกสม.หรือไม่