สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

Search

นายกฯเล็กเมืองเชียงรายหวั่นดูดโคลน-ล้างท่อไม่ทันวันเปิดเมือง วอนรัฐบาลช่วยด้วย “ธีรรัตน์”นั่งหัวโต๊ะประชุม ศปช.ส่วนหน้าขันน็อตระบบราชการ แบ่งโซนความรับผิดชอบ ประธานสภาอุตฯเสนอแก้ปัญหาที่แหล่งต้นน้ำ

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ส่วนหน้า จ.เชียงราย (ศปช. ส่วนหน้า จ.เชียงราย) โดยมี น.ส.ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธาน ศปช. ส่วนหน้า จ.เชียงราย ทำหน้าที่ประธานและมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ปรึกษา ศปช. ส่วนหน้า จ.เชียงราย เข้าร่วมด้วย นอกจากนั้นยังมีตัวแทนภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน

น.ส.ธีรรัตน์ แถลงภายหลังการประชุมว่า เป้าหมายและภารกิจของศปช.ส่วนหน้า คือช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยให้เร็วที่สุด การลงมาปฏิบัติการในครั้งนี้ 1. จะต้องแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ กำหนดผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ติดตามปัญหาในทุกๆ วันและรายงานมาที่ ศปช. คาดว่า 31 ตุลาคม 2567 จะทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

น.ส.ธีรรัตน์กล่าวว่า 2. เครื่องจักร เครื่องมือ บุคลากรในการดำเนินงาน ได้มอบหมายให้ทุกส่วนราชการอำนวยความสะดวกในการฟื้นฟู ดำเนินการขุด ขนย้ายตะกอนดินออกจากอาคารที่อยู่อาศัย โดยกองบัญชาการกองทัพไทยได้ดำเนินการกู้คืนที่อยู่อาศัยและมีโรงครัวพระราชทานตั้งแต่ช่วงแรก 3. การจัดจ้างเครื่องจักร เครื่องมือจากเอกชนในกรณีที่ไม่เพียงพอ ปภ. ระดมการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยกรมบัญชีกลางพิจารณาการจัดจ้างให้รวดเร็วโดยไม่ขัดระเบียบ และสำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณให้แก่หน่วยงานดำเนินการเพื่อแก้ไขความเดือดร้อน

4. การซ่อมแซม การบริหารจัดการขยะและโคลน อำนวยความสะดวก ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือน สะพาน เสาไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำ ท่อระบายน้ำ การผ่อนผันใช้พื้นที่ที่ส่วนราชการต่างๆ ใช้อยู่ ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เช่น พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ราชพัสดุ เช่นพื้นที่ของกองทัพ  ทั้งนี้ยังได้ให้ ทส. นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยจังหวัดเชียงรายจะดำเนินการให้ประชาชนกลับเข้าพักอาศัยในบ้านได้โดยเร็ว เก็บขยะให้แล้วเสร็จโดยเร็ว การทำความสะอาดสิ่งปฏิกูล ท่อระบายน้ำ ในกรอบเวลา 31ตุลาคม ต้องเห็นผล โดยร่วมกับกรมราชทัณฑ์ให้ช่วยขุดดินโคลน ซ่อมแซมพนังกั้นน้ำ กำจัดดินโคลน ที่ปิดเส้นทางสายหลัก สายรอง พื้นที่สาธารณะ

“ระบบเตือนภัย ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่เสี่ยงภัย เร่งรัดดำเนินการ ในพื้นที่อื่นๆ กำหนดให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนของปีหน้า การแก้ปัญหาระยะยาว มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กระทรวงคมนาคม กรมชลประทาน ร่วมมือกัน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพิ่มขนาดของร่องน้ำ ดูแลผู้บุกรุกพื้นที่สาธารณะให้จัดระเบียบให้ถูกต้อง พิจารณาขยายการระบายน้ำ ตอม่อต่างๆ ที่ขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่ง จัดทำระบบเตือนภัย เพิ่มความมั่นคงเรียง bigbag ถุงกระสอบทราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุมนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ได้แสดงความกังวลเรื่องการทำความสะอาดและฟื้นฟูเพราะอาจจะไม่ทันวันที่ 31 ตุลาคม ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ เพราะเมืองเชียงรายมีผู้ประสบภัย 1.2 หมื่นครอบครัว แต่ปัญหาที่น่าหนักใจคือการล้างโคลนทั้งบนถนน ตามอาคารบ้านเรือน ที่สำคัญคือในท่อระบายน้ำทั้งท่อใหญ่และท่อเล็กที่ต้องดูดโคลนออกให้หมดซึ่งต้องใช้รถจำนวนมาก และเทศบาลไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ทัน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐมนตรีช่วยประสานหน่วยงานต่างๆเข้ามาช่วยเหลือเป็นกำลังหลักและเทศบาลพร้อมเป็นลูกมือให้

“ถ้าไม่มีหน่วยงานหลักเข้ามาช่วย คงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เสร็จปลายเดือนตุลาคม” นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าว

ขณะที่ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าไม่อยากให้หยุดแค่เรื่องการเยียวยา โดยแม่น้ำหลายสายที่ไหลผ่านเชียงรายมีต้นกำเนิดอยู่ในเขตรัฐฉานประเทศพม่า ปัจจุบันบริเวณนั้นมีการปลูกข้าวโพด 7.5 ล้านไร่ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำกก และในช่วง 10 ปีทีผ่านมาตั้งแต่ปี 2548 ได้มีการปลูกยางพารากว่า 1.9 สนไร่ ดังนั้นต้องพิจารณาว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นต้นเหตุของภัยพิบัติครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ขณะนี้ปัญหาใหญ่เกินที่จังหวัดเชียงรายจะจัดการโดยลำพังได้ อยากเห็นหลายหน่วยงานทำงานบูรณาการกัน

—————

On Key

Related Posts