เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ CB401 อาคารรัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี เป็นประธาน ซึ่งมีวาระการประชุมเรื่องพิจารณากรณีปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีชุมชนจากโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง กรณีเขื่อนปากแบง โดยเชิญผู้ชี้แจง อาทิ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย สำนักเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ผู้บัญชาการทหารเรือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลม่วงยาย จ.เชียงราย บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริงแอนด์แมเนจเมนท์ บริษัทกัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และภาคประชาชน

ประธานกมธ.กล่าวว่าในการประชุมวันนี้บริษัทกัลฟ์ และทีมคอนซัลติ้ง ไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ซึ่งกรณีโครงการเขื่อนปากแบงเป็นปัญหาเรื้อรัง มีผู้ร้องเรียนเรื่องความกังวลต่อผลกระทบมาหลายปี  

นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้แทนคณะทำงานพิจารณาศึกษาปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีชุมชนจากโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง กรณีเขื่อนปากแบง กล่าวว่าการศึกษาของบริษัทไม่มีการวิเคราะห์การจำลองเหตุการณ์กรณีการเกิดน้ำหลากล่าสุดที่ จ.เชียงราย ความคลาดเคลื่อนของระดับน้ำเท้อ ในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมานี้ ระดับน้ำที่ท่วมจริงสูงมาก

“หากมีเขื่อนปากแบงน้ำจะท่วมสูงแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ไม่มีการประเมินไว้ ข้อเสนอเพื่อพิจารณาก่อนการลงนามสัญญาสินเชื่อและดำเนินการก่อสร้างสร้างเขื่อนปากแบง ให้มีการดำเนินการโดยมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคประชาสังคม ดังต่อไปนี้ก่อน 1.จัดให้มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน 2.การสร้างแบบจำลองเพื่อประเมินระดับน้ำเท้อ ทั้งในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันและคนละช่วงเวลา ได้แก่ การระบายน้ำจากเขื่อนจินหงสูงสุด, ปริมาณฝนตกมากที่สุดที่เคยมีการบันทึกไว้ และปริมาณน้ำหลากสูงสุดในลุ่มน้ำสาขา เช่น น้ำกก, ลุ่มน้ำอิงและลุ่มน้ำงาว เพื่อประเมินขอบเขตพื้นที่น้ำท่วม และประเมินผลกระทบต่อชุมชน, เศรษฐกิจ, พื้นที่เกษตรกรรม และ 3.จัดทำแผนการเฝ้าระวังและเผชิญเหตุ แผนการแก้ไขปัญหา และแผนการเยียวยาผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบข้ามพรมแดน ของเขื่อนปากแบ่ง” นายมนตรีกล่าว

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่าโครงการนี้เขื่อนจะสร้างในลาว ผู้พัฒนาโครงการคือไทยและจีน แต่จะกระทบประชาชนไทย ที่อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ จ.เชียงราย กรณีน้ำหลากท่วมล่าสุดพบว่าที่ลุ่มน้ำอิง น้ำท่วมเข้ามาในแผ่นดินถึง 21 กม. ที่ อ.เชียงของ สำหรับที่ อ.เวียงแก่น เป็นห่วงเรื่องการเวนคืนที่ดิน ในกรณีนี้หากพื้นที่ของประชาชนไทยต้องท่วมถาวร ก็ต้องเวนคืน แต่ไม่มีกฎหมายใดรองรับ ก่อนที่จะทราบว่าท่วมถึงไหน เราจะใช้กฎหมายไหนกำกับ การที่กฟผ. ไปลงนามรับซื้อไฟฟ้า เราจะใช้ระเบียบใด ใช้กฎหมายไหน สำหรับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) มีแนวทางการจัดทำรายงานผลกระทบข้ามพรมแดน (TBEIA) แต่เราจะใช้ระเบียบใดของกฎหมายไทย หากมีการศึกษาแล้วจะรายงานอย่างไร หน่วยงานใดเป็นผู้รับรองรายงาน

นายอภิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีตำบลม่วงยาย กล่าวว่ากรณีน้ำท่วมหลากแม่น้ำงาวที่ อ.เวียงแก่น สร้างผลกระทบในวงกว้าง 2 ฝั่งน้ำงาว ประกอบกับปริมาณน้ำโขงมีมาก ทำให้น้ำโขงเท้อเข้ามาในที่ราบลุ่มน้ำ

งาว ท่วมพื้นที่หลายพันไร่ พืชเศรษฐกิจสำคัญคือส้มโอ ยืนต้นตาย ชาวบ้านลงทุนมา 5-6 ปี แต่กลับเสียหายไปทั้งหมด โครงสร้างพื้นฐานถนนจมเสียหาย น้ำเท้อมาจากน้ำโขง

“หากสร้างเขื่อนปากแบง จะทำให้การไหลของน้ำโขงไม่เป็นไปตามปกติ เราไม่รู้ว่าน้ำจะขึ้นกี่วัน ถึงตรงไหน การป้องกันที่ไม่มี กระทบต่อการทำมาหากินของชาวบ้าน แก่งผาได แก่งก้อนคำ น้ำขึ้นสูงสุดคือจมมิดเลย กระทบด้านท่องเที่ยว หน้าแล้งมีแก่งสวยงาม แต่เมื่อน้ำท่วม เสาวัดระดับน้ำ (ที่ระบุระดับกักเก็บของเขื่อน 340 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือม.รทก.) จมทั้งหมด หากมีเขื่อนจะกระทบสิ่งที่เทศบาลได้ลงทุน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย” นายกเทศมนตรีกล่าว

ขณะที่ผู้แทนสทนช. ได้ชี้แจงข้อมูลว่า ในฐานะสำนักงานแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เขื่อนปากแบงอยู่ห่างจากชายแดนไทย 96 กม. เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน run off the river ซึ่ง MRC มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้งและปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ซึ่งเอกสาร reply form ของประเทศไทย ระบุว่าผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ เรื่องภาวะน้ำเท้อกลับเข้ามาไทย ประมงและทางผ่านปลา การเคลื่อนย้ายและปริมาณตะกอน การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ความปลอดภัยของเขื่อน และเศรษฐกิจและสังคม

ผู้แทนสทนช.กล่าวอีกว่า รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วม (JAP) อยู่ระหว่างการทบทวนการออกแบบ ตัวอย่างการรายงานในการตอบสนองของผู้พัฒนาโครงการ ประเด็นการสร้างแบบจำลองน้ำท่วมเพิ่มเติมเพื่อทำแผนที่พื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยที่อาจถูกน้ำท่วม ผู้พัฒนาโครงการ บริษัท Pak Beng ตอบว่าได้ว่าจ้างที่ปรึกษาด้านการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และบริษัทมีพันธกรณีภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่จะต้องส่งรายงานการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและติดตามผลประจำปี ฯลฯ ให้กับกฟผ. นอกจากนี้ยังผลักดันการจัดตั้งกองทุนแม่น้ำโขงเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

“ไซยะบุรี มีเปลี่ยนแปลงระดับน้ำท้ายเขื่อน เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หน้าแล้งน้ำเพิ่มขึ้น อาจดูเหมือนว่าเป็นผลบวก แต่น้ำเพิ่มเร็ว-ลดเร็ว fluctuation ผิดจากธรรมชาติ กระทบวิถีชีวิต ที่ติดตามอยู่คือ การติดตามปลาที่ขึ้นลงผ่านเขื่อนไซยะบุรี เรายังมีข้อมูลยังระยะสั้น เรารอให้ไซยะบุรีเปิดเผยข้อมูล ว่าปลาอพยพผ่านเขื่อนได้หรือไม่ อย่างไร” ผู้แทนสทนช.กล่าว

ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่าได้รวบรวมข้อมูลส่งให้ สทนช.ทุกวัน โดยดูแล 39 สถานีวัดน้ำตลอดลำน้ำโขง เหนือเขื่อนปากแบง มี 4 สถานี ได้แก่ สบรวก เชียงแสน สบกก และน้ำงาว บ้านทรายทอง อ.เวียงแก่น มีข้อมูล 30 ปี และพบว่า 2 เดือนนี้น้ำขึ้นสูงมากกว่าปกติใกล้เคียงค่าสูงสุด น้ำงาวสูงที่สุด 23 สิงหาคม เนื่องจากน้ำโขงสูง

“ผลกระทบ จะส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งจากรายงานการศึกษาหากระดับเก็บกักของเขื่อนปากแบงอยู่ที่ 340 ม.รทก.จะส่งผลให้น้ำเท้อในลำน้ำโขง การเปิดปิดบานระบายน้ำของเขื่อนในจีนจะมีผลอย่างมากต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะเมื่อมีเขื่อนปากแบงในอนาคต และจะส่งผลให้เกิดการสะสมของตะกอนและการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำลึก” ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ กล่าว

ผู้แทนสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่าสผ. ดำเนินการภายใต้พรบ.สิ่งแวดล้อม และภายใต้ขอบเขตอธิปไตยในประเทศ ในส่วนของผลกระทบข้ามพรมแดนต้องใช้กลไกระหว่างประเทศ ร่วมกับ สทนช. ให้ความเห็นร่วมกันในผลกระทบเนื่องจากเป็นเขื่อนในแม่น้ำโขง มีความต่อเนื่องจากจีนลงมาต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการเจรจา มีข้อจำกัดของ MRC ที่อำนาจต้องใช้กลไกระหว่างประเทศ เราเก็บเป็นฐานข้อมูล ไซยะบุรีที่เกิดขึ้นแล้วมีผลกระทบระดับหนึ่ง เงื่อนไขการซื้อไฟ ต่างๆ

ผู้แทนกองทัพเรือ กล่าวว่าการแบ่งเส้นเขตแดนแม่น้ำโขงยังไม่เสร็จสิ้น หน่วยรักษาความสงบตามลำน้ำโขง การเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ จะปฏิบัติตามแนวนโยบาย ยึดตามกรมสนธิสัญญา

ผู้แทนกฟผ. กล่าวว่าได้รวบรวมข้อห่วงกังวลที่ได้รับจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)และสทนช. ใช้ประกอบการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งเงื่อนไขสัญญา PPA มีหน้าที่ของผู้พัฒนาโครงการที่ต้องนำส่งรายงานผลกระทบข้ามพรมแดน โดยนำส่งกฟผ.ในวันจัดหาเงินกู้ได้ มีผลก่อนสัญญาจะมีผลบังคับใช้ เมื่อได้รับรายงานแล้วกฟผ. จะให้ความเห็นภายใน 60 วัน โดยขอความเห็นจากบุคคลที่สามได้ หากผู้พัฒนาโครงการไม่สามารถจัดส่งรายงานได้ตามกำหนด กฟผ.สามารถบอกเลิกสัญญาได้ และทั้งนี้ต้องนำส่งรายงานประจำปีทุกปี ในวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี

ประธานกมธ. ถามว่าโครงการเขื่อนนี้มีความจำเป็นหรือไม่ ผู้แทนกฟผ. ตอบว่ามีความสำคัญเนื่องจากอยู่ในแผน ถูกบรรจุในแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า (แผน PDP) ของประเทศไทย และเซ็นสัญญาไปแล้วก็ต้องเดินหน้าต่อไป โดยปากแบงเป็นโครงการแรกที่มีผลกระทบน้ำเท้อถึงไทย เมื่อกฟผ.ได้รับรายงานฯ สามารถมีความเห็นให้ปรับปรุงได้ หากภาคประชาชนอยากมีความเห็นสามารถส่งความเห็นมาได้ มีการกำหนดกรอบว่าให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างเพียงพอ และเป็นไปตามมาตรฐาน แต่เงื่อนไขสัญญาเป็นความลับ หากต้องการเอกสารขอให้ส่งหนังสือมาเพื่อกฟผ.จะถามความยินยอมจากคู่สัญญา

ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษากมธ. กล่าวว่าตนมีความเป็นห่วงเรื่องเขตแดน ที่ใช้แม่น้ำโขงกั้น หากมีโครงการเขื่อนปากแบงไทยเรามีโอกาสเสียดินแดนมากขึ้นเรื่อยๆ

นส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่าต้องกลับไปดูว่าทำไมจึงต้องมีโครงการเขื่อนปากแบง เว็บไซต์กฟผ.ระบุว่าขณะนี้มีกำลังผลิตตามสัญญาของระบบสูงถึง 50,625 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบเดือนสิงหาคม มีค่าเท่ากับ 31,201 เมกะวัตต์ เรามีไฟฟ้าสำรองล้นเกินจำเป็น แล้วยังจะต้องรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงอีกทำไม ในขณะที่ผลกระทบก็ยังไม่สามารถชี้แจงได้  

“คนเชียงรายบอบช้ำมากจากภัยพิบัติน้ำหลากท่วมในลุ่มน้ำโขงและลำน้ำสาขา ประชาชนจำนวนมากสูญเสียทรัพย์สิน บ้านเรือน แทบหมดตัว เราจะใช้เหตุการณ์นี้ในการทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนปากแบงได้หรือไม่ หากรัฐบาลมองเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง จำเป็นต้องพิจารณาทบทวนในทันที” นส.เพียรพร กล่าว

ประธานกมธ.กล่าวว่าจากนี้ทาง กมธ. จะทำหนังสือส่งไปยังกฟผ.เพื่อขอข้อมูลรายงาน และกรมสนธิสัญญา และกองทัพเรือ เพื่อให้มีคำตอบกลับมาเป็นเอกสาร

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.