เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรี 24 กันยายน 2567 กรณีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งกลุ่มที่ต้องขึ้นทะเบียนใหม่และกลุ่มต่ออายุ ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ในลักษณะ MOU (พิเศษ)
นายอดิศรกล่าวว่า ความกังวลหลักประเด็นแรกคือกลุ่มต่ออายุใบอนุญาตทำงานอยู่ที่วิธีการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งระบุให้ดำเนินการในลักษณะ MOU หมายถึงการนำเข้าคนงานใหม่ โดยให้แจ้งบัญชีรายชื่อก่อน หากได้รับการอนุมัติจะต้องเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทางหรือตามจุดที่กรมการจัดหางานกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของแรงงานจากประเทศพม่า ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน หากกรมการจัดหางานเลือกใช้วิธีการให้แรงงานเดินทางกลับหรือไปดำเนินการที่ชายแดน จะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอย่างยิ่งเพราะการส่งคนงานจำนวนมากไปยังชายแดนหรือกลับประเทศนั้นถือว่าค่อนข้างยุ่งยากและอาจไม่สามารถดำเนินการให้ทันตามกำหนดเวลา ทั้งนี้จะต้องไปติดต่อประสานงานกับกรมแรงงานประเทศต้นทางด้วยตัวแรงงานเอง ที่ผ่านมาประเทศพม่ามีปัญหาในเรื่องของการเกณฑ์ทหารซึ่งแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกณฑ์ทหารพอดี ถ้าหากกลับไปหรือต้องไปติดต่อกับรัฐบาลทหารจะได้กลับมาได้หรือไม่
นายอดิศรกล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลทหารพม่ากำหนดให้แรงงานพม่าส่งเงินกลับบ้าน 25 % และ เสียภาษีอีก 2 % ซึ่งต้องมีหลักฐานไว้แสดงว่าได้จ่ายภาษีหรือได้โอนกลับบ้านแล้ว ถ้าหากไม่ดำเนินการตามก็จะไม่ต่อหนังสือเดินทางให้หรือไม่อนุญาตให้ออกนอกประเทศโดยเงื่อนไขนี้ ทำให้แรงงานกังวลใจและสะท้อนว่าถ้าเกิดใช้ระบบเช่นนี้จะมีปัญหาหรือไม่ เท่าที่ได้ฟังผู้ประกอบการก็มีความกังวลว่าการที่ต้องมาบริหารจัดการเรื่องคนจำนวนมากและต้องเดินทางไปติดต่อจะสามารถทำได้หรือไม่ ขณะที่ระยะเวลาค่อนข้างสั้นเพราะจะต้องยื่นเอกสารเพื่อรอให้ประเทศต้นทางแจ้งกลับมาภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 จนวันนี้ยังไม่มีตัวประกาศที่เกี่ยวข้องออกมา แม้ว่ามีมติ ครม.แต่ก็ต้องประกาศของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานซึ่งขณะนี้ยังไม่มีออกมา
“เหลือเวลาอีกแค่ 4 เดือนที่จะต้องทำให้เสร็จกับคน 2 ล้านกว่า ถ้าการอนุมัติทุกอย่างล่าช้าไปหมด จะทำให้ไม่ทันการตามมติ ครม.ที่ล็อคไว้แล้ว แรงงานก็จะกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายทันที เราจึงมีความกังวลใจว่าถ้าเกิดใช้วิธีการแบบนี้จะมีคนจำนวนมากหลุดออกจากระบบกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายไป” อดิศรกล่าว
ผู้ประสานงาน (MGW) กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพม่าที่ต้องทำเอกสาร CI โดยกลุ่มนี้มีประมาณกว่า 6 แสนคน ล่าสุดที่ได้รับแจ้งว่าทำไปแล้วเพียง 4 แสนคนและยังขาดอยู่กว่า 2 แสนคน ซึ่งทุกอย่างต้องเสร็จภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ และคงจะไม่ทันเวลาที่กำหนดและแรงงานก็ต้องกลายเป็นคนผิดกฎหมายทันที สิ่งที่ตัวกระทรวงแรงงานจะให้ทำคือจะต้องไปขึ้นทะเบียนใหม่ กลายเป็นว่าไม่ใช่ความผิดของแรงงานแต่ต้องไปทำใหม่ และยังมีความเสี่ยงที่ต้องเสียเงินซ้ำอีก
“อีกเรื่องที่เขาต้องทำให้เสร็จคือทำบัตรชมพู ปัญหาที่เราเจอก็คือคนที่ต้องทำบัตรชมพูทั้งหมดประมาณ 8 แสนกว่าคน รวมพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ทำไปแล้วแค่ 4 แสน เหลืออีก 4 แสนกว่าๆ คือทำได้แค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งยังทำไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องทำให้เสร็จภายใน 31 ตุลาคมนี้ เราประเมินไว้แล้วว่าอย่างไรก็ทำไม่ทัน ทางเราและนายจ้างได้ยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทยรวมถึงกระทรวงแรงงานและคณะกรรมาธิการการแรงงานแล้วด้วย ให้มีการเร่งตรวจสอบ”นายอดิศร กล่าว
ผู้ประสานงาน (MGW) กล่าวต่ออีกว่า ข้อเสนอสำหรับกลุ่มนี้คืออาจจะต้องขยายเวลาในการทำเอกสารทั้งหมดออกไปก่อนจนถึง 13 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อให้แก้ปัญหาเรื่องระยะเวลาเพราะกลัวว่าคนหลุดออกจากระบบไป ส่วนกลุ่มจดทะเบียนใหม่เรายังรอความชัดเจนอยู่และขั้นตอนจะยุ่งยากเช่นเดิมหรือไม่ ที่ผ่านมาปัญหาก็มีปัญหาทำไม่ทันแล้วหลุดออกจากระบบไปเยอะมากจึงควรมีการปรับ ข้อเสนอสำหรับกลุ่มนี้คืออยากให้ทำในรูปแบบของ One-Stop Service เพราะปัญหาที่ผ่านมาคือเป็นระบบออนไลน์แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะจะต้องไปติดต่อ ตม. ติดต่อกรมอื่นๆ ก็กลายเป็น 3-4 ครั้งที่ต้องเดินทางทำให้เกิดความล่าช้าขึ้น ที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพของคนที่ดำเนินการยังไม่เสร็จเกินกว่าครึ่งนึงและควรจะให้เป็น One-Stop Service ให้คนดำเนินการที่สถานที่เดียวให้จบได้
“สุดท้ายเรื่องที่ยังเป็นปัญหาพอสมควรอยู่ก็คือกลุ่มผู้ติดตาม (บุตร) ปัญหาที่ผ่านมาก็คือระบบจดจะมีความไม่ชัดเจนจะให้นายจ้างไปยืนยันกับทางจัดหางานว่ามีผู้ติดตามกี่คน นายจ้างส่วนใหญ่ก็ไม่ไปยืนยัน ทำให้เด็กจำนวนมากแทนที่จะได้อยู่อาศัย ได้เรียนตามพ่อแม่เพราะสถานการณ์ในพม่าค่อนข้างไม่ดีนัก ทำอย่างไรจะให้เด็กสามารถไปแสดงตัวเองกับเจ้าหน้าที่และทำตัวบัตรประจำตัวตามพ่อแม่ได้ อันนี้ในกรณีกลุ่มพ่อแม่กลุ่มเดิมที่ต้องต่อเรื่องระยะการทำงานด้วย” ผู้ประสานงาน (MGW) กล่าว
ขณะที่ นางขิ่น (นามสมมติ) 30 ปี แรงงานชาวพม่า ในจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ครม.ล่าสุดที่ออกมาก็บอกว่า ให้เรากลับประเทศต้นทางหรือเราต้องไปสถานที่ที่จัดหางานกำหนด แต่ถ้าเราจะกลับประเทศต้นทางเราก็ไม่มีความปลอดภัย แล้วก็ในฝั่งรัฐประหารพม่าเขาก็จะมาตรวจข้อมูลของเรา
“เราก็กลัวว่าถ้าเราไม่มีใบเสร็จที่เสียภาษี หรือเขาให้เราแสดงเงินเดือนที่เราต้องส่งกลับบ้านประเทศ 25% ต่อเดือน อันนั้นเราก็ไม่มีแสดง ยังไงรัฐบาลพม่าก็ไม่ให้ผ่านอยู่ดี แล้วก็อีกอย่างคือเรากังวลต่อความปลอดภัยของคนที่หนีการเมืองมา คนที่ทำอารยะขัดขืนมา เขาก็เข้ามาประเทศไทยมาทำงานเพราะยังไงรัฐบาลพม่าก็ต้องตรวจสอบอาจจะทำให้พวกเขามีความเสี่ยงอย่างมาก” นางขิ่นกล่าว
ด้าน นายหม่อง (นามสมมติ) แรงงานชาวย่างกุ้งในจังหวัดแม่สอด กล่าวว่า แรงงานเรามีข้อกังวลในหลายๆ ด้าน แรงงานทั่วไปที่อยู่แถวกรุงเทพหรือในพื้นที่ชลบุรีจะต้องเดินทางมาที่ชายแดน ซึ่งระหว่างทางอาจจะเกิดอุบัติเหตุรวมทั้งค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเดินทางมาชายแดน หากเราไม่มีหลักฐานแสดงการจ่ายภาษีให้รัฐบาลพม่าเราก็กังวลว่าจะถูกปรับย้อนหลังได้ อีกทั้งการขึ้นทะเบียนอย่างเดียวในแต่ละครั้งก็ต้องจ่ายเงิน 12,000-30,000 บาทเพราะนายหน้าเริ่มมีการเก็บเงินเพิ่มคนละ 5,000-10,000 บาท
“เรายังต้องจ่ายค่าเดินทางและค่าความเสี่ยงอื่นๆ อีก เพราะค่าใช้แต่ละครั้งก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ 2,000 – 3,000 บาท เช่น ค่าทำเอกสาร ค่าจองคิว ค่ากรอกเอกสาร ค่ากรอกข้อมูล เพราะเรากรอกเองเขาก็ไม่ถูก ต้องให้เจ้าหน้าที่กรอกให้ เราหวังว่าทางการไทยใช้วิธีการต่อหนังสือเดินทางโดยมองดูถึงสถานการณ์ของประเทศต้นทางโดยให้เราใช้แค่บัตรชมพูเพื่ออนุญาตอยู่หรือทำงานได้หรือไม่”นายหม่องกล่าว
————-
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.