Search

ราชบัณฑิตกัมพูชาอวยอดีตนายกฯ ฮุน เซน ปลุกผีนโยบาย ‘วิน-วิน’ แก้ปัญหาเมียนมา

รัฐบาลกัมพูชาแสดงจุดยืนในเวที UN สนับสนุนลาวหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาในฐานะประธานอาเซียน แต่เลขาธิการราชบัณฑิตยสภากัมพูชากลับวิจารณ์สวนทางว่าอาเซียนและประเทศมหาอำนาจมีท่าที ‘สองมาตรฐาน’ ไม่อาจหาแนวทางยุติความขัดแย้งเมียนมาที่ดีกว่านโยบาย ‘วิน-วิน’ ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน เคยเสนอไว้เมื่อปี 2022

สก เจนดา โสภี (Sok Chenda Sophea) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ครั้งที่ 79 ที่สหรัฐอเมริกา ปลายเดือนกันยายน 2024 โดยกล่าวถึงประเด็นการยุติความขัดแย้งในเมียนมาซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาค รวมถึงการสนับสนุนแนวทางยุติความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ด้วยนโยบาย 2 รัฐซึ่งรับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐสมาชิกของ UN

รมว.ต่างประเทศกัมพูชายังแสดงความยินดีกับจูลี บิชอป อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษด้านเมียนมาคนใหม่ของสหประชาชาติเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และย้ำด้วยว่ารัฐบาลกัมพูชาจะสนับสนุนลาวในฐานะประธานอาเซียนปี 2024 ดำเนินการตามแนวทางฉันทามติ 5 ข้อเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งในเมียนมาให้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี สำนักข่าว The Phnom Penh Post สื่อภาษาอังกฤษในกัมพูชา รายงานอ้างอิงคำวิจารณ์ของ ยาง ปือ (Yang Peou) เลขาธิการราชบัณฑิตยสถานแห่งกัมพูชา หน่วยงานวิชาการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งสวนทางกับท่าทีของ รมว.ต่างประเทศกัมพูชาบนเวที UNGA เพราะยาง ปือ ระบุว่าอาเซียนยังไม่มีแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดีกว่านโยบาย ‘วิน-วิน’ ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งกัมพูชา เคยเสนอเอาไว้ในปี 2022 ช่วงที่กัมพูชาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน

เลขาฯ ราชบัณฑิตยสถานกัมพูชายังระบุด้วยว่าผู้นำบางประเทศในอาเซียนเคยโจมตีอดีตนายกฯ ฮุน เซน ซึ่งเดินทางเยือนเมียนมาในปี 2022 เพื่อพูดคุยกับพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมียนมา ทั้งที่ฮุน เซน เป็นผู้มีประสบการณ์โดยตรงในการยุติความขัดแย้งของกัมพูชาหลังยุครัฐบาลเขมรแดง แต่อาเซียนกลับไม่สนับสนุนแนวทางนี้และผลักดันแนวทางฉันทามติ 5 ข้อแทน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน

ยาง ปือ ยังได้เปรียบเทียบท่าทีของอาเซียนต่อเมียนมากับจุดยืนของสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรที่มีต่อความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์โดยระบุว่าเป็นท่าที ‘สองมาตรฐาน’ ด้วยกันทั้งคู่ เพราะประเทศมหาอำนาจและพันธมิตรมักจะมองข้ามความพยายามของประเทศเล็กๆ ทั้งที่แนวทางของประเทศเล็กๆ อาจได้ผลที่ดีกว่า ทั้งยังระบุด้วยว่านโยบายที่ประเทศมหาอำนาจผลักดันมักจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่หนักหนาสาหัสกว่าเดิม เหมือนกับที่สถานการณ์ในเมียนมาได้กลายสภาพเป็นสงครามกลางเมือง ณ ปัจจุบัน

ทั้งนี้ นโยบาย ‘วิน-วิน’ ที่อดีตนายกฯ ฮุน เซน เคยเสนอ เป็นการอ้างอิงนโยบายที่รัฐบาลกัมพูชาใช้ดำเนินการจนกระทั่งกวาดล้างรัฐบาลเขมรแดงและยุติสงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนานกว่า 3 ทศวรรษลงในปี 1998 ซึ่งเนื้อหาหลักอยู่ที่การเปิดให้ทุกขั้วความขัดแย้งทางการเมืองเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ และขอความช่วยเหลือจากประชาคมโลกหรือองค์การระหว่างประเทศให้เข้ามาช่วยกำกับดูแลการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการเห็นชอบจากทุกฝ่าย จากนั้นจึงดำเนินการฟื้นฟูเยียวยาด้านมนุษยธรรม

ทว่านักวิเคราะห์ในเมียนมาได้วิจารณ์นโยบายวิน-วินของฮุน เซน เอาไว้ตั้งแต่ปี 2022 โดยสำนักข่าว Mizzima รายงานอ้างอิงความเห็นของนิน เต็ท เต็ท ออง (Hnin Htet Htet Aung) ซึ่งย้ำว่านโยบายวิน-วินอาจจะมีข้อดี แต่บทบาทของฮุน เซน ในฐานะตัวกลางการเจรจายังน่าตั้งคำถาม เพราะเขาคือผู้ก่อการรัฐประหารในกัมพูชาเมื่อปี 1997 ทั้งยังยึดกุมอำนาจในการบริหารประเทศต่อมาอีกเกือบ 30 ปี

บทวิเคราะห์ระบุว่า ฮุน เซน เป็นผู้นำอีกคนหนึ่งซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการใช้อำนาจกวาดล้างผู้เห็นต่างด้วยวิธีการรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายฟ้องร้องปิดปากประชาชนและยุบพรรคฝ่ายค้าน การปราศรัยยั่วยุให้ผู้สนับสนุนของตนใช้กำลังกับผู้เห็นต่าง ล้วนเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เรื่องนี้จึงน่าจะเป็น ‘ประเด็นร่วม’ ระหว่างฮุน เซน และผู้นำรัฐบาลทหารพม่ามากกว่าการสนับสนุนสันติภาพ

ทั้งนี้ สงครามกลางเมืองกัมพูชาปะทุขึ้นในปี 1979 โดยเป็นการต่อสู้กันของขั้วอำนาจที่สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน เกิดการสังหารหมู่ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และผู้คนจำนวนมากต้องอพยพลี้ภัยไปต่างแดน จนในที่สุดที่ประชุมสหประชาชาติจึงลงมติให้ส่งกองกำลังพิทักษ์สันติภาพ (UN Peacekeeping) เข้าไปแทรกแซง นำไปสู่การจัดเลือกตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อปกครองกัมพูชาในปี 1993

หลังการแทรกแซงของ UN ยังมีการสู้รบเกิดขึ้นประปรายระหว่างขั้วการเมืองต่างอุดมการณ์ ทำให้ ฮุน เซน ก่อรัฐประหารในปี 1997 โดยยึดอำนาจจากนโรดม รณฤทธิ์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ร่วมกันในขณะนั้น นำไปสู่การกวาดล้างกลุ่มเขมรแดงที่สนับสนุนนโรดม รณฤทธิ์ และหลังจากนั้นฮุน เซน ก็สามารถยึดกุมอำนาจในการบริหารประเทศมาได้ยาวนานเกือบ 30 ปี

แต่การเลือกตั้งกัมพูชาในยุคฮุน เซนเรืองอำนาจถูกวิจารณ์มาตลอดว่าไม่เป็นธรรมและไม่มีเสรีภาพ เพราะมีรายงานการทุจริตเลือกตั้ง การใช้กฎหมายยุบพรรคฝ่ายค้าน การจับกุมกวาดล้างผู้วิจารณ์รัฐบาลจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ รวมถึงการอุ้มหายนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าฮุน เซน จะก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2023 แต่ก็ได้ผลักดันให้ ฮุน มาเนต บุตรชายคนโต ได้รับเลือกเป็นนายกฯ แทน

อ้างอิง:

The Phnom Penh Post

https://www.phnompenhpost.com/politics/cambodia-backs-palestinian-state-myanmar-consensus-at-un-general-assembly

Mizzima News

https://mizzima.com/article/can-cambodias-win-win-policy-work-crisis-hit-myanmar

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →