สืบสกุล กิจนุกร
จาก Unknown Watershed เป็น Unclear Watershed และ Uncertain Watershed
ผมเคยเขียนใน fb ของตัวเอง และเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า เราไม่รู้จักต้นน้ำกกและต้นน้ำสายว่าอยู่ตรงไหนของโลกนี้ ทั้งที่การรู้จักต้นน้ำจะทำให้เราเข้าใจปริมาณน้ำฝนและมวลน้ำ ระยะเวลาการเดินทางของมวลน้ำ และสภาพการใช้ที่ดินที่เป็นสาเหตุหนึ่งของน้ำท่วม
สาเหตุที่เรา (ประชาชนและผู้กำหนดนโยบายการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ) ไม่รู้จักต้นน้ำของเราเลย เนื่องจากติดอยู่ในกับดักของเส้นเขตแดน กล่าวคือตัวพรมแดนรัฐชาติเป็นตัวขีดเส้นทางความรู้ การวิจัย และการตัดสินใจทางนโยบาย การจัดการทรัพยากรน้ำ และการจัดการภัยพิบัติบนฐานของพรมแดนรัฐชาติและผลประโยชน์ของชาติ
แต่ในขณะที่แม่น้ำนั้นมีชีวกายภาพเป็นของตัวเอง หรือที่เรียกว่า biophysical boundary ที่สามารถ ยืด หด ขยาย ขีดเส้นใหม่ กลับไปหาทางเดินเก่า โดยตัดผ่านพรมแดนรัฐชาติ พรมแดนเศรษฐกิจ และพรมแดนวัฒนธรรม
การที่เราจึงรู้จักแม่น้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเฉพาะที่อยู่ในเส้นเขตแดนของเราเท่านั้น ผลเสียที่ตามมาคือเราไม่สามารถจัดการปัญหาข้ามพรมแดนทั้งหลายได้เลย ดังนั้นการเริ่มต้นรู้จักต้นน้ำของเราที่ชัดเจนจึงเป็นสิ่งแรกที่เราต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
ผ่านไป 30 วัน ความรู้ของเราเกี่ยวกับต้นน้ำกกและต้นน้ำสายขยับจาก unknown watershed เป็น unclear watershed และ uncertain watershed กล่าวคือในห้วงเวลาร่วมเดือนที่ผ่านมามีการไตร่ถามถึงต้นน้ำกกและน้ำสายมากขึ้น เริ่มจากคำถามพื้นๆ ว่า ต้นน้ำกกและสายอยู่ที่ไหน ลักษณะหน้าตาของต้นน้ำเราเป็นอย่างไร ปริมาณน้ำก่อนเกิดเหตุน้ำท่วมเป็นอย่างไร และเราจะมีมาตรการใดในการป้องกันน้ำท่วมอีกในอนาคต
คำตอบเที่เราได้รับคือการคาดการณ์ความน่าจะเป็น 4 ข้อดังนี้
1.ต้นน้ำกกและน้ำสายอยู่เขตรัฐฉานประเทศเมียนมา แต่อยู่คนละจุดกัน ระยะทางจากต้นน้ำถึงเส้นเขตแดนไทยไม่เท่ากัน และจุดที่แม่น้ำทั้ง 2 สายเดินทางเข้าเขตแดนไทยมีลักษณะแตกต่างกันและส่งผลต่อน้ำท่วมและการรับมือแตกต่างกันคือ จุดที่แม่น้ำกกเข้าเขตประเทศไทยอยู่ที่สะพานข้าแม่น้ำกก บ้านท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ จากจุดนั้นคนในจังหวัดเชียงรายมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 6 ชั่วโมงในกรณีน้ำอยู่ในระดับวิกฤต แต่ในขณะที่กรณีแม่น้ำสายมีจุดเข้าเขตแดนไทยที่หัวฝายซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนและเป็นย่านการค้า การเตรียมการรับมือน้ำท่วมจึงทำแทบไม่ทันเลยก็ว่าได้
2. ช่วงเกิดเหตุน้ำท่วมมีฝนตกหนักในต้นแม่น้ำทั้ง 2 สาย เช่นเดียวกันกับที่เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อื่นๆ ตลอดลำน้ำกกและลำน้ำสาย ซึ่งเป็นอิทธิพลจากพายุ เรารู้ว่ามีฝนตกหนักภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม โดยใช้เทคโนโลยีทางดาวเทียม และการประมวลผลข้อมูลจากหลายแหล่ง ที่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญช่วยกันสร้างภาพและช่วยอธิบายให้เราเข้าใจมากขึ้น
แต่ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ได้เตือนเราว่า มันเป็นการคาดการณ์เบื้องต้นเท่านั้น ยังขาดการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์จากพื้นที่จริง ซึ่งเป็นข้อท้าทายสำคัญต่องานวิจัยและองค์ความรู้ของเราที่มีต่อต้นน้ำกกและสายเป็นอย่างมาก
3. ในเขตต้นน้ำกกและต้นน้ำสายมีการใช้ที่ดินที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม เนื่องจากพื้นที่ต้นน้ำทั้ง 2 สายมีทั้งเหมืองและการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (ข้าวโพด) เต็มพื้นที่โดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ได้จัดทำรายงานการวิจัยและมีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนตั้งแต่ก่อนเหตุน้ำท่วมใหญ่ว่ามีเหมืองถ่านหินและเหมืองทองคำ ซึ่งมีการเปิดหน้าดินเป็นบริเวณกว้างและการใช้ที่ดินในเขตต้นน้ำแบบนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของมวลน้ำมหาศาล และปริมาณโคลนมหึมาที่ถาโถมเข้ามาท่วมท้นบ้านเรือนผู้คน
4. ความซับซ้อนของภูมิทัศน์การเมืองในพื้นที่่ต้นน้ำกกและต้นน้ำสาย แม่น้ำทั้ง 2 มีจุดกำเนิดอยู่ในเขตรัฐฉานซึ่งมีอย่างน้อย 3 กลุ่มการเมืองเข้าไปแย่งชิงอำนาจการปกครองและพัฒนาพื้นที่ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและการสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดน กลุ่มแรกคือกลุ่มไทใหญ่ซึ่งว่ากันว่าเป็นเจ้าของดั้งเดิมพื้นที่รัฐฉาน กลุ่มสองคือกองทัพพม่าที่เข้ามาบุกยึดและสถาปนาความเป็นรัฐชาติเหนือดินแดนแถบนี้ กลุ่มสุดท้ายคือกองกำลังว้าที่รุกคืบเข้าในเขตรัฐฉานหลายปีอย่างต่อเนื่องทั้งในเขตตัวเมืองและพื้นที่ต้นน้ำ
ความซับซ้อนของภูมิทัศน์การเมืองดังกล่าวทำให้มาตรการป้องกันน้ำท่วมในอนาคต เช่นการติดตั้งจุดวัดน้ำในเขตน้ำสายและน้ำกกในพื้นที่รัฐฉานต้องมีปัญหาอุปสรรคมากยิ่งขึ้น ทั้งในเง่ความยากลำบากในการเจรจากับกลุ่มอำนาจการเมืองในพื้นที่ การไม่ไว้วางใจกันและกัน ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นก่อนน้ำท่วมแล้วว่าทางการเมียนมาไม่ต้องการให้ฝ่ายไทยเข้าไปติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำในดินแดนของตน เนื่องจากเกรงว่าจะมีการล้วงเอาข้อมูลอย่างอื่นออกไปด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดชี้ใหเห็นว่า เรารู้จักต้นน้ำกกและต้นสายดีขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจน และยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอีกต่อไป ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำ อาจทำ หรือต้องทำคือ
1.เร่งรัดการศึกษาวิจัยพื้นที่ต้นน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ได้ข้อมูลเรื่องน้ำและการใช้ที่ดินซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเข้าใจต้นน้ำของเรา
2. ส่งเสริมการทำงานของภาคประชาสังคมในประเทศเมียนมา เนื่องจากเป็นองค์กรทำงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องและเกาะติดพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้เราได้ข้อมูลประกอบการทำความเข้าใจและตัดสินใจได้แม่นยำมากขึ้น
น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ เพื่อที่เราจะได้รู้จักต้นน้ำกกและสายได้ดียิ่งขึ้นจากมุมมองของคนในพื้นที่
3. การสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มอำนาจต่างๆ ในรัฐฉาน เพื่อนำไปสู่การป้องกันน้ำท่วมทั้งในประเทศไทยและประเทศเมียนมา
น้ำท่วมใหญ่ในตัวเมืองเชียงรายผ่านมาแล้ว 30 วันทำให้เรารู้จัก Unknown Watershed และขยับเป็น Unclear Watershed และ Uncertain Watershed แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขยับออกจากกับดักทางความคิดที่ผูกติดกับเส้นเขตแดนรัฐชาติ อันจะนำไปสู่เรื่องอื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะอาการหวาดผวาฝนตกและระบบเตือนภัย
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.