เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 นายฉัตรชัย ชัยศิริ นายกเทศมนตรีเทศบาลเวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย  เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำสายแบบถาวรว่า ภายหลังได้รับการส่งมอบพื้นที่ชุมชนหัวฝาย และบ้านถ้ำผาจม ต.เวียงพางคำ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำสายจุดแรกของ อ.แม่สายหลัง จากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ และจิตอาสาที่ได้ช่วยกันนำโคลนออกจากพื้นที่บ้าน ถนน ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่สามารถกลับเข้าบ้านได้แล้ว ปัจจุบันได้รับมอบนโยบายผ่านทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไปร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ ในการวางแนวทางระยะยาวป้องกันอุทกภัย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา นายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมา เกี่ยวกับเขตแดนคงที่ ช่วงแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก (Thailand- Myanmar Joint Committee Relating to the Fixed Boundary on Mae Sai – Nam Ruak Rivers Sector : JCR) (ฝ่ายไทย) ณ กระทรวงการต่างประเทศ กทม. ซึ่งจัดโดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายที่ขับเคลื่อนมาตรการบำรุงรักษาลำน้ำและการป้องกันน้ำท่วมช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก

นายกเทศมนตรีเทศบาลเวียงพางคำกล่าวว่า คิดว่าจะมีเวนคืนพื้นที่เพื่อทำระบบป้องกันน้ำท่วมแบบถาวร โดยคร่าว ๆ ได้หารือกันกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง และสำนักชลประทานจังหวัด เพื่อเสนอเรื่องไปยังจังหวัดเชียงราย จะมีการเวนคืนที่ดินระยะทางจากแม่น้ำประมาณ 40 เมตรจากจุดกึ่งกลางจากลำน้ำสาย เพื่อจะสร้างแนวป้องกันลำน้ำสายตลอดแนว เป็นแนวความคิดที่จะเสนอเป็นแนวทางต่อจังหวัดเพื่อจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศในการดำเนินต่อไป

“ข้อเสนอนี้เป็นแนวคิดของท้องถิ่น ถ้าไม่เสนอแบบนี้เราก็จะประสบปัญหาอุทกภัยทุก ๆ ปีไป ส่วนความเห็นของชาวบ้านนั้น เบื้องต้นเราจะต้องทำความเข้าใจซึ่งมีความหวาดกลัวที่จะต้องเจอในทุก ๆ ปี เราจะมีการจัดการบริหารอย่างไร จะมีการย้ายที่อยู่อย่างไรให้เข้าใจกันทุกคนในทิศทางเดียวกัน แล้วจะมีการคุยกันในระยะยาวต่อไป” นายกเทศมนตรีเทศบาลเวียงพางคำกล่าว

นางกัญญาณัฐ นามจันทร์ อายุ 40 ปี ชาวบ้าน ม. 1 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า หากรัฐจะเวนคืนพื้นที่ส่วนน้อยเพื่อให้ส่วนใหญ่ไม่ถูกน้ำท่วม ก็ต้องยอม ขอให้หน่วยงานรัฐช่วยเราเต็มที่ก็พอใจแล้ว มีที่ให้ทำมาหากิน มีที่หลับที่นอนให้ก็ยอม

เมื่อถามถึงการต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยง นางกัญญาณัฐ กล่าวว่า รู้สึกผวาเมื่อฝนตกฟ้าร้องทุกครั้ง มันปวดใจมาก แทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย

นายขุนศึกแม่สาย แอดมินชุมชนคนแม่สายและผู้ประสบภัย กล่าวว่า ถ้ามีการเวนคืนในระยะ 40 เมตร จะมีคนไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีเงินไปซื้อที่ดิน เพราะเขาอยู่ตรงนี้มาตั้งแต่เล็กจนแก่เฒ่า บางคนนั่งเฝ้าบ้าน

“ถ้าต้องเวนคืน 40 เมตรทั้ง 2 ฝั่ง ก็ฝากถึงรัฐบาลว่าจะเยียวยาเขาอย่างไรเพื่อที่เขาอยู่ได้ไม่ลำบากในการทำเพื่อส่วนรวมซึ่งเขาจำเป็นต้องเสียสละ ผมอยู่ต้นน้ำเลยโดนก่อนจึงรู้วิถีของน้ำ แต่ชาวบ้านถ้ามาแบบเดิมอีกอาจจะต้องมีการสูญเสียชีวิตมาก”นายขุนศึก กล่าว

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เจ้ากรมกิจการชายแดนทหารได้มาตรวจภูมิประเทศพื้นที่สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำตามลำแม่สาย เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในลำแม่น้ำสาย โดยได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับทางท้องที่ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางของไทยให้ชัดเจนเพื่อหารือกับทางประเทศเมียนมา

นอกจากนี้ยังประเด็นเรื่องการทำเหมืองทองบริเวณต้นแม่น้ำสายในฝั่งพม่าซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีปริมาณโคลนจำนวนมหาศาลปนมากับน้ำในครั้งนี้จนกลายเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ โดยก่อนหน้านี้ได้มีสารปนเปื้อนทำให้แม่น้ำสายกลายเป็นสีขาวขุ่น ซึ่งมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ได้ออกรายงานวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ (https://transbordernews.in.th/home/?p=37458 ) ทั้งนี้ประเด็นเรื่องการทำเหมืองทองเป็นหัวข้อหนึ่งที่ทางการไทยต้องเจรจากับฝ่ายต่างๆในฝั่งพม่า เนื่องจากขณะนี้พื้นที่เมืองท่าขี้เหล็กเป็นเขตอิทธิพลของหลายกองกำลังติดอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพรัฐฉานใต้ กองทัพว้า และกองทัพพม่า

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.