เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 นายอาลี หัวหน้ากลุ่ม Rohingya Talent Group ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ชาวโรฮิงญา จำนวน 11 คนถูกขบวนการค้ามนุษย์นำมาปล่อยทิ้งป่าละเมาะริมถนนแหลมทราย ติดกับเชิงเขาเสก หมู่ 4 ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร โดย 3 คนได้เสียชีวิตขณะเคลื่อนย้ายจาก อ.แม่สอด จ.ตากเพื่อเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย ว่าจากการสอบถามผู้ที่รอดชีวิตได้เล่าว่าการขนย้ายครั้งนี้มีชาวโรฮิงญากว่า 70 คน แต่เมื่อมาถึงบริเวณหลังสวน มีบางส่วนทำท่าจะเสียชีวิต จึงได้ให้ลง ส่วนพวกที่เหลือยังขนย้ายไปส่งยังพื้นที่เป้าหมายซึ่งทางตำรวจน่าจะตามเจอเพราะรถที่ใช้ขนย้ายเป็นรถขนาดใหญ่มาก
“ญาติผู้เสียชีวิตที่มาเลเซียเขาโทรมาหาผม รถคันใหญ่ พอมีผู้เสียชีวิตก็ใช้รถกระบะมาขนไปทิ้ง โดยผู้เสียชีวิตถูกนำไปฝังเรียบร้อยแล้ว ส่วนคนที่ช่วยไว้ได้ตอนนี้อยู่ที่โรงพัก คนกลุ่มนี้เดินทางมาจากแม่สอด เมื่อ 3-4 วันก่อนผมเพิ่งไปลงพื้นที่การค้ามนุษย์มา สถานการณ์ค่อนข้างเลวร้ายมาก”นายอาลี กล่าว
นายอาลีกล่าวว่า ถึงเส้นทางของขบวนการค้ามนุษย์ที่ขนย้ายชาวโรฮิงญาจากแม่สอดไปยังพื้นที่ภาคใต้ว่า หลังจากที่ขนชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่หรือในค่ายพังพิงประเทศบังคลาเทศ-อินเดียมาได้แล้ว คนกลุ่มนี้จะถูกนำมาพักไว้ในบริเวณตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด จากนั้นจะเคลื่อนย้ายข้ามมายังฝั่งแม่สอดโดยขึ้นระกระบะเดินทางไปยังพื้นที่แห่งหนึ่งใน อ.พบพระ จ.ตาก และลงเดินตามป่าประมาณ 1 วันมาถึงชายแดน อ.เมืองตาก จากนั้นขึ้นรถตู้มายังกรุงเทพฯ ก่อนจะส่งไปยังภาคใต้เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซีย
“ค่าหัวประมาณ 1.6 แสนบาท ตอนนี้สถานการณ์เลวร้ายสุดๆเพราะในรัฐยะไข่มีการสู้รบรุนแรงระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังอาระกัน ( Arakan Army – AA) และกองกำลังอาร์ซะของชาวโรฮิงญา ทุกฝ่ายต่างต้องการเอาคนหนุ่มสาวชาวโรฮิงญาไปเป็นทหาร ชาวบ้านต่างอดอยาก ไม่มีอาหารกิน ทุกคนจึงต้องพยายามหาทางหนีออกนอกประเทศ บางส่วนนั่งเรือมาที่เมืองมะละแหม่ง ก่อนนั่งรถต่อมายังเมืองพะอัน แล้วต่อมาที่เมืองเมียวดี ชายแดนไทย ก่อนข้ามเส้นทางธรรมชาติมาฝั่งไทยที่ อ.แม่สอด”นายอารี กล่าว
นายอารีกล่าวว่า ขณะนี้มีชาวโรฮิงญาราว 1,500 คน รออยู่ในจุดพักบริเวณฝั่งเมียวดี เพื่อเตรียมตัวเดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซียโดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน ซึ่งขณะนี้ชาวโรฮิงญาเข้ามาอยู่ในแม่สอดเยอะมาก เพราะเมื่อเข้ามาไทยแล้วก็ไม่รู้จะไปไหน อย่างไรก็ตามชาวโรฮิงญาบางสวนยังคงใช้เส้นทางทะเลโดยล่าสุดมีเรือขนชาวโลฮิงญา 3 ลำมุ่งหน้าไปยังประเทศอินโดนีเซีย แต่ขาดการติดต่อ 2 ลำ ขณะที่อีก 1 ลำเครื่องยนต์เสียต้องลอยอยู่กลางทะเลในอินโดนีเซียและกำลังขาดแคลนอาหารจึงขอความช่วยเหลือมายังตน
“การแก้ปัญหาขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้ ภาครัฐต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยเฉพาะตำรวจ หากไม่อนุญาตให้คนเหล่านี้ผ่านก็ผ่านไม่ได้ การค้ามนุษย์ระลอกนี้ถือว่าใหญ่โตกว่าครั้งก่อนๆมาก ผมเชื่อว่ามีชาวโรฮิงญาหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยร่วม 1 แสนคนที่กำลังรอเดินทางต่อไปประเทศที่ 3 เข้ามาอยู่ในจุดแวะของกรุงเทพฯในหลายจุด ครั้งนี้มีทั้งเด็ก ผู้หญิงและคนแก่ เพราะเขาอยู่ในประเทศเขาไม่ได้”นายอารี กล่าว
นายสุไรมาน พฤฒิมณีรัตน์ รองประธาน Association Rohingya Thailand กล่าวว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนมีชาวโรฮิงญาหนีมาจากคาสิโนและเล่าว่าในเมืองเมียวดีฝั่งพม่ามีชาวโรฮิงญากระจายอยู่ 1,500-2,000 คน หลายคนไม่มีเงินจ่ายก็ไม่ได้ไปต่อ และถูกทุบตีทรมานเพื่อถ่ายวีดีโอส่งไปให้ญาติเหยื่อเพื่อส่งเงินมาให้ เราพยายามติดต่อหน่วยงานเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยตนมีญาติที่ถูกจับตัวไว้และต้องถ่ายตัวประมาณ 5 หมื่น แต่ถ้าเป็นตอนนี้ราคาพุ่งขึ้นไปอีก เพราะนายหน้าหลักในมาเลเซียจะอิงค่าเงินประเทศนั้น ขณะที่ค่าเงินพม่าตกลง
“การแก้ปัญหาคือหน่วยงานรัฐต้องทำงานจริงจัง ไม่ใช่เก็บซ่อนเรื่องนี้ไว้เงียบๆเพราะเรื่องนี้มีผลต่อประเทศไทยมาก โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในโกดังในแหล่งคาสิโนฝั่งเมียวดีและข้ามมาฝั่งไทย เราต้องตรวจเข้มว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ การขนย้ายเหยื่อที่เขายังทำได้เพราะอะไร เราต้องตรวจให้เข้มงวดขึ้น รัฐบาลอาจร่วมมือกับกลุ่มโรฮิงญาที่ต่อต้านการค้ามนุษย์ เพื่อจับนายหน้าที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งมีอยู่ไม่น้อย พวกเราทราบดีว่าใครเป็นใคร”นายสุไรมาน กล่าว
(อ่านข่าวเพิ่มเติมขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา https://transbordernews.in.th/home/?p=38323 )