ภาสกร จำลองราช
การต่อสู้เพื่ออิสรภาพอันยาวนานกว่า 77 ปีของชนชาติกะเหรี่ยงในนามสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU หรือ เคเอ็นยู) สิ่งหนึ่งที่บรรพชนของพวกเขาให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องคืองานด้านการศึกษา
งานด้านการศึกษาเป็น 1 ในหน่วยงานที่อยู่ในโครงสร้างของ KNU มาโดยตลอด และปัจจุบันเป็น 1 ใน 12 กระทรวงของรูปแบบการปกครองใน 7 พื้นที่ของ KNU เพียงภายหลังการทำรัฐประหารของกองทัพพม่าที่นำโดย พล.อ.มิน อ่อง หลาย ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปเร็วมากโดยเฉพาะการสู้รบรุนแรงกลายเป็นสงครามทั่วทุกพื้นที่ในประเทศพม่า
ข่าวและภาพโรงเรียนกลายเป็นสนามรบ-ถูกเผา และเด็กๆ ต้องอพยพหนีตายเข้าป่า หลบในถ้ำ หรือข้ามแดนมายังฝั่งไทยมีให้เห็นเสมอ ความเหี้ยมโหดของสงครามในพม่าคือการไม่แยกแยะพื้นที่ที่ควรละเว้น เช่น โรงเรียน ชุมชน วัด โรงพยาบาล
ปัจจุบันเด็กๆ จำนวนมากต้องใช้พื้นที่ป่าเขาเป็นโรงเรียน เพราะไม่สามารถกลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนได้เนื่องจากกองทัพพม่ายังส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดอยู่เสมอโดยเฉพาะหากพบว่ามีความเคลื่อนไหวใดๆ ในชุมชนก็จะถูกเหมารวมว่าสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน SAC (State Administration Council ) หรือสภาบริหารแห่งรัฐพม่า
การจัดการศึกษาให้เด็กๆ ในสนามการสู้รบจึงเป็นเรื่องท้าทายยิ่ง
“แต่ละพื้นที่จะจัดการตัวเอง โรงเรียนซึ่งอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งรู้ดีว่าเขาจะจัดการตัวเองอย่างไรเมื่อเกิดการสู้รบรุนแรง จะย้ายไปโรงเรียนชั่วคราวตามป่าทันที” ซอ ลอเอ้มู (Saw Law Eh Moo) หัวหน้าฝ่ายการศึกษา (Karen Education & Culture Department-KECD) ของ KNU อธิบายถึงรูปแบบการจัดการการศึกษาในรัฐกะเหรี่ยง
ปัจจุบัน KECD มีโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด 1,660 แห่ง เด็กนักเรียน 145,233 คน ครู 11,231 คน มีทั้งโรงเรียนที่ยังใช้หลักสูตรของทางการพม่า และโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรของกะเหรี่ยง
การที่ KNU ขยายพื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่อยู่ติดกับไทย ทำให้โรงเรียนจำนวนมากที่เคยนิยมหลักสูตรพม่าได้เปลี่ยนมาใช้หลักสูตรของ KECD
“โรงเรียนที่ไม่เคยมีสถานการณ์สู้รบมาก่อนและเรียนอยู่ในอาคาร ครั้งนี้เมื่อต้องเผชิญกับการสู้รบ เขาจะสร้างกลไกบริหารกันขึ้นมาใหม่ KECD ได้แจกคู่มือป้องกันตัว และมีการฝึกซ้อมเพื่อรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เราเองปรับกฏระเบียบให้เป็นไปตามสถานการณ์ บางครั้งก็ต้องผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ บ้าง เช่น กติกาที่กำหนดว่าใน 1 ปีต้องเรียน 8 เดือน แต่เมื่อเกิดการสู้รบอาจเรียนได้แค่ 6 เดือน ซึ่งก็ต้องเข้าใจและปรับเข้ากับสถานการณ์” ซอ ลอเอ้มู เป็น 1 ใน 11 คณะกรรมการบริหารกลางของ KNU ทำให้เข้าใจถึงภาพใหญ่และภาพย่อยในพื้นที่ ทำให้ระบบการศึกษาของ KNU มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ซอ ลอเอ้มู ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เปรียบเสมือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของ KNU ได้ย้อนสถานการณ์ด้านการศึกษาในรัฐกะเหรี่ยงว่า นับตั้งแต่มีการเจรจาสันติภาพในยุครัฐบาลของนายพลเต็ง เส่ง สิ่งที่ขัดขวางด้านการศึกษา คือมีการช่วงชิงพื้นโดยรัฐบาลพม่าในยุคนั้น พยายามบอกว่าโรงเรียนต่างๆ เป็นพื้นที่ของพม่า ขณะที่ฝ่ายการศึกษากะเหรี่ยง KECD พยายามจัดการศึกษาตามแนวทางที่เหมาะสมให้ประชาชนชาวกะเหรี่ยง ทำให้เกิดการช่วงชิงอำนาจเหนือการศึกษา ส่งผลให้งานด้านการศึกษาของชาวกะเหรี่ยงไม่เติบโตเท่าที่ควร จนถึงรัฐบาลพลเรือนของออง ซาน ซู จี ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม NRPC เพื่อคอยประสานงานระหว่างรัฐบาลพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น

“หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เกิดความเห็นแตกต่างระหว่างรัฐบาลพม่ากับ KECD โดยรัฐบาลพม่าสั่งให้หยุดการเรียนการสอนทั้งหมด แต่เราเห็นว่าหากทำเช่นนั้นจะเกิดผลเสียมากกว่า เพราะบางพื้นที่ยังสามารถจัดการเรียนต่อไปได้ ทำให้กองทัพพม่าออกมาเคลื่อนไหวซึ่งเกือบจะเกิดความขัดแย้งจนต้องใช้อาวุธ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการแสดงอำนาจเหนือดินแดน เราพยายามประคับประคองสถานการณ์ให้ไปต่อได้ จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร ทำให้เหล่าครูเข้ามาอยู่ในกลุ่มอารยะขัดขืนพม่า (Civil Disobedience Movement-CDM) กันจำนวนมาก”
ภายหลังการรัฐประหารพม่าในช่วงแรก ความขัดแย้งในเรื่องการจัดการศึกษาก็ยังคงเกิดขึ้น เนื่องจากกลุ่ม CDM ต้องการให้หยุดการเรียนการสอนทั้งหมด แต่ KNU เห็นว่าการเรียนการสอนได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงไม่ต้องการให้หยุด ทำให้ KNU ถูกมองว่าเป็นผู้สร้างความขัดแย้ง มีการข่มขู่ครูและขู่จะระเบิดโรงเรียน จนกระทั่งมีการปรับความเข้าใจกัน และ ฝ่ายการศึกษากะเหรี่ยง KECD ได้รับเอาโรงเรียนที่สอนภาษาพม่าในรัฐกะเหรี่ยงมาไว้ในเครือ โดยปัจจุบันได้ใช้กติกาของ KNU เข้าไปดำเนินการ เพราะกฏหมายของรัฐบาลพม่าถูกยกเลิกหมดแล้วตามคำประกาศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government-NUG)

“มีโรงเรียนหลายแห่งเดิมที่เป็นโรงเรียนในสังกัดรัฐบาลพม่า แต่ได้หยุดการเรียนการสอนไปเพราะอยู่ในพื้นที่สู้รบ เมื่อ KNU เข้าไปสนับสนุนและเปลี่ยนชื่อป้ายเป็นโรงเรียนในสังกัด KECD ทำให้กองทัพพม่าไม่พอใจและยิงปืนใหญ่หรือใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด หลายพื้นที่การจัดการศึกษาจึงต้องดำเนินการตามป่าเขาแทนเพราะประชาชนหวั่นเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก อย่างพื้นที่ภาคเหนือของรัฐกะเหรี่ยงบริเวณตะวันตกของแม่น้ำสะโตง เป็นพื้นที่กองพล 3 เป็นเขตการศึกษาของ KECD หมดแล้ว แต่เราไม่ประกาศหรือนำป้ายไปติด ทุกอย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะหากทำให้กองทัพพม่าขายหน้า เขาจะทำลายทันที ส่งผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้นจึงให้ชาวบานจัดการพื้นที่กันเอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของ KNU อธิบายวิธีการจัดการศึกษาในภาวะสงครามซึ่งต้องใช้หลายวิธีการเพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบันเด็กนักเรียนในรัฐกะเหรี่ยงมีการศึกษาภาคบังคับถึงเกรด 12 หรือเทียบกับหลักสูตรการศึกษาไทยคือมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเดิมที่ตามระเบียบต้องเรียนให้ได้ 800-1,200 ชั่วโมง แต่เมื่อเกิดสถานการณ์สู้รบได้ผ่อนปรนให้เรียนได้ 75% ของ 800 ชั่วโมง ส่วนการต่อยอดการศึกษาหลังจบเกรด 12 ก็มีสถาบันการศึกษาตามพื้นที่ต่างๆในระดับอนุปริญญา 7 แห่งที่อยู่ในการบริหารของ KNU บางส่วนก็เรียนในหลักสูตรครูซึ่งมีมหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่สอนหลักสูตรพิเศษเหมือนเรียน กศน. โดยเฉพาะตามชายแดน
เมื่อถามว่าโรงเรียนทั้ง 1,660 แห่งอยู่ในพื้นที่สู้รบสักกี่เปอร์เซ็นต์ หัวหน้า KECD บอกว่า “จริงๆ ทั้งหมดก็อยู่ในพื้นที่สู้รบ เพราะพื้นที่ที่ปลอดการสู้รบนั้นแทบไม่มีแล้ว แม้แต่ในพื้นที่กองพล 7 ริมแม่น้ำเมยที่ติดชายแดนไทย ขณะนี้ก็ยังตกอยู่ในสถานการณ์สู้รบ”
“สิ่งที่เราเรียกร้องคือ โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย และทุกฝ่ายต้องหยุดปฎิบัติการทางทหารในโรงเรียน KECD ได้ออกประกาศเรียกร้องให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยไปแล้วหลายครั้ง ไม่ควรมีการทิ้งระเบิดโจมตีโดยอากาศยาน ไม่ควรมีการใช้โรงเรียนเป็นฐานปฎิบัติการทางทหาร ที่สำคัญคือต้องไม่มีการใช้กำลังเข้าไปจับกุมครูหรือนักเรียนเพื่อประโยชน์ของการทำสงคราม”
คำประกาศและเสียงอ้อนวอนของ KECD ดูจะเป็นไปได้ยาก ในสภาวะสงครามที่กำลังรุนแรงทั่วประเทศพม่าที่ต่างฝ่ายต่างต้องการชัยชนะเพื่อความอยู่รอดขอบชนชาติ ทำให้กรอบกติกาของสากลที่ใช้ในยามสงครามไม่สามารถถูกนำมาใช้ได้ในสนามรบแห่งนี้
“ตอนนี้เราจึงหางบประมาณเพื่อใช้ในการสร้างหลุมหลบภัยให้เด็กๆ ก่อน ขณะเดียวกันยังต้องการงบประมาณในการสนับสนุนครูด้วยเช่นกัน”
เมื่อถามว่าการสู้รบใหญ่ของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ทั่วประเทศพม่า คิดว่าจะทำให้ระบบการศึกษาของกลุ่มชาติพันธุ์พลิกฟื้นคืนอุดมการณ์หรือไม่ หลังจากถูกระบบการศึกษาของพม่ากลืนกินมายาวนาน
“เป็นคำถามที่ตอบยากครับ ในเชิงลบที่ผ่านมา KNU ถูกโจมตีมาโดยตลอดว่าปิดกั้นการศึกษาเด็กเพราะไม่อยากให้เรียนหลักสูตรพม่า ถ้าเราเปิดกว้างเกินไปจะมีการลื่นไหลไปมาก แต่ถ้าห้ามก็เป็นการสร้างความไม่พอใจ เมื่อเกิดสถานการณ์สู้รบหลายฝ่ายเริ่มเห็นความสำคัญถึงอัตลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยง KNU มีจุดยืนต่อสู้เพื่อเอกราช ครั้งนี้ทำให้เขาเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างไร”