Search

ทัพคะฉิ่นรุกคืบยึดค่ายทหารพม่าใกล้เหมืองแร่แรร์เอิร์ธ -จีนปิดชายแดนกดดัน

โดย Oh Ra Ra


 
กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าสู้รบนานนับสัปดาห์จนสามารถยึดค่ายทหารพม่าในเมืองชายแดนของรัฐคะฉิ่นได้สำเร็จ โดยค่ายดังกล่าวใกล้กับแหล่งขุดแร่แรร์เอิร์ธที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญจากพม่าไปยังจีน จึงอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายด้าน และจีนตอบโต้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าโดยสั่งปิดชายแดน สกัดเส้นทางลำเลียงอาหารและเชื้อเพลิง แต่กลุ่มต่อต้านประกาศเดินหน้าสู้ต่อจนกว่าจะยึดพื้นที่ได้ทั้งหมด


 
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2024 มีรายงานว่ากองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ได้แก่ กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) สามารถบุกยึดค่ายกองพันทหารราบ 1002 ของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ซึ่งเป็นพันธมิตรของกองทัพพม่าในเมืองปังวาได้อย่างเบ็ดเสร็จ หลังมีการปะทะต่อสู้ในพื้นที่โดยรอบอย่างต่อเนื่องนานนับสัปดาห์


 
แหล่งข่าวใน KIA เปิดเผยว่าทหารของ BGF ที่รอดชีวิตได้เปลี่ยนชุดพลเรือนหลบหนีไป ทำให้กองกำลังผสม KIA และ PDF บุกยึดค่ายได้สำเร็จพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์บางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ แต่ยังไม่อาจระบุตัวเลขชัดเจนได้ว่ามีผู้เสียชีวิตหรือเชลยศึกที่ถูกจับกุมเป็นจำนวนเท่าใด
 
ค่ายดังกล่าวอยู่ใต้การนำของ U Zabhum Tin Yen และมีนายทหารประจำอยู่ประมาณ 2,000 นาย ขณะที่เมืองปังวาเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจในเขตชี-เบว (Chipwi) ของรัฐคะฉิ่นเพราะมีพรมแดนติดกับจีน และเป็นแหล่งขุดแร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญจากพม่าไปยังจีน
 
ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน 2024 กองทัพ KIA ได้ยึดเมืองใกล้เคียงกับปังวาได้สำเร็จและมีการเจรจาหยุดยิงชั่วคราวระหว่าง KIA กับ BGF แต่แหล่งข่าวใน KIA ระบุว่าข้อตกลงหยุดยิงถูกฝ่าย BGF ละเมิดก่อน นำไปสู่การต่อสู้ระลอกใหม่ โดย KIA ผนึกกำลังกับ PDF ระดมโจมตีพื้นที่ในความดูแลของ BGF อย่างต่อเนื่องจนในที่สุดก็ยึดพื้นที่ได้สำเร็จ
 
ทั้งนี้ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลบ่งชี้ว่าพม่าผลิตแร่แรร์เอิร์ธได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่แหล่งแร่แรร์เอิร์ธที่สำคัญของพม่าอยู่ในเขตชี-เบว ของรัฐคะฉิ่น ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ BGF และมีการเปิดสัมปทานให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธตั้งแต่ปี 2016 โดยที่แร่ส่วนใหญ่ที่ขุดได้จะถูกส่งไปจีน
 
ขณะที่ข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศ Global Witness ระบุว่าแร่แรร์เอิร์ธที่ขุดจากเหมืองในเมืองปังวามีจำนวนไม่ถึง 10,000 ตันในปี 2018 แต่หลังจากสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนพม่าในปี 2021 ปริมาณการผลิตแร่แรร์เอิร์ธในพื้นที่ดังกล่าวก็เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
 
ช่วงปี 2021-2023 มีการขุดแร่แรร์เอิร์ธเพิ่มขึ้นราว 40 เปอร์เซ็นต์ในเมืองปังวาและเมืองอื่นๆ ของชี-บเว รวมประมาณ 41,700 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลม รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน
 
รายงานของ Global Witness ระบุว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ใช้แร่แรร์เอิร์ธเป็นส่วนประกอบมักจะเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่เบื้องหลังเหมืองแร่ดังกล่าวกลับเป็นกระบวนการที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งขุดแร่ โดยมีรายงานว่าแหล่งน้ำตามธรรมชาติและผืนป่าโดยรอบเหมืองแร่เกิดการปนเปื้อนสารพิษจำนวนมาก


 
นอกจากนี้ยังมีกรณีคนงานเหมืองถูกเอาเปรียบด้านค่าแรง ส่วนคนงานหญิงที่ถูกละเมิดและคุกคามทางเพศ ทั้งยังขาดความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน เพราะสภาพแวดล้อมปนเปื้อน และการป้องกันอุบัติเหตุไม่ได้มาตรฐาน โดยมีหลายกรณีที่เหมืองแร่เกิดเหตุดินถล่มทับคนงานเสียชีวิตหลายราย
 
การที่กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าสามารถยึดค่ายสำคัญของ BGF ในเมืองปังวาได้ อาจทำให้แนวร่วมรัฐบาลทหารพม่าสูญเสียรายได้จากแหล่งแร่แรร์เอิร์ธไป แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า KIA ซึ่งควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในขณะนี้จะจัดการอย่างไรกับเหมืองแร่ต่างๆ
 
แหล่งข่าวในพื้นที่เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่าช่วงที่การต่อสู้ระหว่างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ากับ BGF กำลังตึงเครียด ประชาชนหลายพันคนพยายามหลบหนีข้ามแดนไปจีน แต่ทางการจีนให้ความช่วยเหลือเฉพาะพลเมืองจีนที่เข้าไปทำงานกับเหมืองแร่ในรัฐคะฉิ่นเท่านั้น แม้แต่ทหารพม่าหนีทัพก็ถูกกีดกันไม่ให้ข้ามแดนไปยังจีน ทั้งยังมีคำสั่งยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยในระยะ 27 เมตรจากด่านชายแดนอีกด้วย


 
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้เรียกตัวแกนนำ KIA ไปตักเตือนเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2024 รวมถึงแถลงเตือนไปยังองค์การเอกราชคะฉิ่น (KIO) ซึ่งเป็นปีกการเมืองของกองทัพคะฉิ่น ให้ยุติการต่อสู้ในเมืองปังวา แต่การสู้รบยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนสั่งปิดชายแดนที่เชื่อมต่อกับเมืองหล่ายจ่า (Laiza) ที่ตั้งศูนย์บัญชาการ KIA ในรัฐคะฉิ่น ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองในพม่าระบุว่าจีนทำแบบนี้เพื่อตอบโต้ KIA ที่ไม่ฟังคำเตือนและเดินหน้าสู้รบกับกองทัพพม่าต่อจนส่งผลกระทบต่อชายแดนจีน
 
การปิดชายแดนครั้งนี้อาจทำให้ KIA ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาผู้คนในรัฐคะฉิ่น ซึ่งรวมถึง KIA ต้องพึ่งพาสินค้า อาหาร และเชื้อเพลิงที่นำเข้าจากจีน อย่างไรก็ดี แม้จะมีแรงกดดันจากจีน แต่ KIA ประกาศชัดเจนว่าจะไม่หยุดปฏิบัติการทางทหารในรัฐคะฉิ่น จึงต้องจับตามองว่าการบุกยึดพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการทหารในครั้งนี้จะมีผลกระทบตามมาอย่างไร

On Key

Related Posts

จี้รัฐทำแผนรับมือน้ำท่วมเชียงรายหลังพบเหมืองทองต้นน้ำกก นักวิชาการหวั่นซ้ำรอยปีที่แล้ว แนะรัฐเจรจากับพม่า-กองกำลังชาติพันธุ์-เร่งตรวจสารปนเปื้อนและเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 นายสืบสกุล กิจนุกร อาจาRead More →

หวั่นภาพพจน์การท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตติดลบ หลังพบใช้แรงงานข้ามชาติอื้อแต่คุณภาพชีวิตย่ำแย่-เด็กนักเรียนกว่า 300 คนเสี่ยงหลุดจากระบบหลังสถานศึกษาถูกปิด

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ด้านนายฐิติกันต์ ฐิติพฤRead More →