เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลาประมาณ 13.00 น. โครงการนิติศาสต์สากล (ภูภาคเอเชีย –แปซิฟิก) หรือ ไอซีเจ (International Commission of Jurists :ICJ ) พร้อมมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ลงพื้นที่แก่งกระจานติดตามสถานการณ์การหายตัวไปของบิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ เพื่อติดตามข้อมูลและสืบคดีของบิลลี่ในฐานะนักสิทธิมมนุษยชนที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางชีวิต โดยได้สัมภาษณ์ลับนางพิณนภา พฤาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ และลงพื้นที่ในสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เพรียงและลงพื้นที่ศึกษาหลักฐานที่ด่านตรวจแม่มะเร็ว ของอุทยานแห่งชาติฯ แก่งกระจาน
นาย ซาแมน ซาริฟี่ (Saman Zarifi) ผู้อำนวยการโครงการไอซีเจ (เอเชีย –แปซิฟิก) กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ครั้งนี้เพราะการหายตัวไปของบิลลี่ นั้นมีข่าวสารเผยแพร่ไปทั่วโลกและหากพิจารณาจากข้อมูลของเขา คือ พบว่า ในระดับภูมิภาคเอเชีย –แปซิฟิก นั้นบิลลี่ และทนายสมชาย มีการเป็นบุคคลที่มีข้อมูลการหายตัวไปเหมือนกัน หนึ่งประเด็น คือ ครั้งสุดท้ายของเขาทั้งสองที่มีคนพบเห็นนั้นพวกเขาต่างก็อยู่กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ แต่บิลลี่มีข้อมูลน่าสนใจตรงที่เขาเป็นนักต่อสู้เงียบๆ และเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของชาติพันธุ์ในกรณีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่น่าติดตามและประเทศไทยเองควรบันทึกไว้ในสังคมด้วยว่า นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติเมื่อนักสิทธิมนุษยชนสองคนถูกเจ้าหน้าควบคุมตัวแล้วหายไปในเวลาต่อมา
“ในการลงพื้นที่ครั้งนี้นอกจากรวบรวมหลักฐานเพื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่คณะกรรมการนิติศาสตร์สากลแล้ว บันทึกข้อความทุกอย่างที่พบ ผมหวังว่าจะมีประโยชน์ต่อการสืบสวนด้วย อย่างน้อยหากนานาชาติพบเห็นความผิดปกติก็จะได้ใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาระบบความปลอดภัยของนักเคลื่อนไหวรายอื่น โดยหวังว่าในอนาคตหากมีโอกาสลงพื้นที่บางกลอยอีกครั้ง จะติดตามสถานการณ์อื่นๆเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของสากลไม่ใช่แค่ในประเทศ” นายซาแมนกล่าว
ด้านนางพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่น่าห่วงสำหรับประเทศไทย คือ ข้อมูลการสืบสวนสอบสวนไม่โปร่งใสพอ กรณีบิลลี่และนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ไม่ว่าจะหายตัวไปหรือเสียชีวิต สังเกตว่าคดีความมักหายไปอย่างรวดเร็ว จุดจบคือไม่สามารถหาหลักฐานอะไรได้มากมายพอจะมัดตัวคนทำผิดได้ การเดินหน้าสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ของหมู่บ้านไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอดำเนินการมาสักพักแล้วการคุ้มครองคนเหล่านี้กลับไม่มี
“หากเคลื่อนไหวแล้วสำเร็จจะเป็นผลดีต่อสังคมเสมอ แต่กรณีเคลื่อนไหวแล้วมาเจอทางตัน ถูกคุกคามในช่วงรอยต่อของการต่อสู้กับความขัดแย้ง ส่งผลให้ไม่มีความความปลอดภัยในชีวิต ที่ซ้ำร้ายเมื่อเกิดขึ้นแล้วกระบวนการยุติธรรมทำอะไรไม่ได้ คือจุดอ่อนของสังคมไทย ซึ่งส่วนนี้ควรจะเปิดโอกาสให้ทางนานาชาติรับรู้ และข้อเสนอของมูลนิธิ คือ สังคมไทยควรจะมีระบบการสืบสวนและสอบสวนคดีความเหล่านี้ที่เข้มแข็งมีอิสระจริงๆ ” นางพรเพ็ญ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการติดตามข้อมูลจากด่านตรวจแม่มะเร็ว เจ้าหน้าไอซีเจ พบความผิดปกติในสมุดบันทึกข้อมูลการเข้า–ออกในด่านตรวจ คือ ไม่มีการบันทึกข้อมูลทะเบียนรถใดๆที่ตรงกับทะเบียนรถของบิลลี่ คือ ขงพ.888 เพชรบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ด่านตรวจระบุว่าฯ อาจเป็นเพราะรถชาวบ้านที่คุ้นเคย เจ้าหน้าที่ซึ่งทำเวรประจำวันในวันที่บิลลี่เข้ามาจึงไม่ได้เขียนลงรายละเอียดไว้
ขณะที่เจ้าหน้าที่ ทางด้านสถานีตำรวจแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้มีการรวมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวรชายแดน (ตชด.)อาสาสมัครหมู่บ้าน (อส.) และเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) เพื่อออกเดินทาง ตามหาบิลลี่ และติดตามหลักฐานตามร่องรอยต่างๆ ได้แก่ เส้นทางสามยอดถึงแยกพุไทร แยกพุไทรไปแม่มะเร็ว แยกพุไทรไปไร่นายชัยวัฒน์ หัวหน้าอุทยานฯ แยกพุไทรไปทีทำการอุทยาน และด่านแม่มะเร็วไปอุทยานฯ โดยมีการกระจายกำลังจากเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่างๆ เพื่อติดตามหาตัวบิลลี่ด้วยการเดินเท้าตามเส้นทางต่างๆ ระยะทางจุดละประมาณ 7 กิโลเมตร ถึง 20 กิโลเมตร