เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 5 พ.ย. ที่ผ่านมา คณะทำงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ลงพื้นที่ติดตามปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ตามคำร้องเรียนของชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เดือดร้อนจากกรณีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยดั้งเดิมทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมีตัวแทนชาวบ้านจากหลายหมู่บ้าน อาทิ บ้านลิ้นช้าง บ้านท่าเสลา บ้านพุน้ำร้อน บ้านห้วยเกษม บ้านห้วยกระซู่ บ้านสาลิกา เข้าร่วมให้ข้อมูล
นายสมบัติ ชูมา ประธานกรรมการบริหารพีมูฟ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากชาวบ้าน เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านกะเหรี่ยงใน ต.หนองหญ้าปล้อง มีปัญหาความขัดแย้งกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาอย่างยาวนาน ในเรื่องการจัดการพื้นที่ทำกินแบบไร่หมุนเวียนและที่อยู่อาศัย รวมถึงพื้นที่แนวเส้นเขตอุทยานฯ แก่งกระจานที่มีการกำหนดใหม่ จนมีการตรวจยึดที่ดินและดำเนินคดีกับชาวบ้านข้อหาบุกรุกป่า ทั้งที่ชุมชนกะเหรี่ยงตั้งชุมชนและมีวิถีทำไร่หมุนเวียนสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน อีกทั้งมีการศึกษายอมรับว่าไร่หมุนเวียนเป็นวิถีเกษตรที่สามารถรักษาความยั่งยืนและสมดุลของระบบนิเวศไว้ได้
“พื้นที่หนองหญ้าปล้องมีไร่หมุนเวียนและชุมชนที่เป็นปัญหาอยู่ประมาณ 2,500 ไร่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ปัญหาอื่นๆ ในผืนป่าแก่งกระจาน เช่น ชุมชนบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี บ้านป่าหมากจ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมไปถึงพื้นที่ชุมชนในผืนป่าตะวันตก จ.กาญจนบุรี และ จ.สุพรรณบุรี ต้องเร่งแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน เพื่อให้เกิดการคุ้มครองวิถีชีวิตคนกะเหรี่ยงตามมติ ครม. 3 ส.ค.53”
นายสมบัติ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 9 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริงทั้งหมดจะถูกนำไปพิจารณา เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา และหลังจากนั้นจะมีการลงพื้นที่ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการสำรวจแนวเขตป่าอนุรักษ์ที่ทับซ้อมที่ทำกินของชาวบ้านเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ก่อนสรุปแนวทางแก้ปัญหาให้รัฐบาลผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป
ชาวบ้าน(ขอสงวนนาม) ชุมชนลิ้นช้าง เปิดเผยว่า ครอบครัวของตนถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเข้ายึดที่ทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นที่ทำกินสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยปี 2556 จนท.เข้ามาปักป้ายว่าที่ดินถูกยึดเพื่อดำเนินคดี ตนจึงกลัวและไม่กล้าเข้าไปทำไร่ แต่ยังเหลือที่ดินอีกแปลงที่ไม่ถูกยึด แต่ส่งผลให้ไม่สามารถย้ายแปลงหมุนเวียนเพื่อฟื้นฟูผืนดินได้ตามวิถีการทำไร่หมุนเวียน พืชพรรณจึงไม่งอกงามเหมือนเดิม แต่ชาวบ้านก็ไม่อยากเปลี่ยนไปทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้ปุ่๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง
“ตอนประกาศกฏหมายอุทยานใหม่ เราไปยื่นเรื่องว่าอยู่มาก่อนอุทยานในกำหนด 240 วัน แต่ทำไมที่ดินของปู่ย่าตายายที่ทำกินกันมายังถูกยึดไป เส้นเขตอุทยานที่ลากใหม่ก็งอกมาทับที่ไร่หมุนเวียน เราต้องการแค่ทำไร่หมุนเวียนได้ในที่เดินดั้งเดิม ไม่ได้ต้องการที่ดินเพิ่ม อยากให้รัฐบาลระบุในกฎหมายเลยว่าให้คนกะเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงได้ เราจะได้ไม่ต้องกลัว” ชาวบ้าน กล่าว
ชาวบ้าน(ขอสงวนนาม) ชุมชนท่าเสลา กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่แก้ปัญหาให้ชาวบ้าน อาจมีชาวบ้านอีกจำนวนมากจะถูกจับกุมและดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าเหมือนอย่างกรณี ป้าวันเสาร์ ภุงาม ที่ถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน เพราะตอนนี้ที่ทำกินไร่หมุนเวียนของชาวบ้านจำนวนมากทับซ้อนอยู่กับเขตอุทยานฯ แก่งกระจาน