เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 นายหม่อง (นามสมมติ) แรงงานพม่าที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.มินอ่อง ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า แสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนตัวเลขแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนถูกต้องระหว่างหารือกับ น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ในการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 10 ที่ประเทศจีน ว่าการร้องขอข้อมูลจากรัฐบาลพม่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ในทางหนึ่งเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลพม่าที่จะขอข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนของตัวเอง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็รู้สึกว่าไม่ต้องการให้รัฐทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับแรงงานหรือคนอื่น ๆ ที่ทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่บ้านเมืองของพม่าไม่ปกติ และรัฐบาลพม่ามีท่าทีไม่สนใจคำวิจารณ์จากภายนอกหรือจากองค์กรระหว่างประเทศ หากรัฐบาลไทยเลือกที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานพม่าในประเทศไทย จะส่งผลกระทบต่อตัวตัวแรงงงานพม่าแน่นอน
“ที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือเรากำลังฟังเสียงจากฝั่งไทยว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร เนื่องจากการดำรงชีวิตของแรงงานพม่าทุกคนในไทยล้วนพึ่งพาการตัดสินใจและท่าทีของรัฐบาลไทยมากกว่า สิ่งที่กังวลที่สุดคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผมและเพื่อนร่วมงาน หากรัฐบาลไทยตัดสินใจให้ข้อมูลตามที่รัฐบาลพม่าเรียกร้อง อาจทำให้พวกเราต้องเผชิญกับความเสี่ยงในชีวิตและการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยในตอนนี้ว่าต่อพวกเราจะต้องเผชิญอะไรอีก” นายหม่องกล่าว
ขณะที่ นางซิน(นามสมมติ) แรงงานพม่าใน จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ส่วนตัวมีความกังวลที่รัฐบาลพม่าเรียกร้องข้อมูลแรงงานพม่าจากรัฐบาลไทย เพราะนั่นอาจจะเป็นการขอข้อมูลเพื่อตามเก็บการเก็บภาษี 2% ที่อาจจะถูกหักจากแรงงานพม่าในไทย ทำให้พวกตนรู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในความโปร่งใสของรัฐบาลพม่า
“รัฐบาลพม่าควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานมากกว่าการเก็บภาษีจากแรงงานที่อยู่ในต่างประเทศ เพราะแรงงานพม่าในไทยส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาการทำงานที่ยากลำบากและไม่มีกฎหมายคุ้มครองที่เพียงพออยู่แล้ว การที่รัฐบาลพม่าไม่ได้ให้ความชัดเจนหรือมีการประสานงานที่ดีเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงาน ทำให้พวกเรารู้สึกกังวลว่าข้อมูลที่ถูกเก็บไปอาจจะนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบแทนที่จะได้รับการช่วยเหลือจริงๆ”นางซิน กล่าว
นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวว่าท่าทีของผู้นำพม่านั้นคือดูแปลกมากเพราะว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลพม่าเคยมีนโยบายที่จะไม่ส่งแรงงานผู้ชายมาทำงานในประเทศไทยหรือไม่ให้ไปทำงานต่างประเทศเพราะต้องการเกณฑ์แรงงานเข้าสู่กองทัพ แต่กลับแสดงความห่วงใยนำไปสู่ความน่าสงสัยซึ่งดูขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลพม่าที่เหมือนจะไม่สนับสนุนแต่กลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
นายอดิศรกล่าวว่า ถ้าพล.อ.มินอ่องหลายห่วงใยแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยจริง ๆ ก็ควรจะแก้ปัญหาในเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องสภาพความเป็นอยู่ของคนงาน เรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากแรงงานพม่าที่อยู่ในประเทศไทย โดยควรลดปัญหาความยุ่งยากในการนำเข้าแรงงานและหาทางลดความเครียดจากการบริหารจัดการ ซึ่งรอบนี้แรงงานที่ต้องกลับไปต่อ MOU ที่พม่า ก็ควรเปิดให้แรงงานต่ออายุการทำงานในไทยไปเลยคือถ้าแสดงความห่วงใยอย่างนี้จะดีกว่ามาห่วงใยเรื่องว่าใครอยู่ที่ไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งดูมีความเสี่ยงในแง่ความปลอดภัยของคนงานเกินไป
“ข้อมูลบางอย่างก็ไม่ควรเปิดเผยมากเกินไป เช่น ข้อมูลส่วนตัวของแรงงาน เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการดูว่าใครอยู่ที่ไหน อย่างไรบ้าง ก็ไม่ควรเผยแพร่ข้อมูลแบบนั้น พอทางการพม่าแสดงความห่วงใยแบบนี้ยิ่งทำให้ทุกคนเริ่มกังวลใจและเป็นห่วงตัวเอง รวมไปถึงว่ามีการแสดงความห่วงใยในเรื่องของการโจรกรรมออนไลน์ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน คนละประเด็นกันเลย”นายอดิศรกล่าว
ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวว่า เรื่องที่น่าห่วงก็เรื่องของภาษีของแรงงานที่ต้องจ่ายให้รัฐบาลพม่า เขาอาจจะได้ดูว่าเราจะเรียกเก็บภาษีจากคนงานเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้มีค่าใช้จ่ายที่แรงงานต้องแบกรับเพิ่มขึ้น โดยส่วนตัวไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีไทยจะเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนที่โยนเรื่องให้กระทรวงการต่างประเทศดูแลเรื่องนี้โดยคิดได้ 2 แบบ 1. ไม่เข้าใจประเด็นว่าหน่วยงานที่ดูแลต้องเป็นกระทรวงแรงงานไม่ใช่กระทรวงการต่างประเทศ 2. รู้แต่ไม่อยากรับก็โยนให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นคนดูแลไปซึ่งก็ใช้ช่องทางการทูตในการเจรจากัน
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.