ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2567 ได้มีการลงพื้นที่สำรวจแม่น้ำโขง ตั้งแต่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย จนถึงเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งจะมีการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนปากแบง Pak Beng dam กั้นแม่น้ำโขง เหนือเมืองปากแบง แขวงอุดมไชย 14 กิโลเมตร และเขื่อนหลวงพระบาง Luang Prabang dam เหนือเมืองหลวงพระบาง 25 กิโลเมตร
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ดอนเทด ซึ่งเป็นจุดสร้างเขื่อนปากแบงโดยบริเวณดังกล่าวยังไม่มีการก่อสร้างใดๆ ในลำน้ำโขง แต่ได้มีการตัดถนนเพื่อเตรียมจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ ชาวบ้านเล่าว่าได้มีคนไทยเข้ามาสำรวจพื้นที่แล้วโดยทางการได้แจ้งกับชาวบ้านว่าจะมีการสร้างช่องให้เรือผ่าน ขณะที่หลายหมู่บ้านจะต้องถูกโยกย้ายเมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เมื่อได้สอบถามชาวบ้านในเมืองปากแบงซึ่งจะอยู่ท้ายน้ำจากเขื่อนแม้ต่างรู้สึกวิตกกังวลเพราะเชื่อว่าส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของชุมชน แต่ก็ไม่มีใครกล้าออกมาคัดค้าน
ทั้งนี้ตลอดเส้นทางริมแม่น้ำโขงเป็นที่น่าสังเกตว่าได้มีการขุดร่อนทองคำ ทั้งชาวบ้านที่จับกลุ่มกันมาขุดดินที่มีสายแร่ทองคำและกลุ่มทุนเล็กทุนใหญ่ที่ใช้เครื่องจักร โดยบริเวณริมน้ำเหล่านี้จะถูกน้ำท่วมทั้งหมดเมื่อมีการสร้างเขื่อนหลวงพระบางและเขื่อนปากแบง
ขณะที่จุดที่มีการสร้างเขื่อนหลวงพระบางที่อยู่ ใกล้กับปากแม่น้ำอูและถ้ำติ่ง มีการก่อสร้างคืบหน้ามากกว่า 30 % โดยมีการกั้นลำน้ำโขงซีกหนึ่ง แต่ยังมีร่องน้ำให้เรือแล่นผ่านได้อีกซีกหนึ่ง โดยบริษัทเอกชนผู้พัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบางกำลังปรับพื้นที่แปลงอพยพเพื่อรองรับชาวบ้านที่ต้องถูกอพยพออกจากหลายหมู่บ้าน โดยบางหมู่บ้านได้ถูกย้ายไปแล้ว ขณะที่หลายหมู่บ้านกำลังเตรียมตัวอพยพไปอยู่พื้นที่แห่งใหม่
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่หมู่บ้านลาดหาน ซึ่งมีประชากรราว 180 ครัวเรือนที่ต้องอพยพ รวมถึงวัดเก่าแก่อายุนับร้อยปีต้องถูกโยกย้ายด้วยเช่นกัน วัดดังกล่าวมีพระพุทธรูปพระประธานในอุโบสถจะต้องถูกน้ำท่วมเนื่องจากไม่สามารถขนออกไปได้เพราะเป็นพระพุทธรูปที่ทางชุมชนปั้นขึ้นมาเองซึ่งยึดติดอยู่กับฐานที่ตั้ง
ทั้งนี้จากการสอบถามชาวบ้านลาดหาน ต่างบอกว่าไม่มีใครอยากอพยพ แต่ไม่สามารถคัดค้านคำสั่งได้โดยทางบริษัทเอกชนได้จ่ายค่าชดเชยในการสูญเสียบ้านให้แล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องอพยพไปยังพื้นที่สร้างบ้านแห่งใหม่ได้เมื่อใด
“ชาวบ้านไม่มีใครอยากย้ายหรอก แต่เมื่อเป็นคำสั่งของทางการเราก็ต้องทำ เราก็หวังว่าบริษัทจะจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้อย่างที่ตกลงไว้ อย่าให้เหมือนกับชาวบ้านที่อพยพจากเขื่อนอื่นเลย บางแห่งจนวันนี้ก็ยังไม่ได้รับค่าชดเชยเรื่องที่ดินทำกิน บางครอบครัวก็อยู่ในที่แห่งใหม่ที่เป็นแปลงอพยพไม่ได้เพราะไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร ชีวิตพวกเราอยู่กับแม่น้ำโขงมาตั้งแต่รุ่นก่อนๆ ถ้าไม่มีแม่น้ำเราก็อยู่ไม่ได้” ชาวบ้านรายหนึ่ง กล่าว
น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ International Rivers กล่าวว่ากรณีโครงการเขื่อนปากแบงพบว่าข้อมูลจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีการใช้ข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบันและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบไม่ตรงตามความจริง ขณะที่กระบวนการรับฟังความเห็นฯ ก็ไม่เป็นตามกระบวนการที่ครอบคลุม ซึ่งมีการยื่นคำร้องให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบ อาทิ คณะกรรมาธิการในรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) กรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยที่กระบวนการต่างๆ ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างที่ควรจะเป็น
“เรื่องสัญญาเงินกู้โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ขณะนี้ทราบว่าอยู่ระหว่างการรอรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน (Transboundary EIA-TbEIA) เนื่องจากเป็นเงื่อนไขของธนาคารที่ลงนามในหลักการ Equator Principle ก่อนที่สัญญาจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเราหวังว่าหากมีการทบทวนกรอบการพิจารณาใหม่ครอบคลุมผลกระทบอย่างรอบด้าน อาทิ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ราคาไฟฟ้าต่อหน่วยที่แพงจนเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าชาวไทยทั้งประเทศ ผลกระทบต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจท้องถิ่น เป็นต้น” น.ส.เพียรพร กล่าวและว่าตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) ให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนรษฎร ว่ารายงานผลกระทบข้ามพรมแดนจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นเอกสารดังกล่าว กลุ่มรักษ์เชียงของจึงได้ทำหนังสือถึงกฟผ. และบริษัทเพื่อขอเอกสาร
“ตรงนี้ยังเป็นปัญหาว่ารายงานผลกระทบข้ามแดนนี้จะใช้กฎหมายใดกำกับ สผ.( สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ก็ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติการศึกษา TbEIA นี้ และเราไม่รู้ว่าใช้มาตรฐานใดในการพิจารณา คำถามว่าภัยพิบัติน้ำท่วมเดือนที่ผ่านมาทำให้คนเชียงราย ทั้งแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำอิง น้ำงาว น้ำกก น้ำสาย น้ำรวก ฯลฯ ต่างรับรู้สถานการณ์แล้วว่าหากมีการสร้างเขื่อนปากแบงจะทำให้แม่น้ำสาขาที่หลากท่วมระบายลงโขงได้ช้า ความเสียหายจากน้ำท่วมและน้ำหลากมันจะเป็นอย่างไรหากมีเขื่อนกั้นอย่างถาวร” น.ส.เพียรพร กล่าว
ผอ.ฝ่ายรณรงค์ฯ กล่าวว่าล่าสุดได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าขอให้จัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และคำอธิบายว่าหากมีภาวะฝนตกรุนแรงเกิดขึ้นอีกเหมือนเมื่อเดือน สิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา ถ้ามีเขื่อนปากแบง ปริมาณน้ำจะขึ้นสูงแค่ไหน น้ำจะท่วมพื้นที่ใดบ้าง เป็นพื้นที่เกษตรกี่พันไร่ เป็นที่อยู่อาศัยกี่ครัวเรือน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ สำหรับในลาวตามลำน้ำโขงตั้งแต่เขื่อนปากแบงถึงปากทา มีอย่างน้อย 25 หมู่บ้านอยู่ตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำโขงที่ต้องได้รับผลกระทบโดยตรง
“ในฐานะลูกหลานแม่น้ำโขง ไม่ใช่เรื่องว่าเราอยู่ประเทศไหน แต่เป็นเรื่องแม่น้ำนานาชาติที่เราใช้ร่วมกันเกี่ยวข้องกับค่าไฟของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือน ค่าไฟฟ้าแพงทำให้เราสูญเสียเช่นเดียวกับทรัพยากรธรรมชาติแม่น้ำโขงที่จะเสียหาย”น.ส.เพียรพร กล่าว
น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้จัดการมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Center) กล่าวว่าก่อนหน้านี้ได้มีการฟ้องศาลปกครองกรณีการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี แต่ด้วยสัญญาซื้อไฟขณะที่ยื่นฟ้องนั้นยังไม่มีการลงนาม โดยเราคิดว่าต้องฟ้องก่อนเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้า สำหรับโครงการปากแบงมีการฟ้องหน่วยงานที่ดูแลแม่น้ำโขง (ปัจจุบันคือ สทนช.) ซึ่งคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยจะต้องประชุมร่วมและให้ความเห็น เราก็เห็นว่าไม่ได้ทำหน้าที่ที่ถูกต้อง แต่ว่าศาลมองว่าเขื่อนอยู่ในลาว กลายเป็นว่าอยู่นอกพื้นที่อำนาจ
น.ส.ส. รัตนมณี กล่าวว่า กฎหมายไทยมีช่องว่างที่ไม่สามารถกำหนด หรือบังคับโครงการที่สร้างนอกพรมแดนแต่มีผลกระทบข้ามแดนมายังประเทศไทย อันนี้ชัดเจนมาก จึงมีการพูดคุยกันและทำหนังสือติดตาม และร้องให้หน่วยงานตรวจสอบผลกระทบ ที่ไม่ใช่แค่ปัญหาระบบนิเวศชายฝั่ง 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง แต่รวมถึงสัญญาซื้อไฟฟ้าที่จะทำให้ค่าไฟสูงขึ้นเพราะเป็นการนำเข้าไฟฟ้า
ทนายความผู้นี้กล่าวว่า กรณีโครงการสร้างเขื่อนปากแบง ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อไฟไปแล้ว โดยในสัญญาซื้อไฟฟ้านั้น ผู้พัฒนาโครงการต้องทำรายงานผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งมีที่มาจากกฎหมายของลาว รายงานนี้จะถูกพิจารณาในลาว โดยเราไม่รู้เลยว่ารายงานการศึกษาผลกระทบข้ามแดนทำรายงานข้ามมาถึงไทยแค่ไหน กระบวนการขั้นตอนการศึกษาเป็นอย่างไร ปัญหาอีกประการหนึ่งที่เราไม่รู้คือที่ กฟผ.ระบุว่าต้องมีการทำรายงานผลกระทบข้ามแดนนั้น กฟผ.ได้เตรียมกระบวนการพิจารณาไว้หรือไม่ว่า ถูกต้องและเป็นไปตามหลักการมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งเราก็ต้องเรียกร้องให้ กฟผ.เปิดเผยเรื่องนี้
“ถ้าจะบอกว่าการทำอีไอเอโดยผ่านการพิจารณาของลาวผ่าน ก็ถือว่าจบ ต้องทำตามขั้นตอนเงื่อนไขของ กฟผ.หรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่น่าจะถูกต้องเท่าไหร่ เพราะเราไม่สามารถตรวจสอบได้ จะต้องมีกระบวนการเข้าไปตรวจสอบ แล้วเราสามารถดำเนินการฟ้องหรือทำอะไรเพิ่มได้หรือไม่ กรณีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า” น.ส.ส.รัตนมณี กล่าว
ทนายความ ส.รัตนมณี กล่าวว่า เรายังต้องการฟ้องเรื่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมองว่าในหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs on BHR) ที่ประเทศไทยยอมรับหลักการนี้มาปรับใช้จนกระทั่งมีแผนปฏิบัติการระดับชาติ 2 ฉบับ ซึ่งยอมรับว่าผู้ซื้อไฟฟ้าก็คือส่วนหนึ่งของห่วงโซ้อุปทาน ควรที่จะต้องกำกับตรวจสอบผู้ที่รับซื้อไฟฟ้าได้ ซึ่งเป็นข้อท้าทายที่เราจะฟ้องศาลปกครองต่อไป ในการมองในมุมกว้างนั้นทุกคนมีสิทธิที่จะปกป้องประโยชน์สาธารณะ ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสาธารณะ แม้กฎหมายไม่ชัดเจน แต่เรายืนยันว่าเรามีสิทธิร่วมในการจัดการทรัพยากร ทรัพย์สินสาธารณะ อีกประการหนึ่งคือ กฟผ.จะต้องปฏิบัติตามสัญญาซื้อไฟว่ามีเงื่อนไขอะไรกับการสร้างเขื่อนปากแบง
“ผู้ให้สินเชื่อควรรับผิดชอบอย่างไร มีกฎหมายใดที่ผู้ให้สินเชื่อต้องรับผิดชอบ ตามกฎของ กลต.(คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) องค์กรที่เป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องทำรายงานความยั่งยืน (One-Report 56-1) และการที่ประเทศไทยได้ 1 ในเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ส่วนหนึ่งเพราะโปรโมทตัวเองว่ามีส่วนผลักดันการเคารพสิทธิ ในเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” ทนายความกล่าว
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) กล่าวว่าการที่ กฟผ.ให้คู่สัญญาทำรายงานผลกระทบข้ามแดนก่อนการเซ็นสัญญาเงินกู้ ความสำคัญอยู่ที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ทราบคือการศึกษาผลกระทบทำเฉพาะพื้นที่ใกล้หัวงานเขื่อนในลาว ทั้งๆ ที่ผลกระทบจะเกิดในประเทศไทย ตั้งแต่ อ.เวียงแก่น แต่กลับไม่มีผลการศึกษา ดังนั้นกฟผ. ต้องมีข้อกำหนดว่าการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนจะครอบคลุมหัวข้อใดบ้าง เช่น ผลกระทบต่อชุมชน ผลกระทบการอุบัติซ้ำ ฯลฯ
“เราทราบว่า กฟผ.ยังไม่ได้มีข้อกำหนดเหล่านี้ไว้ ฉะนั้นคู่สัญญาจึงจ้างบริษัทที่ปรึกษาไปทำการศึกษา ซึ่งจะแล้วเสร็จต้น พ.ย.นี้ แต่จะเห็นว่าการให้ไปศึกษาโดยไม่มีกรอบ กฟผ.ต้องวางกรอบให้ชัดเจนก่อน เมื่อศึกษาเสร็จแล้ว ต้องทำเป็นรายงานเฉพาะ และหน่วยงานที่มาดูแลพิจารณาจะประกอบด้วยหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านใดบ้าง เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ประมง การย้ายถิ่นฐาน ด้านสังคม ทั้งหมดนี้ทราบว่า กฟผ.ไม่ได้ทำ จึงจี้ถามไปที่ กฟผ.ว่า ควรกำหนดกรอบให้ชัดเจนก่อนว่ามีกรอบและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร เพราะเมื่อจะถึงเวลาที่จะส่งรายงานผลกระทบที่ กฟผ.บอกว่าสามารถเอาเงื่อนไขผลกระทบไปยกเลิกสัญญาได้” นายหาญณรงค์ กล่าว
นายหาญณรงค์กล่าวว่า ความจำเป็นเรื่องพลังงานซึ่งมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเหลือ 40-50 เปอรืเซนต์ แม้ไม่สร้างเขื่อนปากแบง 15-20 ปีก็ยังไม่มีความ เราพบว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนไทย แต่เป็นผลประโยชน์เป็นของผู้พัฒนาโครงการมากกว่าจึงอยากให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการยกเลิกโครงการ หากผู้พัฒนาโครงการไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่ต้องส่งรายงานผลกระทบฯ ได้ทัน
“ฟังจากเครือข่ายลุ่มน้ำโขงทราบว่ายังไม่มีกระบวนการศึกษาสอบถามพี่น้องประชาชน ยังไม่ได้ลงพื้นที่ ไม่ได้ศึกษารายประเด็น ว่าพื้นที่ได้รับผลกระทบกี่ไร่ พืชผลที่ดินจะเสียหายเท่าไหร่ เมื่อมีน้ำเท้อ ฯลฯ โครงการนี้เหมือนเร่งรีบ ซึ่งระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่สวยงามนี้ควรส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยว และสนับสนุนให้ประชาชนมีรายได้ที่ยั่งยืน”นายหาญณรงค์ กล่าว
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.