เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 มีรายงานข่าวแหล่งข่าวชายแดนไทยด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า เมื่อคืนวันที่ 21 เหยื่อการค้ามนุษย์ในแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยแห่งหนึ่งซึ่งเป็นชาวศรีลังกา ประมาณ 20-25 คน และเหยื่อชาวแอฟริกาอีกจำนวนหนึ่ง ได้รับการปล่อยตัวจากมาเฟียจีนเทาที่ควบคุมแหล่งอาชญากรรม ภายหลังจากที่รัฐบาลศรีลังกาได้หาช่องทางประสานไปยังกลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงที่ควบคุมดูแล ขณะที่เหยื่อชาวต่างชาติอีกหลายร้อยคน รวมถึงชาวลาว 19 คนยังถูกกักขังและบังคับให้ทำงานคอลเซ็นเตอร์ต่อไป และยังไม่มีท่าทีที่จะได้รับการช่วยเหลือใดๆแม้ว่าจะมีการร้องขอความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานในประเทศไทย อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงการทำหนังสือถึง น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม หรือเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา

เหยื่อชาวลาวรายหนึ่งซึ่งยังถูกบังคับให้ทำงานและกักขังอยู่ในแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย กล่าวว่า ตนถึงกับร้องไห้ที่เห็นเพื่อนๆชาวศรีลังกาและแอฟริกาได้รับความช่วยเหลือออกไป แม้ดีใจแทนพวกเขาแต่เมื่อหันกลับมามองพวกตนแล้ว ยังไม่มีวี่แววว่ารัฐบาลลาวจะให้การช่วยเหลือใดๆ โดยที่ผ่านมาได้เคยร้องขอความช่วยเหลือไปที่สถานเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศพม่าหลายครั้งแล้ว แต่ได้รับคำตอบที่ไม่มีความหวังโดยระบุว่าเป็นพื้นที่ของกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่รัฐบาลพม่าเข้าไม่ถึงจึงต้องให้ช่วยตัวเองไปก่อน

“แต่ที่เราเห็นคือรัฐบาลศรีลังกาเขาสามารถช่วยเหลือคนของเขาออกไปได้หมดแล้ว แต่รัฐบาลลาวกลับไม่สามารถช่วยเหลือพวกเราได้เลย ครอบครัวของพวกเราที่อยู่ในลาวก็พยายามกันอย่างเต็มที่แล้ว เราจึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลไทยช่วยเราด้วย”เหยื่อชาวลาว กล่าว

ด้าน พ.อ.ณัฐกร เรือนติ๊บ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู อ.แม่สอด จ.ตาก ให้สัมภาษณ์ว่ายังไม่ทราบเรื่องที่มีการช่วยเหลือชาวศรีลังกาออกมาจากแหล่งอาชญกรรมริมแม่น้ำเมยตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 21 แต่ในวันเดียวกันนี้ได้มีการช่วยเหลือคนอินเดีย 1 คนและคนจีน 2 คน ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่าชาวศรีลังกาที่ได้รับการช่วยเหลือครั้งนี้เข้ามาในช่องทางใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีชาวต่างชาติถูกบังคับให้ทำงานและถูกกักขังอยู่ในแหล่งอาชญากรรมฝั่งเมืองเมียวดี สามารถร้องขอความช่วยเหลือได้ที่ช่องทางใดบ้าง พ.อ.ณัฐกร กล่าวว่ากระบวนการมีหลายช่องทางขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงาน หากเป็นของตำรวจก็ผ่านมายัง ตม. ส่วนทหารก็ผ่านมายังกองทัพ หรือไม่ก็ร้องผ่านมายังกระทรวงการต่างประเทศ หรือไม่ก็หน่วยงานด้านปกครอง แต่ท้ายสุดก็ถูกรวมในพื้นที่ที่ประสานกับฝั่งประเทศเพื่อนบ้านโดยมีคณะกรรมการชายแดน(TBC) แต่ความยากคือพื้นที่ฝั่งตรงกันข้ามมีชนกลุ่มน้อยอยู่ 5 กลุ่ม ซึ่งรัฐบาลพม่าไม่สามารถสั่งการได้ทั้งหมดจึงต้องประสานในภาพย่อยว่าผู้ประสบเหตุอยู่ในช่องทางใดซึ่งก็จะประสานไปยังจุดนั้น

“รายละเอียดแต่ละเคส แต่ละราย จะแตกต่างกันไปก็ต้องคอยแก้ปัญหาเอา บางส่วนไปเอาเงินเขามาก่อน บางส่วนถูกหลอกไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการ ต้องแก้แต่ละเคส เพราะไม่เหมือนกัน”พ.อ.ณัฐกร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีคนลาว 19 รายถูกหลอกและกักขังทรมานอยู่ในพื้นที่ตรงกันข้ามกับ ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก มีคำแนะนำหรือไม่ว่าช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กล่าวว่า แยกเป็น 2 ประเด็นคือ 1 คนจงใจเดินทางออกไปโดยหาช่องทางต่างๆข้ามไปเมียวดีเพราะเชื่อว่าไปแล้วได้ทำงานที่มีรายได้ดี แต่เมื่อถูกกักขังก็ร้องขอกลับมา ถ้าโดยกระบวนการแล้ว สถานเอกอัครราชทูตลาวสามารถทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศไทยเพื่อขอให้ประสานความช่วยเหลือได้ โดยส่งข้อมูลและพิกัดต่างๆที่ได้รับมา และกระทรวงการต่างประเทศก็จะแจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพบก รวมถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความร่วมมือให้ติดตามความช่วยเหลือ

“ตรงนี้เป็นไปตามลำดับชั้น ซึ่งพวกผมก็ทำงานง่ายขึ้น ยิ่งมีข้อมูลมาด้วย พวกผมก็พร้อมให้การช่วยเหลืออยู่แล้ว ยิ่งมีการทำหนังสือเป็นทางการ เราก็ทำงานง่ายด้วย”พ.อ.ณัฐกร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการใช้พื้นที่ช่องทางธรรมชาติริมแม่น้ำเมยจากฝั่งไทยข้ามไปแหล่งอาชญากรรมฝั่งเมียวดีเป็นไปอย่างสะดวก ควรแก้ปัญหาอย่างไร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนูกล่าวว่า กำลังทหารมีภารกิจหลักป้องกันประเทศและการรุกล้ำอธิปไตย เราจึงวางกำลังไว้ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งหรือมีการสู้รบ แต่ภารกิจสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองหรือคนที่ลักลอบออกเป็นงานเสริมที่ทหารเข้ามาช่วยโดยใช้วิธีลาดตระเวน เพียงแต่ความยากคือการจับกุมคนเหล่านี้ต้องจับขณะที่กำลังข้ามน้ำ ถ้าจับริมตลิ่งก็ไม่สามารถดำเนินคดีกับเขาได้ ตรงนี้ถ้าจะแก้ไขจริงๆต้องทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน

เมื่อถามว่าปัจจุบันท่าข้ามตลอดริมแม่น้ำเมยมีมากเกิดไปหรือไม่ พ.อ.ณัฐกร กล่าวว่า ปัจจุบันที่ อ.แม่สอดมีท่าข้ามเปิดถูกต้องอยู่ที่ 57 แห่ง ยังไม่รวมช่องทางธรรมชาติช่องเล็กช่องน้อยอีก ซึ่งเป็นอำนาจของศูนย์สั่งการชายแดนที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานว่าจะเปิดหรือปิดช่องทางใด

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.