เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษาและอาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวชายขอบ”ถึงสถานการณ์ชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างกองทัพแห่งสหรัฐว้า (United Wa State Army -UWSA) หรือว้าแดง กับกองทัพไทย หลังจากมีการเจรจาให้ UWSA ถอนกำลังออกไปจากพื้นที่ที่ยึดครองด้านดอยหัวม้า อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเขตแดนไทย แต่กองทัพว้าแดงไม่ยินยอม ว่าการตั้งฐานของว้าแดงที่ดอยหัวม้า หนองหลวง อ.ปายนั้น ลึกเข้ามาในแผ่นดินไทย โดยกองทัพภาค 3 พยายามเจรจาและประท้วงผู้แทนของว้าเป็นระยะๆตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ว้าก็ไม่ถอน ครั้งนี้จึงน่าจะเป็นจุดสำคัญที่ทางการไทยขีดเส้นตายให้กับว่าและเตรียมปฏิบัติการทางทหารเพื่อชิงพื้นที่คืน
รศ.ดุลยภาคกล่าวว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงไทยพยายามหลายครั้งเพื่อให้เกิดสันติภาพ แต่ทางว้ายังยืนกรานและยั่วยุว่าหากเราใช้กำลัง เขาก็จะตอบโต้ ซึ่งในแง่ปกป้องอธิปไตยไม่สามารถยอมรับได้อยู่แล้ว พฤติกรรมของทหารว้าดูจะก้าวร้าวมากขึ้นในระยะหลังเพราะอำนาจของทหารพม่าอ่อนแอลงและชายแดนไทยตกอยู่ใต้พลังของตระกูลหรือ war lords ฝั่งว้าซึ่งมีการเพิ่มการผลิตยาเสพติดมากขึ้น เป็นภัยคุกคามต่อไทย การที่อำนาจทหารพม่าอ่อนแอลง และทหารว้าดูเข้มแข็งและแนบแน่นจีน ดังนั้นทางการไทยอาจมองว่าหากเราปล่อยไว้นานๆ อาจลำบาก
ผู้สื่อข่าวถามว่านอกจากพื้นที่ด้าน อ.ปายแล้ว ยังมีจุดใดบ้างที่ UWSA รุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทย นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา กล่าวว่า มีหลายจุด เท่าที่ทราบ มีที่ อ.ปางมะผ้า อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน อ.เวียงแหง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยที่ อ.ปาย มีฐานว้า พัน 721 ดอยหัวม้า หนองหลวง พัน704 กิ่วช้างกั้บ ดอยไก่ ดอยถ้วย ที่ไม่ชัดเจนว่าล้ำแดนหรือไม่ แต่ที่หนองหลวงชัดเจนว่าล้ำแดน
ผศ.ดุลยภาคกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้แสดงอิทธิพลของว้าที่ลงมาในรัฐฉานจนติดชายแดนไทย และกินพื้นที่เข้ามาในเขตไทยเป็นบางฐาน อำนาจของว้าแดงที่เข้ามาในรัฐฉานใต้มากขึ้นทุกปี และเข้มข้นขึ้น ซึ่งแบบนี้เป็นลักษณะของการจัดตั้งรัฐว้า โดยปัจจุบันมีแค่ว้าในภาคเหนือรัฐฉานที่ติดจีนซึ่งพื้นที่นั้นได้รับรองตามรัฐธรรมนูญของพม่า 2008 แต่ส่วนว้าใต้ที่ติดชายแดนไทยไม่ได้ถูกรับรอง แต่ว้าแดงพยายามสร้างความแข็งแรงมากขึ้น โดยทำให้ชายแดนไทยเป็นพื้นที่สำคัญ เพราะหนึ่งในองค์ประกอบของการสร้างรัฐคือมีเขตแดน แต่การล้ำเข้ามาในดินแดนไทย และหลายฐานของว้ามีการผลิตยาเสพติด รายได้จากการค้ายาเสพติดก็มีส่วนเข้าไปเป็นโครงสร้างพื้นฐานพัฒนารัฐว้าให้เติบโต หากไทยไม่ทำอะไรตอนนี้ก็อาจเสียเปรียบได้ การที่ทวงคืนอธิปไตยและจัดระเบียบชายแดนทางรัฐฉานน่าจะเป็นผลดีในทางยุทธศาสตร์
ผู้สื่อข่าวถามว่า การวางดุลอำนาจของไทยต่อกองกำลังต่างๆ ควรดำเนินการอย่างไรเพื่อประโยชน์ต่อรัฐไทย
รศ.ดุลยภาคกล่าวว่า ควรใช้กลยุทธ์ถ่วงดุลอำนาจ เราไม่ได้ประกาศว่าเป็นศัตรูกับว้าโดยไม่มีช่องทางเจรจาเลย แต่การคุยกับว้าเดี่ยวๆ อาจไม่ได้ผลจึงต้องให้จีนเข้ามา แต่ก็รู้กันดีว่าจีนสนับสนุนว้า ซึ่งไทยจะโน้มน้าวอย่างไรให้จีนหรือรัฐบาลลุ่มน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติดเข้ามาร่วมบริหารจัดการและบีบว้าให้ลดพฤติกรรมบางอย่างลง
“จะทำอย่างไร การใช้กำลังทางทหารเป็นเรื่องจำเป็นที่หลีกไม่ได้เพราะดินแดนไทยถูกว้าตั้งฐานทัพไปแล้ว จะชิงคืนอย่างไร หากเจรจาไม่สำเร็จก็ต้องถึงเวลาที่จะต้องปะทะ แต่ไทยต้องมีชั้นเชิง หากเราขนทหารราบเข้าไปยึดครอง สมมุติว่าเรายึดฐานมาได้ ว้าก็ต้องตอบโต้ อาจมีการรุกของทหารว้าเข้ามาชายแดนไทยที่จุดอื่นๆ ซึ่งการเฟ้นหาพันธมิตรชาติพันธุ์อื่นๆ เพื่อถ่วงดุลเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องจำกัดขอบเขตให้อยู่ในรัฐฉานใต้ ชายแดนไทยเท่านั้น
“ในการนี้สำหรับไทย สภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State-RCSS) ของเจ้ายอดศึก เป็นองค์ประกอบสำคัญ หากว้าเปิดศึกแล้วเรามีกองทัพไทใหญ่ช่วยถ่วงดุลและตีสกัดไว้ก็ย่อมเป็นประโยชน์ ที่พูดแบบนี้เพราะว้าเองก็มีพันธมิตรชาติพันธุ์ เช่น กองกำลังเมืองลา กองกำลังปะโอแดง หรืออาจขอกำลังจากกองกำลังรัฐฉานเหนือ SSPP หรือกองกำลังโกกั้ง ประกอบเป็นทัพพันธมิตร หากทหารไทยตั้งรับโดดๆ โดยไม่มีกองทัพพันธมิตรชาติพันธุ์ในสมรภูมิรัฐฉาน เราจะไม่ได้เปรียบอะไร ดังนั้นพันธมิตรที่เราน่าจะดึงมาได้ เช่น ไทใหญ่ ปะโอบางกลุ่มที่ต่อต้านว้า กองกำลังคะเรนนี หากรบกับว้าแล้วสเกลไปไกลกว่าฐานดอยหัวม้า ต้องคิดถึงพันธมิตรชาติพันธุ์ ไทยมีโอกาสดึงมาช่วยกดดันว้าได้”อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
เมื่อถามว่า ท่าทีกับทหารพม่าควรเป็นอย่างไร รศ.ดุลยภาคกล่าวว่าที่ผ่านมามีความพยายามแล้ว ได้คุยแล้วแต่เมื่อทหารพม่ามีอำนาจลดลงทั่วประเทศ ไทยต้องคุยกับว้าเอง ก็ไม่ได้คำตอบที่น่าประทับใจสำหรับไทย จึงเป็นที่มาของการเปิดปฏิบัติการกับว้า
“สำหรับพม่าตามชายแดนก็ยังมีอยู่ มีกองกำลังชายแดน (Border Guard Force-BGF) เช่น ของมูเซอ ก็มีอยู่ เป็นบทบาทของไทยว่าหากรบกับว้า ชิงดอยหัวม้าคืน ไล่ทหารต่างชาติออกไปจากเขตอธิปไตยของไทยก็ไม่น่าจะเจรจากับทหารพม่า เพราะเป็นการไล่กองกำลังต่างชาติออกไปเฉยๆ แต่หากสเกลไปไกลเช่นว้าส่งกำลังมาบุกมากขึ้น เราจะตีโต้กลับอย่างไร หากร้อนขึ้น การประสานกับทหารพม่าหรือ BGF บางส่วนก็มีความจำเป็น”
(อ่านสัมภาษณ์ รศ.ดุลยภาค ฉบับเต็มได้ที่ https://transbordernews.in.th/home/?p=40649 )
ในวันเดียวกันที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.ฐิต์รัชช์ สมบัติศิริ โฆษกกองทัพบก ว่าปัจจุบันกรณีพิพาทชายแดน ยังปักปันเขตแดนไม่เรียบร้อย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง โดยผู้บัญชาการทหารบกได้สั่งการให้ทางกองทัพภาคที่ 3 แถลงข่าว ซึ่งเบื้องต้นไม่มีรายงานว่าสถานการณ์ชายแดนมีความตึงเครียดตามที่ปรากฏเป็นข่าว และปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว เราก็ได้มีการทำเรื่องประท้วงคู่กรณี โดยสถานการณ์ภาพรวมไม่ได้รับการยืนยันว่ามีความรุนแรง
ที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมือง จ.พิษณุโลก พ.อ.รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 แถลงว่า กองทัพภาคที่ 3 ขอยืนยันว่าสถานการณ์ชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในภาวะปกติ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งความสัมพันธ์ตามแนวชายแดนยังคงอยู่ในระดับที่ดีต่อกัน และกองทัพภาคที่ 3 พร้อมที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติและพี่น้องชาวไทยอย่างดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ชายแดน ที่อยู่ติดกับกองกำลังว้าแดง ยังอยู่ในภาวะปกติหรือไม่ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ยังอยู่ในสภาวะปกติ ทุกฝ่ายยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
วันเดียวกัน นี รัง (Nyi Rang) โฆษกกองทัพสหรัฐว้า ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิระวดีว่า ประเทศไทยได้เรียกร้องให้ว้าถอนฐาน 9 แห่งและกองทัพไทยได้เคลื่อนกำลังทหารไปที่ชายแดน
“เป็นเรื่องจริงที่กองทัพไทยได้เคลื่อนกำลังทหารเพิ่มเติม แต่สถานการณ์ในฝั่งของเราถือว่าปกติ” สำนักข่าวอิรวดีรายงานอ้างแหล่งข่าวว่าฝ่ายทหารไทยให้เวลากองทัพสหรัฐว้าถอนทัพออกจากฐานทัพที่เป็นข้อพิพาทเป็นเวลาหนึ่งเดือน “เราตอบว่าปัญหาต้องได้รับการแก้ไขระหว่างรัฐบาล” โฆษกว้ากล่าว
/////////////
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.