เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2557 ที่จังหวัดราชบุรี สภาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตตะนาวศรี และเครือข่ายสภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมภาคีอื่น อาทิ ตัวแทนชาติพันธุ์มอญ ญวน ไทยทรงดำ ฯลฯ ได้จัดเวทีเสวนาเพื่อสรุปและติดตามสถานการณ์การหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ในหัวข้อ “บิลลี่อยู่ไหน” โดยที่ประชุมได้หารือเรื่องการสร้างเครือข่ายประสานงานงานเพื่อตั้งกองทุนช่วยเหลือบิลลี่และครอบครัว ตลอดจนการสืบสานวัฒนธรรมกะเหรี่ยงในการใช้พิธีกรรมศาสนาเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจ โดยวิธีสันติภาพ ไม่ใช้ความรุนแรง
นายเกรียงไกร ชีช่วง เลขานุการสภาเครือข่ายกะเหรี่ยงฯ กล่าวว่า เนื่องจากการหายตัวไปของบิลลี่ เป็นเรื่องที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างการใช้สิทธิชุมชนของชาติพันธุ์พื้นเมืองกับหน่วยงานราชการซึ่งเป็นปัญหาวงกว้างของสงคมไทย ดังนั้นในการเรียกร้องเพื่อทวงความยุติธรรมให้บิลลี่ ไม่ใช่แค่การทวงคืนบิลลี่โดยการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนและ หน่วยงานด้านความยุติธรรมแล้วจบลง แต่ต้องให้พื้นที่ชาติพันธุ์พื้นเมืองได้มีโอกาสในการแสดงศักยภาพของชาติพันธุ์ ร่วมด้วย โดยในวันที่ 3 พฤษภาคม 2557 นี้ ทางเครือข่ายฯ จะมีการจัดพิธีเรียกขวัญแก่บิลลี่ ที่ด่านมะเร็ว เขตอุทยานแห่ชาติ สัตว์ป่าและพันธุพืชแก่งกระจาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ครอบครัวบิลลี่และชาวกะเหรี่ยงบางกลอย รวมทั้งเปิดทางให้สังคมภายนอกได้เห็นถึงพิธีกรรมความเชื่อของกะเหรี่ยงบางกลอยด้วย อย่างน้อยคนเมืองเพชรบุรีก็ได้รู้จักกะเหรี่ยงอีกด้านหนึ่ง
“เราไม่รู้ว่า บิลลี่เป็นหรือตาย หรือเกิดอะไรขึ้น แต่การที่บิลลี่หายตัวไปนั้น ทางเครือข่ายไม่ต้องการให้เขากลายเป็นบุคคลที่ 29 ของไทยซึ่งถูกบังคับให้สญหาย และเนื่องจากกะเหรี่ยงบางกลอยมีความเชื่อเรื่องพิธีเรียกขวัญแบบพุทธศาสนา จึงจะเชิญเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมงานและระดมทุนสำรองไว้ช่วยเหลือพี่น้องชาติพันธุ์พื้นเมือง ควบคู่กับการเคลื่อนไหวภาคสังคมเพื่อทวงความยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่เพื่อบิลลี่คนเดียว แต่เพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งมอบแก่ชาวบ้านทุกคน ในวันที่ต้องเผชิญกับปัญหา เพื่อให้พวกเขามีกำลังใจในการสู้เพื่อสิทธของตนเอง” นายเกรียงไกร กล่าว
ด้านนายสุขสันต์ สำเภา นักวิจัยท้องถิ่น กล่าวว่าการหายตัวไปของนายบิลลี่สะท้อนว่า เรื่องสิทธิของชาติพันธุ์มักถูกกลบเกลื่อนด้วยวาทกรรมเก่าๆ ดังนั้นการก่อเกิดกองทุนเพื่อเคลื่อนไหวด้านกิจกรรมของกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ โดยระยะสั้นอาจจะตั้งเพื่อช่วยเหลือบิลลี่ก่อน แต่ในอนาคตก็ต้องสำรองไว้เพื่อกลุ่มอื่นด้วย เนื่องจากขณะนี้ชาติพันธุ์พื้นเมืองกำลังตกที่นั่งลำบากเรื่องการปรากฎตัวในฐานะพลเมืองไทย เพราะคนเมืองมักเข้าใจว่าพวกเขาคือผู้ทำลายป่าหรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
นายพฤ โอ่โดเชา ชาวกะเหรี่ยงอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การหายตัวของบิลลี่เป็นเรื่องที่น่าใจหายเพราะเขาเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อชาติพันธุ์ ที่มีส่วนทำให้คนบางกลอยปรากฎตัวผ่านสาธารณะ เพราะที่ผ่านมาคนรู้จักชาวกะเหรี่ยงบางกลอยน้อยมาก หลายคนเชื่อว่าเขาเป็นชาวกะหร่างไม่ใช่กะเหรี่ยง แต่เมื่อพิสูจน์ภาษาและวัฒนธรรมแล้วพบว่า จริงๆแล้ว พวกเขาก็คือ คนไทยเชื้อสายปกาเกอะญอ ซึ่งแม้แต่กะเหรี่ยงภาคเหนือก็แทบไม่รู้จักว่ามี ชาติพันธุ์พื้นเมืองแบบเดียวกันอาศัยอยู่ที่บางกลอย กระทั่งเมื่อมีข่าวล่าสัตว์ บุกรุกป่า และเกิดกรณีเผาบ้านของชาวบ้านบางกลอย ทำให้ข่าวแพร่สู่สาธารณะอย่างรวดเร็ว
นายพฤกล่าวว่า หลังจากชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยถูกย้ายลงมา ต้องประสบความลำบากโดยเฉพาะเรื่องการทำมาหากิน จนในที่สุดชาวกะเหรี่ยงหลายภาคส่วนได้ร่วมจัดผ้าป่าข้าวมาช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอยและพบว่าบิลลี่คือ แกนนำสำคัญในการเชื่อสัมพันธ์ระหว่างกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอยสู่โลกภายนอก และกรณีความขัดแย้งกับอุทยานก็เป็นอีกประเด็นที่บิลลี่ร่วมเคลื่อนไหว เมื่อรู้ข่าวว่าเขาหายไปจึงทำให้ตนเป็นห่วงมาก เพราะเป็นการตัดกำลังสำคัญในการผลักดันด้านสิทธิและวัฒนธรรมชุมชนของกะเหรี่ยง
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ผู้บริหารอุทยานฯแก่งกระจานระบุว่านายพฤและนายวุฒิ บุญเลิศ เป็นผู้ยุยงให้ชาวกะเหรี่ยงบุกรุกป่าเพิ่ม ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายพฤกล่าวว่า เป็นเรื่องที่สังคมต้องร่วมกันพิสูจน์ เพราะในวิถีชีวิตของคนปกาเกอะญอนั้นสอนให้เคารพป่าและธรรมชาติ ซึ่งพิสูจน์ได้จากการที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอยู่ร่วมกับป่ามานับร้อยๆปีโดยไม่เคยมีปัญหาใดๆ เพิ่งจะมีระยะหลังนี้เท่านั้นที่ แต่สิ่งที่อยากให้สังคมตระหนักมากที่สุดตอนนี้คือ เรามีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งสหประชาชาติก็ให้ความสำคัญและบิลลี่เองก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่องดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องช่วยกันค้นหานายบิลลี่ให้เจอเสียก่อน
ขณะที่นายวุฒิ บุญเลิศ ที่ปรึกษาสภาเครือข่ายกะเหรี่ยงฯ กล่าวว่า บิลลี่และกะเหรี่ยงทุกคนใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบต่อป่า ต่อชุมชน การหากินในป่าของกะเหรี่ยงทุกคนไม่ได้เป็นไปเพื่อทำลาย เชื่อว่าหากสังคมเปิดโอกาสให้มีการใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามประเพณีเดิม และเปิดพื้นที่การจัดการทรัพยากรป่าร่วมกัน จะไม่มีความขัดแย้งใดๆเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีพิพาทระหว่างกะเหรี่ยงบางกลอยและอุทยานนั้น ทางเครือข่ายกะเหรี่ยงไม่มีมาตรการตอบโต้ด้วยความรุนแรง โดยเฉพาะกรณีอุทยานฯเผาบ้านและยุ้งข้าวในชุมชน ชาวกะเหรียงเชื่อว่าเป็นการทำร้ายแม่โพสพที่มีบุญคุณต่อคนซึ่งเป็นเรื่องที่บาป และบาปนั้นจะตกอยู่กับผู้ที่ก่อกรรมในไม่ช้า