Search

ค้านมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ชาวบ้านเตรียมฟ้องศาลปกครอง ชี้กีดขวางทางน้ำ-ทำลายแหล่งเกษตร-ผืนป่าชายเลน สว.แม่กลองแนะมองทางเลือกอื่น ขยายเส้นทางรถไฟ-ทำถนนคร่อมพระราม2

motorway
น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เปิดเผยถึงข้อสรุปภายหลังการจัดเวทีสาธารณะให้ความรู้และติดตามผลกระทบโครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์สายใหม่ นครปฐม-ชะอำ เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา ณ วัดคุ้งกระถิน จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีนายสุรจิต ชิรเวช สว.สมุทรสงคราม และนายศรีสุวรณ จรรยา ทนายความชื่อดัง มาร่วมถ่ายทอดความรู้ว่า เวทีนี้เป็นการนำข้อมูลโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายใหม่และข้อสรุปจากการประชุมกลุ่มย่อย 14 เวที ของบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 18-24 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงนำมาเปิดเผยให้แก่ชาวบ้านผู้จะได้รับผลกระทบ โดยในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เนื่องจากที่ผ่านมาในพื้นที่แทบจะไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องโดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทที่ปรึกษ

น.ส.อัญชุลี กล่าวว่า โครงการก่อสร้างถนนสายนี้มีแนวโน้มจะเกิดความไม่โปร่งใสในการดำเนินโครงการหลายประการ ทั้งนี้จากข้อสรุปของเวที ทางเครือข่ายภาคีภาคประชาชน ทั้งในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดสมุทรสงครามจะดำเนินการจัดเวทีให้ความรู้ครั้งใหญ่ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้อีก ซึ่งจะมีชาวบ้านตลอดแนวมอเตอร์เวย์สายใหม่เข้าร่วม และจากนั้นจะรวบรวมข้อมูลผลกระทบและข้อเสนอเพื่อยื่นฟ้องศาลปกครองให้มีการทบทวนหรือยกเลิกโครงการต่อไป

ด้ายนายสุรจิต ชิรเวทย์ สว.สมุทรสงคราม เผยว่า โครงการมอเตอร์เวย์สายใหม่นครปฐม-ชะอำเข้าข่ายต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง และต้องให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้จัดทำไม่ใช่ปล่อยให้บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีผลกระทบรุนแรงตามมาตรา 67 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญ โดยเป็นถนนระบบปิด และมีความกว้าง 100-120 เมตร อีกทั้งเชื่อว่าเวทีรับฟังที่ได้ทำไปแล้วนั้นเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง

นายสุรจิตยังได้กล่าวถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นว่า แนวมอเตอร์เวย์สายใหม่นี้จะเป็นถนนที่กีดขวางทางน้ำธรรมชาติที่จะไหลจากแนวเทือกเขาตะวันตก ชายแดนไทย-พม่าที่จะระบายลงสู่อ่าวไทยผ่านแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีนซึ่งกรณีปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2553 การระบายน้ำผ่านแนวกีดขวางเดิมทั้งเส้นทางรถไฟสายใต้ ถนนเพชรเกษมและถนนโรคัลโรดก็ยังไม่สามารถจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ การมีแนวถนนเพิ่มขึ้นและยกสูงยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหาให้การระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยอย่างมาก รวมถึงพื้นที่แรมซาร์ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระดับประเทศป่าชายเลนกว่าาหมื่นไร่ ในจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่ ตำบลบางแก้ว ตำบลบางจะเกร็งตำบลแหลมใหญ่ และตำบลคลองโคน จะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งกฏหมายบังคับให้ทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ด้วย

“ในฐานะที่ตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบและได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่เคยได้รับข้อมูล เอกสารชี้แจงหรือไม่เคยได้รับรู้ถึงกระบวนการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลแต่อย่างใด ทั้งที่บริษัทที่ปรึกษาได้บอกว่าทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสร็จตั้งแต่ปี 2554” นายสุรจิต กล่าวอีกว่า ต้องการให้มีการศึกษาแนวทางเลือกการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในรูปแบบต่างๆ ด้วย อาทิ การขยายเส้นทางรถไฟสายใต้ ซึ่งสามารถขยายเพิ่มแนวราง 3-4 รางบนพื้นที่เดิมตามแนวรถไฟที่มีขนาดกว้างประมาณ 70 เมตร โดยไม่จำเป็นต้องเวนคืนที่ดิน ทั้งเป็นการส่งเสริมระบบการคมนาคมระบบราง นอกจากนี้หากจำเป็นต้องมีการสร้างถนน อยากจะเสนอให้พิจารณาการก่อสร้างเป็นทางยกระดับคร่อมบนถนนพระราม 2 โดยหลีกเลี่ยงการตัดเส้นทางใหม่ และไม่เป็นการกีดขวางเส้นทางระบายน้ำด้วย

“แม้จะมีค่าก่อสร้างสูงกว่า แต่ถนนยกระดับนั้นมีปัญหาน้อยกว่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีดินอ่อนนุ่มปัญหาถนนทรุดหรือการซ่อมแซมจะเกิดขึ้นน้อยกว่าถนนบนดินและไม่เป็นคันกั้นน้ำ แต่แนวทางที่จะเกิดผลกระทบน้อยที่สุดคือการขยายเส้นทางรถไฟและส่งเสริมให้เกิดการคมนาคมระบบราง เพราะมอเตอร์เวย์นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการเพิ่มรถยนต์บนถนนแล้ว ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญของภาคกลาง ซึ่งสวนใหญ่เป็นพื้นที่สวนยกร่องและเส้นทางระบายน้ำ อยากให้รัฐบาลมองถึงการป้องกันผลกระทบมากกว่าการต้องเยียวยาชาวบ้านในภายหลัง

 

.

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →