จนแล้ว จนเล่า ผมก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปป่าแก่งกระจาน ช่วงกลางปีก่อน มิตรสหายอาวุโสที่เคารพนับถือเคยชักชวนให้ร่วมขบวน นำข้าวปลาอาหาร ของใช้จำเป็นไปเยี่ยมเยือนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย แห่งป่าแก่งกระจาน แต่กำหนดการครั้งนั้นก็ต้องเลื่อนออกไปด้วยเหตุผลบางประการของ‘ทางราชการ’
จวบกระทั่ง ‘บิลลี่’ แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจานหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ผมไม่รู้จักบิลลี่เป็นการส่วนตัว แต่ครั้งหนึ่งเคยได้พบกับกลุ่มกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ยกขบวนไปให้กำลังใจ พี่น้องกะเหรี่ยงอุ้มผาง จ.ตาก พวกเขาสวมใส่เสื้อผ้าเก่าๆ มองดูมอมแมม มอซอในสายตาของโลกศิวิไลซ์ ถ้อยคำที่ตัวแทนกะเหรี่ยงบางกลอยลุกขึ้นพูดให้กำลังใจพี่น้องกะเหรี่ยงอุ้มผางนั้น เรียบง่าย ไม่ใช่ถ้อยคำสละสลวย ลึกซึ้ง แต่มีความหมาย
พวกเขาให้กำลังใจพี่น้องร่วมชาติพันธ์ต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิที่จะดำรงอยู่ใน วิถีชีวิตและแผ่นดินถิ่นฐานดั้งเดิม เช่นเดียวกับที่พวกเขากำลังต่อสู้ ไม่ว่ากะเหรี่ยงบางกลอย เพชรบุรี กะเหรี่ยงอุ้มผาง หรือชาติพันธุ์ริมชายแดนที่ใดก็ตาม พวกเขากำลังต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่
ใหญ่เกินกว่าจะจินตนาการว่ากลุ่มคนเล็กๆ อย่างพวกเขาจะเอาชนะเพื่ออยู่รอดต่อไปได้อย่างไร
ใช่เพียงแค่อำนาจรัฐที่ถือกฎหมาย และบางครั้งก็ใช้กำลังเข้าไล่รื้อ เผาทำลาย บ้านเรือนถิ่นฐานที่ทำมาหากิน แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขากำลังต่อสู้กับความไม่เข้าใจของสังคม ซึ่งมองพวกเขาเป็นกลุ่มคนเล็กๆ บุกรุกทำลายป่า ทำลายอุทยานแห่งชาติ บางพื้นที่พวกเขาถูกมองเป็นผู้ขัดขวางการพัฒนา ต่อต้านความเจริญ โครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า
หลายปีก่อน ริมแม่น้ำสาละวิน ผมมองไปยังเรือลำเล็กลอยอยู่กลางแม่น้ำ เทียบขนาดตัวเรือกับความกว้างใหญ่ของแม่น้ำ และความเชี่ยวกรากแล้ว ปลาขนาดน้ำหนัก 4 กิโลกรัมที่เราซื้อจากเขามาในราคาไม่กี่ร้อยบาทนั้น ถูกแสนถูก หากเทียบกับการทำมาหาเลี้ยงชีวิต ที่ต้องสุ่มเสี่ยงอันตรายเช่นนั้น ใช่เพียงแต่รุ่นของพวกเขา แต่การหาเลี้ยงชีวิตอยู่กับผืนป่าและแม่น้ำเช่นนี้เป็นมาเนิ่นนานตั้งแต่ บรรพบุรุษ
ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่า หากสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ ระดับน้ำเหนือเขื่อนเอ่อขึ้นมาอีกนับสิบเมตร ใช่เพียงถิ่นฐานบ้านเรือนที่ต้องย้ายออก แต่ชีวิตของคนทำมาหากินกับแม่น้ำอย่างพวกเขาจะอยู่ต่อไปได้แบบไหน ใช่แค่ว่ามีน้ำแล้วจะมีปลา จับปลาได้ ปลาแม่น้ำตามธรรมชาตินั้น เลือกที่อยู่ที่วางไข่ พวกเขาอยู่กันมานานจนรู้แหล่งปลา จับปลากิน จับปลาขายมานานหลายชั่วคน แต่ปลาไม่เคยหมด ยังคงความอุดมสมบูรณ์เลี้ยงชีวิตต่อไปได้ไม่รู้จบ แน่นอนว่าหากสร้างเขื่อน วังน้ำ แหล่งอาศัยของปลาย่อมเปลี่ยนแปลง คนหาปลาอย่างพวกเขาจะจับปลาหาเลี้ยงชีวิตกันต่อไปได้อย่างไร
เช่นเดียวกับชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย ข้อมูลที่มิตรสหายซึ่งเข้าไปเยี่ยมเยือนถึงถิ่น นำมาบอกเล่าให้ฟังนั้น เกือบ 20 ปี ที่รัฐประกาศอุทยาน พวกเขาที่อยู่ในป่า อยู่ในมือแผ่นดินเดิมที่บรรพบุรุษอาศัยกันมานานหลายชั่วคนต้องกลายเป็น ผู้บุกรุก ทำผิดกฎหมาย เกือบ 20 ปี ที่ราชการพยายามไล่ที่ บีบบังคับให้พวกเขาอพยพย้ายถิ่นฐานออกจากเขตป่า
20 ปี ที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย พยายามปรับตัว ปรับวิถีชีวิตให้เป็นไปในแบบที่ราชการต้องการ แต่ก็ต้องล้มเหลว แน่นอน การถางป่าเพื่อเพาะปลูกนั้นถือเป็นการทำลายป่า แต่พวกเขาทำเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ หาได้ตัดไม้ขาย หรือทำการเกษตรเชิงพานิชย์ขนาดใหญ่ พื้นที่ทำไร่หมุนเวียนของพวกเขานั้น มีขนาดเล็กน้อย แม้หักร้างถางป่าเพื่อพื้นที่เพาะปลูกใหม่ แต่เมื่อธรรมชาติฟื้นตัว พวกเขาก็ย้ายกลับมาเพาะปลูกในที่เดิม ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า วนเวียนกันมาเช่นนี้นมนาน หาได้ทำให้พื้นที่ป่าลดน้อยลงไปแต่อย่างใด
บิลลี่นั้นหาใช่คนสำคัญ หาใช่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง เขาเป็นคนเล็กๆ ที่ต่อสู้เพื่อครอบครัว และพี่น้อง เพียงแต่ประเด็นที่เขาต่อสู้เรียกร้อง คือการปกป้องสิทธิในการดำรงชีวิต ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ กรณีการหายตัวของบิลลี่จึงมีความสำคัญ ใช่เพียงชีวิตของครอบครัวบิลลี่ ใช่เพียงชีวิตคนเล็กๆ เพียง 50 ครอบครัว แห่งบ้านบางกลอย แต่นี่คือประเด็นใหญ่ ซึ่งเป็นประเด็นร่วมกัน กับกลุ่มคน ชุมชนที่คัดค้านการก่อสร้างทางด่วนผ่านพื้นที่ชุมชน
เรื่องของคนบางกลอยเรื่องเดียวกับบ้านที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานรับซื้อของ เก่าที่ไปรับซื้อลูกระเบิดมาผ่า เกิดระเบิด สูญชีวิตและทรัพย์สินคนในชุมชน เป็นเรื่องเดียวกับชุมชน ผู้คนที่อยู่ใกล้บ่อขยะร้าง ซึ่งเกิดเพลิงไหม้ติดต่อกันนานหลายวัน ส่งมลพิษรบกวน แต่ยังหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ หรือถ้าพูดให้ใกล้ตัวกว่านั้น เรื่องที่บางกลอยนั้นก็เป็นเรื่องเดียวกันกับผุ้คนที่มีบ้านใกล้สถานบริการ ซึ่งเปิดเพลงเสียงดังสร้างความเดือดร้อนรำคาญ
ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องเดียวกันเพราะนี่คือ สิทธิในการดำรงชีวิต กะเหรี่ยงบางกลอยเพียงแค่ปกป้องบ้านปกป้องแผ่นดินที่เขาจะดำรงชีวิตอยู่ ก็เพียงเท่านั้น
อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์
คอลัมน์กางวงเล่า โพสต์ทูเดย์ 4 พค.57