วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ที่สำนักงานมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ อาคารสยามทาวเวอร์ แขวงปทุมวัน ได้มีการหารือกรณีปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน (กระเหรี่ยงบางกลอย) อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยมีผู้เข้าร่วม อาทิ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล กรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ ม.ร.ว.อคิน ระพีพัฒน์ ประธานมูลนิธิชุมชนไท นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครราชสีมา นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตกรรมการปฎิรูป นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและการพัฒนา
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงการเข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงบางกลอยล่างซึ่งถูกบังคับให้อพยพมาจากหมู่บ้านบางกลอยบน ซึ่งปัจจุบันตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก ทำให้บางส่วนต้องออกไปหางานทำในเมืองเพื่อส่งเงินกลับมาเลี้ยงครอบครัว ล่าสุดยังมีกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับสากลต่างให้ความสนใจและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเข้ามาจัดการกับปัญหานี้ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร
ขณะที่นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวว่าการอนุรักษ์ที่ดำเนินมาหลายทศวรรษนั้นได้เรียนรู้หลายระดับ ตั้งแต่อนุรักษ์เฉพาะป่า เฉพาะสายพันธุ์พืชและสัตว์ ซึ่งแทบไม่ได้ผล จนมาถึงแนวโน้มการอนุรักษ์ป่าในปัจจุบัน ประสบการณ์ทั่วโลกเห็นแล้วว่าพื้นที่ต่างๆ ที่ยังคงเป็นป่าส่วนใหญ่มีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่และนโยบายระดับโลกก็ใช้ชุมชนเป็นตัวช่วยในการอนุรักษ์ แต่กรณีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานกลับตรงกันข้าม การอพยพชาวบ้านออกจากป่า ตามหลักปฏิบัติต้องมีการแจ้งล่วงหน้า มีพื้นที่รองรับที่เหมาะสม และมีกรรมการร่วมจากฝ่ายรัฐและชาวบ้านเพื่อดูแลการอพยพและการบริหารดูแล เพื่อให้ชาวบ้านดำรงชีวิตอยู่ได้
“แนวทางการแก้ไขสำหรับกรณีชาวบ้านแก่งกระจาน โป่งลึก-บางกลอย คือควรแบ่งการจัดการเป็น 2 ระบบ ชาวบ้านส่วนที่ต้องการกลับไปดำรงชีวิตแบบเดิมเพื่อทำไร่หมุนเวียนก็ให้กลับไปทำไร่เดิม และอีกส่วนที่ต้องการอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่าง ก็อยู่ได้ ทำตามโครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระ ทั้งนี้อิงตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง” นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว