Search

แห่ให้กำลังใจกะเหรี่ยงบางกลอย-ครอบครัว”รักจงเจริญ”งาน “เราทุกคนคือบิลลี่”แสนอบอุ่นนักวิชาการชี้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกจัดชั้นต่ำกว่าคนทั่วไปชาวบ้านบุกกรมอุทยาน 12 พค.ร้องย้ายชัยวัฒน์เพื่อความโปร่งใส

IMG_379775433254

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2557 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ได้มีการจัดงาน “WE ALL BILLY เราทุกคนคือบิลลี่” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เครือข่ายเพื่อนของ นายพอละจี รักจงเจริญหรือบิลลี่ ที่ถูกบังคับให้หายตัวไป ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเรียกร้องต่อสังคมไทยให้ตระหนักถึงกรณีการถูกบังคับให้สูญหาย และเร่งให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องติดตามคดีบิลลี่ด้วย 

กิจกรรมเริ่มต้นเมื่อเวลา 12.00 น.ด้วยบทเพลงดนตรีจากวง “คีตาญชลี” จากนั้นได้มีการฉายหนังสารคดีสั้นเรื่อง “วิถีชีวิต The way of lives” ซึ่งเป็นผลงานของบิลลี่และชาวบ้านกระเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ต่อด้วยการเปิดใจของ ‘มื่อนอ’ ภรรยาบิลลี่ และละครสั้น

ภายในงานยังมีการปาฐกาถาโดย รศ.ศรีศักร วิลลิโภดม นักวิชาการอิสระด้านมานุษยวิทยา หัวข้อ “ชุมชนกะเหรี่ยงกับป่าและสังคมไทย” โดยรศ.ศรีศักรระบุว่า การอุ้มฆ่าเป็นความโหดร้ายของรัฐไทยที่กระทำมาตลอด 30 ปี ไม่ว่าจะภูมิภาคไหนก็ถูกกระทำทั้งนั้นเพราะถือว่าไม่ใช่คนไทย และสังคมไทยจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิถีนิเวศวัฒนธรรมของกะเหรี่ยง คนกะเหรี่ยงอยู่ในพื้นที่มากกว่า 200ปี ถือเป็นชนชาติ มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ทำมาหากินทำไร่หมุนเวียนตามวิถีนิเวศวัฒนธรรมของกะเหรี่ยง แต่นักวิชาการสมัยใหม่ไม่เข้าใจ และใช้คำว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งการที่รัฐเข้าไปจัดการคนที่สูงให้ลงมาอยู่ที่ต่ำจึงเป็นการจัดการแบบไม่เข้าใจ ทางออกคือ ทำอย่างไรให้รัฐเกิดการกระจายอำนาจอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับพื้นที่วัฒนธรรมต่างๆ

รศ.ศรีศักร กล่าวว่าสังคมไทยจำเป็นต้องเกิดการกระจายอำนาจรัฐลงสู่ท้องถิ่น ไม่ใช่ลงไปแค่ระดับอบต.เท่านั้น แต่ต้องลงไปสู่ท้องถิ่นชุมชน ให้เกิดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง คนกะเหรี่ยงต้องรวมกันเป็นกลุ่ม ต้องสร้างพลังต่อรองให้สามารถที่จะมีอำนาจจัดการพื้นที่ตนเอง และควรใช้โอกาสก่อนที่จะมีการปฏิรูปทางการเมืองรวมกลุ่มที่จะต่อรอง บิลลี่ไม่ควรหายไป ควรฟื้นขึ้นมาและเป็นแกนในการนำปัญหาของกะเหรี่ยงเข้าสู่การปฏิรูป

นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนา “บิลลี่หาย: เปิดมุมมองกฏหมาย ความเท่าเทียม สิทธิชุมชน วิถีคนกับป่า” โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 300 คน นอกจากนี้ได้มีการร่วมกันทำ ‘คังด้ง’ หรือโมบายกระเหรี่ยง 1,000 เพื่อนำไปแขวนไว้ที่บริเวณแยกหนองมะค่าหรือหน้าด่านเขามะเร็วซึ่งเป็นจุดที่พบบิลลี่เป็นครั้งสุดท้ายโดยหวังว่าจะช่วยให้บิลลี่กลับมา ซึ่งความเชื่อของคนกะเหรี่ยง

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฏหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในเมืองไทยมีคนอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1.5 ล้านครอบครัว หรือมากกว่า 6 ล้านคน ซึ่งเป็นคนดั่งเดิมที่อยู่มาก่อนมีการกันเขตพื้นที่ป่า ทั้งที่รัฐธรรมนูญรับรองเรื่องสิทธิชุมชน แต่เมื่อมีการออกกฏหมาย คนเหล่านี้กลับถูกผลักว่าเป็นผู้บุกรุก ปัญหาจึงเกิดขึ้นเนื่องจากเราไม่มีการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการที่ดิน และมีการสร้างมายาคติว่าเป็นคนไม่ดี ทำให้พวกเขาถูกมองในแง่ลบ

“เป็นความขัดแย้งที่มีมานานและกว้างขวาง แต่ละพื้นที่มีระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน ตอนนี้แม้ทางเหนือลดระดับลงมา แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้อยู่อย่างถูกกฏหมาย เพราะการเป็นชาวเขาทำให้ถูกมองในแง่ลบ กลุ่มชาติพันธุ์ถูกกระทำต่ำกว่ามาตรฐานของคนทั่วไปและคนทั่วไปไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหา”

ขณะที่ น.ส.วราภรณ์ อุทัยรังสี จากสมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน และเป็นทนายความที่ช่วยเหลือครอบครัวบิลลี่ด้านคดี กล่าวถึงความคืบหน้าคดีนี้ว่า หลังจากครอบครัวบิลลี่ได้ยื่นร้องต่อศาลให้เปิดการไต่สวนในกรณีพิเศษเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาศาลได้มีคำสั่งให้ไต่สวนฉุกเฉิน ซึ่งเท่าที่ได้ฟังการไต่สวนคำให้การก็ยังไม่มีข้อมูลใหม่ และจะมีการนัดไต่สวนอีกครั้งในวันพรุ่งนี้(12 พ.ค.) แต่อยากเรียกร้องต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกรมอุทยานฯ ให้มีการย้ายหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน ออกนอกพื้นที่ชั่วคราว เหมือนกับการจัดการในพื้นที่อื่น เช่น ที่กุยบุรีมีกระทิงตายก็สั่งย้ายหัวหน้าอุทยานออกไปก่อน เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลต่อการทำงานสืบหาข้อมูลหรือหลักฐานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ลงไปในพื้นที่ และอาจมีการข่มขู่พยาน

นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชายที่หายตัวไป กล่าวว่า 10 ปีที่แล้วสังคมไทยยังไม่เข้าใจเรื่องการถูกบังคับให้สูญหาย และกลัวการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ปัจจุบันสังคมไทยจะไม่ทนอีกแล้วหากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากอคติของเจ้าหน้าที่อย่างเดียว แต่เป็นวิธีที่ใช้กับคนที่เห็นต่างกับรัฐ โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากร สิทธิชุมชน ที่ดิน ป่า ซึ่งประชาชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องเหล่านี้ไม่ควรถูกทำให้หายและเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ รัฐต้องเร่งติดตาม

“คนชาติพันธุ์ต่างๆ มักถูกทำให้สังคมมองว่า เป็นพวกค้ายา ทนายโจร บุกรุกป่า ดิฉันไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความคิดแบบนี้ รัฐควรเปลี่ยนทัศนะคติ เพราะอคติแบบนี้มันช่วยให้รัฐมีความชอบธรรมไม่ให้ออกสืบหาผู้ถูกทำให้หาย” นางอังคณา กล่าว

ด้านนายสุฤทธิ์ มีบุญ หรือลุงทอง ชาวกะเหรี่ยงจากเทือกเขาตระนาวศรี เรียกร้องให้ สังคมไทยเข้าใจวิถีชีวิตคนกะเหรี่ยงในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน ยกตัวอย่างล่าสุดหลังจากที่บิลลี่หายตัวไป กรมอุทยานฯ พาสื่อมวลชนนั่งเฮลิคอปเตอร์เข้าไปชี้เป้าดูไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงแล้วบอกว่าเป็นผู้ทำลายป่า ส่วนตัวรู้สึกผิดหวังมาก เพราะแทนที่จะออกตามหาบิลลี่กลับมาใส่ร้ายชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นการเบี่ยงเบนประเด็น

“พวกเราอยากให้คนพื้นราบเข้าใจคนบนเขา คนอยู่ป่าใช้ทรัพยากรน้อยนิด คนพื้นราบใช้ทรัพยากรมากกว่าเราหลายเท่า อยากให้เข้าใจว่าเราเป็นคนเหมือนกัน”นายสุฤทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมจัดงาน ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงและพันธมิตรได้มีการหารือกันและได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ในวันที่ 12 พฤษภาคม เวลา 9.00 น.ชาวบ้านที่มาร่วมงานจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้โยกย้ายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอมร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ออกนอกพื้นที่ก่อนเพื่อความโปร่งใสในการสอบสวนกรณีการหายตัวไปของบิลลี่ และหากการสอบสวนหรือการติดตามไม่คืบหน้า ทุกคนก็จะร่วมกันไปตามหาบิลลี่ในพื้นที่ต่อไป

 

On Key

Related Posts

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →

แหล่งอาชญากรรมริมเมยป่วนหลังถูกกดดันหนัก มาเฟียจีนพล่าน-ชักไม่มั่นใจกองกำลังกะเหรี่ยงเทา เตรียมฉวยจังหวะช่วงตรุษจีนกลับประเทศ แนะรัฐสบช่องเก็บข้อมูลแก๊งอาชญากร

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงRead More →

ทัวร์จีนเมืองชายแดนป่วน นักท่องเที่ยวแดนมังกรหายไป 80% ผู้ประกอบการโอดกรุ๊ปทัวร์ยกเลิกแทบเหี้ยน เผยโลกโซเชียลจีนกระหึ่มหวาดกลัวหนัก เชื่อคนหายนับแสนราย ตั้งคำถามทำไมช่วยไม่ได้เหมือน “ซิงซิง”

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จาRead More →