เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2557 ที่วินเทรนอินเทอร์เน็ตชั่นแนล เฮาส์ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี กทม. ได้มีการจัดงานครบรอบ 1 เดือน การหายไปของนายพอละจี รักจงเจริญหรือบิลลี่ และสัมมนาเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพของกลุ่มชาติพันธุ์กรณีชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย” โดยความร่วมมือของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมและภาคีเครือข่ายฯที่เกี่ยวข้องอาทิ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตตะนาวศรีและชาวบ้านโป่ลึก บางกลอย โดยเวลาประมาณ 11.30 น. ผู้ร่วมงานได้มีการจัดพิธีกรรม “กอเกอลา “ เรียกขวัญให้บิลลี่ โดยการนำของ “ปู่คออี้” ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งชุมชนโป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ปู่คออี้ กล่าวว่า การหายไปของบิลลี่ คือ การหายไปของสิทธิคนในชุมชน ทุกคนไม่มีบิลลี่ เหมือนไม่มีแล้วซึ่งผู้นำของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ดังนั้นเมื่อครบ 1 เดือนแล้วหากพวกเราไม่สามารถตามหลักฐานอะไรเกี่ยวกับบิลลี่กลับมาบ้านได้ อยากขอให้การเรียกขวัญครั้งนี้เป็นการการเรียกสิทธิชาวบ้านกลับมาก็ยังดี เพราะสิ่งนั้น คือ สิ่งสุดท้ายที่บิลลี่ทำไว้ก่อนการหายไป
ขณะที่ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข่าวการเผาที่อยู่อาศัยของกะเหรี่ยงโป่งลึกฯ คือ ข่าวสะเทือนใจข่าวหนึ่งที่รับไม่ได้อย่างมากต่อการตัดสินใจ เป็นการใช้อำนาจที่ไม่สมควรแก่ชาติพันธุ์ซึ่งพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้พิทักษ์ป่ามาแล้วหลายครั้ง ส่วนตัวมีความเคารพพี่น้องกะเหรี่ยงมาก ตั้งแต่ได้ลงเยี่ยมพื้นที่ป่าแก่งกระจานครั้งแรกเมื่อปี 2530 ขณะนั้นเข้าไปเพราะมีข้อมูลเรื่องการบุกรุกป่า เส้นทางลำบากมากแต่พอเข้าไปต้องประหลาดใจ เมื่อเข้าไปเห็นแม่น้ำเพชร ที่อุดมไปด้วยความสมบูรณ์ เขียวขจี ตอนนั้นกะเหรี่ยงก็มีอยู่แล้ว แม่น้ำ ป่าไม้ยังคงสภาพดีไม่มีการทำลายป่าใดๆ และเชื่อว่าการอ้างประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงคือต่างชาติ กะเหรี่ยงปลูกสิ่งเสพติด กะเหรี่ยงทำลายป่า ฆ่าสัตว์ อาจมีอยู่บ้างแต่ไม่ใช่ทุกคน ดังนั้นความยุติธรรมวันนี้คือ สังคมต้องแยกแยะว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีดีมีเสีย ชาวบ้านมีดีมีเสียเช่นกัน แต่การกล่าวอ้างแผนการและการอ้างว่าทำเพื่อปกป้องป่า ปกป้องแม่น้ำ ไม่ใช่คำตอบที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนบังอาจไปทำลายได้ เพราะนั่นเรียกว่าการคุกคามความเป็นมนุษย์
“แน่นอนว่าเราไม่อาจกล่าวหาในนามอุทยานฯ ได้ เพราะการกระทำครั้งนั้นเป็นการทำโดยบางคน ไม่ใช่ทั้งหมด กรณีโป่งลึกบางกลอยนั้นถือว่าคนเผาบ้านเป็นการกระทำที่อ้างปกป้องป่า ข้อเสนอส่วนตัวอยากให้ก่อนตัดสินใจเผา หรือไล่ที่หรือจัดสรรที่อยู่ใหม่ ต้องถามคนในพื้นที่ก่อน แต่กรณีนี้นั้นไม่ได้ถาม ตอนนี้เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมันจึงยากที่จะมาชี้อนาคตของแก่งกระจาน แต่ผมเชื่อว่าความยุติธรรมยังมีอยู่ อย่างน้อยเราควรกลับไปถามความพอใจเรื่องการอยู่ในชุมชนว่า เขามีชีวิตความเป็นอย่างแบบใด สุข ทุกข์ อยากย้ายไหม กี่คน ก็ต้องสรุปงานให้ได้ โดยประมาณวันที่ 4 -5 มิถุนายน นี้ผมอาจจะลงพื้นที่ไปอีกครั้งว่าแก่งกระจานเป็นอย่างไร”
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หลายครั้งคุยกับกะเหรี่ยงบางคนถามว่า หากรู้ว่าไร่หมุ่นเวียนมันดีทำไมไม่กลับไปทำ คำตอบน่าเศร้าคือ กะเหรี่ยงแยกกันทำไร่หมุนเวียนไม่ได้เพราะพื้นที่มันกว้างเขาจึงต้องปรับตัว สะท้อนว่าพวกเขาพร้อมเจรจากับภาครัฐในการทำกินตามสังคมที่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่เปลี่ยนทั้งหมดเพื่อความสะดวกขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง เช่น รัฐอ้างว่าเปลี่ยนเพื่อร่วมกันรักษาป่า แล้วคนที่เกิดในป่า โตในป่า จะทำอย่างไร จุดนี้แสดงว่าไทยไร้ความยุติธรรมแล้ว ทางออกคือ การใช้ชีวิตของกะเหรี่ยงจะกลับสู่อุดมคติดีๆ ทั้งหมดก็เป็นไปไม่ได้ แต่การอ้างว่าพวกเขาไม่ใช่คนไทยและซ่องสุมอาวุธเพื่อกองกำลังต่างชาติ เพื่อความมั่นคงต้องกำจัดนั้น เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน ตัวแทนเจ้าหน้าที่อุทยานฯจึงต้องคุยกับชาวบ้านมากขึ้น อย่างไรก็ตามกรณีการโยกย้ายของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนั้น สมควรย้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเผาบ้านกะเหรี่ยงออกทั้งชุด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการหายไปของบิลลี่จนกว่ากระบวนการค้นหาความจริงจะยุติ
ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่าในวันที่ 19 พฤษภาคม นี้ทางศาลปกครองได้นัดผู้เกี่ยวข้องไต่สวนคดีความการเผาหมู่บ้านกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ที่สภาทนายความได้ยื่นฟ้องเอาไว้เมื่อปี 2555 ดังนั้นข้อสรุปจากวันนี้จนกระทั่งเสร็จขั้นตอนพิสูจน์คดีที่สังคมต้องรับรู้คือ 1.ชาวกะเหรี่ยงในแก่งกระจานเป็นคนไทยไม่ใช่คนไร้สัญชาติ โดยได้รับการพิสูจน์หมดแล้วว่าเป็นคนไทย มีบัตรประชาชนพกทุกคนเว้นแค่ปูคออี้ที่ยังไม่มีบัตรประชาชน 2. ชาวบ้านบยืนยันว่าถูกเผายุ้งฉาง เผาบ้าน และถูกย้าย และปู่คออี้ ระบุชัดว่าถูกอุ้มลงมาจากหมู่บ้านจริงๆ และ 3. ชาวบ้านถูกให้อยู่อย่างไร้วิถีชีวิต หาฟืนไม่ได้ สร้างบ้านจากปูนไม่ได้ และที่ทำกินไม่เพียงพอและทำกินลำบาก พื้นที่เป็นหินไม่ใช่ดินเหมาะสมกับการเพาะปลูก ดังนั้นขอโอกาสจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐว่า ขออย่ากดดันให้อยู่โดยไม่มีทางเลือก และอย่าใช้กฎหมายมาทำร้ายชาวบ้าน เช่น การเผาบ้านคือการอนุรักษ์ป่า
ด้านบุญชู พุกาด ชาวบ้านบางกลอย กล่าวว่า ตนยังจำเหตุการณ์การเผาบ้านเพื่อย้ายชุมชนได้ดีวันนี้มีพื้นที่ให้พูดแล้วไม่ว่าจะต่อหน้าสาธารณะหรือหน้าศาล ตนยืนยันว่าเป็นคนไทยโดยถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหาไร้สัญชาติไม่ใช่ปัญหาหลักของกะเหรี่ยงบางกลอย แต่ปัญหาไร้ที่ทำกินและอาหารการกินไม่พอ คือ ปัญหาใหญ่ของคนบางกลอยที่ถูกย้ายลงมา เพราะที่ดินในชุมชนเป็นหิน ปลูกข้าวไม่ได้ ดังนั้นในอนาคตไม่อาจคาดเดาได้ว่ากะเหรี่ยงบางกลอยจะอยู่จะกินอย่างไร