เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2557 ที่วัดชมภู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ชาวบ้านในนามเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพูได้ร่วมกันจัดงานรำลึก 13 ปี “พิทักษ์ โตนวุธ” วีรบุรุษป่าเขตฝน ผู้มีบทบาทสำคัญร่วมกับชาวบ้านในการคัดค้านสัมปทานโรงโม่หิน ซึ่งเป็
สาเหตุให้ถูกสังหารเมื่อปี 2544 แต่กระทั่งปัจจุบันตำรวจยังไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้
ในช่วงเช้าชาวบ้านได้ร่วมกันทำบุญถวายภัตราหารเพลแก่พระสงฆ์ 5 รูป และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่นายพิทักษ์ ส่วนช่วงบ่ายมีเวทีเสวนาหัวข้อ “สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากร” โดยมีชาวบ้านชมพู และกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมงาน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย
นายเชาว์ เย็นฉ่ำ เลขานุการเครือข่ายลุ่มน้ำชมพู และเคยร่วมต่อสู้กับนายพิทักษ์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาต่อการเรียกร้องหรือสู้เรื่องสิทธิของชุมชน คือการขาดความรู้ความเอาใจใส่ของชาวบ้าน เราจำเป็นต้องตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น และต้องพยายามปลูกฝังจิตสำนึกให้ลูกหลาน โดยการดึงให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชน เนื่องจากชาวบ้านชมพูยังต้องประสบกับปัญหาอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อน และเหมืองทองที่กำลังจะเข้ามาที่นี่ ซึ่งตนเองในฐานะที่เป็นสมาชิกอบต.ชมพูด้วย ทำให้มองเห็นปัญหาหลายด้าน
นายเชาว์กล่าวว่า การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ และจะปล่อยให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดการปัญหาอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมดูแลจัดการทรัพยากรให้ท้องถิ่นให้ยั่งยืน
“เราได้เงินจากนักการเมือง 200หรือ 300บาท แต่เราต้องเสียอีกเป็นพัน เสียข้าวสาร น้ำปลาในการต่อสู้มากกว่าที่เขาให้ ตัวแทนพวกนี้พอเลือกไปก็กลับมากดขี่เรา ประสบการณ์จากการต่อสู้กับโรงโม่ถือเป็นบทเรียนที่ดีให้พวกเราต้องต่อสู้กับอีกหลายปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต”นายเชาว์ กล่าว
นางอารมณ์ คำจริง แกนนำเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ 3 จังหวัด กล่าวว่า โครงการต่างๆ ที่เข้ามาที่ อำเภอเนินมะปราง เสมือนทุกขลาภของชาวบ้าน แม้จะมีภูเขาหินที่สามารถระเบิดได้หินที่มีคุณภาพดี และเมื่อ 5 ปีที่แล้วมีการสำรวจพบเร่ทองคำในพื้นที่ต่อเนื่อง 75,600 ไร่ ของ จังหวัดพิจิตร และจังหวัดพิษณุโลก และยังพบพื้นที่อำเภอเนินมะปรางมีสายแร่หนาแน่ที่สุด โดยปัจจุบันมีการขุดแร่ทองคำอยู่ในพื้นที่บ้านเขาหม้อ จังหวัดพิจิตร ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะมีการเข้ามาทำเหมืองทองในพื้นที่แห่งนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นแหล่งแร่ที่สำรวจพบพร้อมกัน
นางอารมณ์กล่าวว่า แม้สถานการณ์การเมืองจะอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีของชาวบ้าน หากมีการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นจริง ต้องพยายามผลักดันให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเข้าไปสู่กระบวนการดังกล่าว รวมถึงผลักดันให้พื้นที่อำเภอเนินมะปรางเป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งจะเป็นหลักประกันไม่ให้มีโรงโม่หินหรือโครงการขนาดใหญ่ที่เสี่ยงส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ได้