เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ตลาดชุมชนบ้านแม่แหลงใหม่ ต.แม่อาย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีชาวบ้านกว่า 100 คน จาก 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่แหลงใหม่ บ้านดอนชัย บ้านมงคลสถาน และบ้านดอยแก้ว รวมตัวกันแจ้งความเดือดร้อนต่อเจ้าหน้าที่ของ บ.เอไอเอสฯ ซึ่งกำลังเข้ามาดำเนินการติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ว่า ต้องการให้ถอนเสาสัญญาณโทรศัพท์ออกไปจากชุมชน เนื่องจากเกรงว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ที่ตั้งอยู่ในชุมชน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้าน
นายเรืองพจน์ หอมชื่น ตัวแทนชาวบ้านในการเจรจา กล่าวว่า เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว บ.ทรูฯ ได้เข้ามาขอเช่าที่ดินจากชาวบ้านเพื่อติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ต้นแรก ซึ่งชาวบ้านก็เห็นว่าเป็นเรื่องปกติและไม่คิดว่าจะส่งผลกระทบอะไรต่อชุมชน จนกระทั่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมามีชาวบ้านเสียชีวิตจากโรคมะเร็งไปแล้วถึง 3 ราย และยังมีชาวบ้านที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งอีกหลายราย ทำให้ชาวบ้านหลายคนเริ่มพูดคุยกันและตั้งข้อสังเกตุถึงการเสียชีวิตว่าเกิดจากสาเหตุใด จึงได้พยายามสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตพบว่า ในหลายจังหวัดก็มีปัญหาผลกระทบคล้ายๆ กัน และมีข้อมูลวิชาการที่ระบุถึงอันตรายต่อสุขภาพเสี่ยงต่อการเป็นโรค เช่น โรคมะเร็ง โรคกระดูกพรุน ข้อเข่าเสื่อม จึงทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าอาการป่วยโรคมะเร็งของชาวบ้าน อาจมีสาเหตุมาจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ส่งออกมาจากเสาสัญญาณโทรศัพท์ จนเมื่อเดือนที่ผ่านมามี บ.เอไอเอส กำลังดำเนินการติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ซึ่งถือเป็นต้นที่ 2 ที่จะตั้งอยู่ในชุมชน ชาวบ้านจึงได้ออกมารวมตัวกันเพื่อแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าไม่ต้องการให้ตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน
“ได้โทรไปที่ กสทช. เขาได้อธิบายว่า หากอาศัยอยู่ใกล้เสาสัญญาณโทรศัพท์ในระยะ 400 เมตร อาจมีความเสี่ยงต่อรางกายที่จะเป็นโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง และเมื่อย้อนไปช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมามีชาวบ้านเสียชีวิตจากโรคมะเร็งไปแล้ว 15 คน ส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน และมีผู่ป่วยเป็นมะเร็งอีกหลายคน ประกอบกับข้อมูลที่หากันมาอย่างทีพะเยาก็มีปัญหา จึงมั่นใจว่าเป็นผลกระทบจากเสาสัญญาณโทรศัพท์อย่างแน่นอน” นายเรืองพจน์ กล่าว
นายเรืองพจน์ กล่าวต่อว่า ต้องการให้ กสทช.เข้ามาตรวจสอบการติดตั้งเสาสัญญาณโดยเฉพาะของ บ.ทรู ที่ติดตั้งมาประมาณ 6 ปี ว่าได้ขออนุญาติจาก กสทช.ก่อนปี 2551 และได้ดำเนินการตามกฏหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ ตามที่ กสทช. กำหนดให้การขออนุญาติตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2551 ต้องทำประชาคม เนื่องจากเป็นข้อสงสัยของชาวบ้านเพราะไม่เคยมีการทำประชาคมหรือขอความคิดเห็นของชาวบ้านในเรื่องนี้มาก่อน