เป็นข่าวครึกโครมในสังคมกับเหตุการณ์กลุ่มชายฉกรรจ์หลายร้อยคน พร้อมปืน มีด ไม้ บุกเข้าปิดล้อมและจับกุมตัวชาวบ้าน “กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด” ที่ชุมนุมต่อต้าน “เหมืองทองคำ” ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุล จ.เลย ไปเป็นตัวประกันเพื่อเปิดทางให้รถบรรทุกขนแร่ออกจากเหมือง เมื่อช่วงกลางดึกต่อเนื่องถึงรุ่งเช้าวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทว่าเหตุการณ์อุกอาจเหมือนบ้านเมืองไม่มีขือแปที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ทั้งในด้านสุขภาพและสวัสดิภาพ หลังจากเริ่มมีการตรวจพบสารพิษจนกระทั่งชาวบ้านต้องออกมาชุมนุมคัดค้านเหมืองแร่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
“กรุงเทพธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน อ.วังสะพุง พบว่า นอกจากเหตุการณ์คุกคามชีวิตชาวบ้านที่เกิดขึ้นล่าสุดแล้วผลกระทบด้านสุขภาพก็ยังเป็นปัญหาร้ายแรงที่พวกเขายังเผชิญอยู่อย่างไร้การเหลียวแลจากภาครัฐและเอกชนอย่างที่ควรจะเป็น
ที่สำคัญผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ขณะนี้อาจไม่หยุดอยู่แค่ 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านนาหนองบง บ้านกกสะท้อน บ้านภูทับฟ้า บ้านห้วยผุก บ้านโนนผาพุงพัฒนา และบ้านแก่งหิน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง เท่านั้น แต่มีแนวโน้มขยายวงกว้างออกไปอีก โดยเฉพาะกับแหล่งน้่ำสำคัญๆ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งต้นน้ำ
นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ เลขานุการกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด เล่าว่า เมื่อปี 2535 มีนายหน้าซื้อขายที่ดินเข้ามาติดต่อขอซื้อที่ดินจากคนในหมู่บ้าน โดยอ้างว่านำพื้นที่ไปใช้ปลูกไม้ยืนต้น ซึ่งในช่วงนั้นมีชาวบ้าน 8 รายขายที่ดินมือเปล่าที่ไม่ได้ทำเกษตรให้ราคาไร่ละ 1,000 บาท แต่ต่อมาในปี 2540 ชาวบ้านจึงรู้ว่าจะมีการทำเหมืองทองคำบนภูเขาที่ชาวบ้านใช้หาอยู่หากินมาเนิ่นนาน
นายสุรพันธ์ กล่าวต่อว่า เหมืองทองคำที่เกิดขึ้นนั้นภาครัฐและเอกชนก็บอกว่าจะทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นแต่ไม่เคยให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา
เลขานุการกลุ่มรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า หลังจากเปิดเหมืองได้ 2 ปี ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมากมายจึงเริ่มส่งหนังสือร้องเรียนขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยราชการทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ
“ช่วงเวลานั้นมีการตรวจพบการปนเปื้อนของไซยาไนด์และสารโลหะหนักในเลือดของชาวบ้านมากกว่า 400 ราย”
นายสุรพันธ์ กล่าวว่า แม้ว่าแพทย์จะระบุว่า ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากไซยาไนด์ รวมทั้งการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมแต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่กล้าระบุว่า เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมือง
แต่ถึงกระนั้น มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2554 ก็สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตร ของ บริษัท ทุ่งคำ เนื้อที่ประมาณ 291 ไร่ บนภูเหล็ก และแปลงอื่นๆ ออกไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน
นอกจากนี้ ครม.ยังสั่งให้จัดทำผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน แต่ปัจจุบันการดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวก็ยังไม่เกิดขึ้น!!!
นายสุรพันธ์ มองว่า การต่อสู้ตามสิทธิชุมชนของคนในหมู่บ้านกับอิทธิพลและอำนาจของทุน ซึ่งถูกละเลยจากภาครัฐได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า แม้จะมีการละเมิดสิทธิชุมชนและละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สร้างความเจ็บปวดซ้ำซากก็ยังคงจะดำเนินต่อไป
เขา ยังบอกด้วยว่า ถึงเวลานี้คงไม่คาดหวังแล้วว่า การต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิจะไปถึงคำว่า “ยุติธรรม”
นายเลียง พรหมโสภา วัย 61 ปี ชาวบ้านภูทับฟ้า กล่าวว่า ก่อนที่เหมืองนี้จะเกิดขึ้น สภาพน้ำในร่องห้วยเหล็กเคยใสสะอาด อยากกินปลาก็มีให้จับ อยากกินหน่อไม้ ผักกูด หรือพืชผักชนิดใดก็มี
“ชาวบ้านอยากได้กินอะไรก็มาหากันได้ที่นี่ แต่ทุกวันนี้น้ำกลายเป็นสีเหล็กเน่าเหม็น และมีน้ำผุดออกมาทั้งปี ไม่มีใครกล้าหาปลามากินอีกแล้ว แม้แต่ผักหญ้าต่างๆ ที่เคยกินก็ยังไม่กล้า”
นายเลียง เล่าต่อว่า ส่วนการทำนาปีๆ หนึ่ง สามารถได้ข้าว 40-50 กระสอบในพื้นที่ 12 ไร่ แต่เมื่อปีที่แล้วได้ข้าวแค่ 9 กระสอบ หนำซ้ำข้าวยังแห้งเหี่ยว จนทุกวันนี้เลิกทำนาไปแล้ว แต่จะขายที่ดินทิ้งก็คงทำไม่ได้เพราะเกิดที่นี่
“เคยไปให้แพทย์ตรวจสุขภาพ ผลเลือดยืนยันว่ามีสารไซยาไนด์ปะปนแต่ยังไม่เกินมาตรฐาน”
ด้าน นางขัน จุตโน วัย 56 ปี ภรรยาของนายสุวัต จุตโน วัย 61 ปี ซึ่งมีอาการขาลีบโดยไม่ทราบสาเหตุกระทั่งสุดท้ายเดินไม่ได้มากกว่า 2 ปี เล่าว่า สามีเริ่มมีอาการปวดแขน ขา เมื่อปี 2550 ต่อมาปี 2556 ขาของลุงสุวัตก็ค่อยลีบลงไปเฉยๆ แต่โชคดีที่ลูกชายยังคอยดูแลหารายได้จากการกรีดยางมาเลี้ยงดู เพราะแต่ละวันต้องซื้ออาหารและน้ำมาทานทุกอย่าง
เธอ เชื่อว่า สาเหตุของอาการป่วยของสามีมาจากสารพิษที่เจือปนมาในลำธารธรรมชาติ เพราะก่อนหน้านี้นายสุวัตกินข้าวจากนาที่ตัวเองปลูก หาปลาในท้องนาตนเอง และดื่มน้ำจากลำธาร แต่เมื่อมีเหมืองทองเข้ามานายสุวัตก็เริ่มป่วย
“ช่วงแรกสามีเริ่มปวดขา ปวดตามเนื้อตัวก็ไปพบแพทย์ แพทย์สันนิษฐานว่า เป็นโรคทับเส้น เราก็เชื่อแพทย์ แต่ต่อมามีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุข จ.เลย ลงพื้นที่เข้ามาตรวจในหมู่บ้านและได้ทำการเจาะเลือดชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองทองคำจึงตรวจพบว่าสามีมีสารไซยาไนด์ในเลือดเกินค่ามาตรฐาน”
ส่วน น.ส.สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เข้ามาเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2546 ช่วงที่เหมืองแห่งนี้เริ่มเข้ามาตั้งในพื้นที่ซึ่งจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำในลำน้ำฮวยก็พบสารไซยาไนด์อยู่บ้าง แต่ไม่ใช่สารที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งในช่วงนั้นเหมืองยังไม่ได้รับใบอนุญาตแต่งแร่แต่มีการทดลองแต่งแร่ ชาวบ้านจึงร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด
น.ส.สมพร เล่าต่อว่า ต่อมาปี 2549 บริษัทได้รับอนุญาตแต่งแร่ถูกต้องจึงทำให้เกิดผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากมีการเปิดหน้าดิน ทำให้ดินไหลเข้าไปในพื้นที่สวนของชาวบ้านซึ่งเป็นดินที่ปนเปื้อนสารเคมี
นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม ยังบอกด้วยว่า เมื่อถึงปี 2550 ได้พบสารพิษต่างๆ ในแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น โดยพบสารไซยาไนด์ แมงกานีส และสารหนู ต่อมาพบสารไซยาไนด์ในแหล่งน้ำบาดาลทำให้ชาวบ้านเกิดระคายเคืองผิวหนังและเป็นผื่นคัน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร้องเรียนไปทางจังหวัดกระทั่งมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ แต่คณะกรรมการชุดนี้ก็แค่ประชุมกันโดยไม่มีใครพูดถึงว่าเมื่อเจอไซยาไนด์แล้วจะทำอย่างไรต่อไป
ส่วนปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยของชาวบ้านนั้น น.ส.สมพร บอกว่า ทางสาธารณสุขได้เริ่มเข้ามาตรวจดูเมื่อปี 2552 โดยมีการตรวจอาหารในลำห้วยซึ่งพบว่ามีการปนเปื้อนโลหะหนักในลำห้วยเหล็กจึงมีประกาศห้ามกินหอย แต่ก็ไม่มีใครบอกว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ส่วนทางโรงพยาบาลวังสะพุงได้เข้ามาดำเนินการโครงการเฝ้าระวังให้กับชาวบ้านในพื้นที่เนื่องจากพบว่าชาวบ้านในพื้นที่ป่วยไปรักษาบ่อยขึ้นจึงมีการเจาะเลือดชาวบ้านปรากฏว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่มีสารไซยาไนด์ ปรอท และตะกั่ว ปนเปื้อนในเลือดในระดับมากน้อยแตกต่างกัน บางรายก็พบสารพิษแต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน
“ในร่องลำห้วยเหล็กซึ่งเป็นสวนยางและนาพบสารปนเปื้อน โดยชาวบ้านมีอาการแขนขาอ่อนแรง เราจึงสงสัยว่ามีการรั่วของบ่อกักเก็บไซยาไนด์ แม้เรายังไม่ฟันธงในเรื่องสาเหตุ แต่ก็ควรต้องรีบศึกษา ส่วนตัวเห็นว่าต้องค้นหาว่าใครเป็นคนก่อมลพิษ สิ่งสำคัญคือชาวบ้านเจ็บป่วยแล้ว เราไม่ต้องรอว่าใครทำ แต่กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้ามาดูแลเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบาย แต่บ้านเราเมื่อเกิดความเสี่ยงเช่นนี้ เราไม่มีกลไกอะไรเลย” น.ส.สมพร ระบุ
น.ส.สมพร เห็นว่า ควรศึกษาอาการป่วยของชาวบ้านในฝั่งฟากห้วยประกอบด้วยเพราะอาจมีความเสี่ยงแพร่กระจายไปถึงลำน้ำโขง เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ต้นน้ำและมีน้ำผุดแต่มีบ่อไซยาไนด์อยู่ น้ำจากห้วยเหล็กไหลสู่ห้วยฮวยก่อนลงสู่แม่น้ำเลย และจากแม่น้ำเลยก็ไหลลงสู่แม่น้ำโขงในที่สุด หากสถานการณ์เลวร้ายสุดคือบ่อไซยาไนด์พัง ปริมาณโคลนที่ไหลลงมาพร้อมไซยาไนด์จะเข้าสู่พื้นที่แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
“นี่คือบทเรียนที่สังคมควรจะตระหนักถึงผลกระทบจากการทำเหมือง โดยเฉพาะประชาชนในจังหวัดเลยไม่ควรเพิกเผยต่อปัญหานี้เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ปัญหาของตนเอง เพราะความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารเคมีที่ไหลไปตามลำน้ำไม่ได้จำกัดอยู่เพียง 6 หมู่บ้านเท่านั้น”
สำหรับพื้นที่ ต.เขาหลวง นั้นเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ทำให้มีลำห้วย ลำห้วยสาขา ลำราง หลายสายไหลผ่านพื้นที่รอบเหมืองทองคำ บางลำห้วยไหลผ่านบริเวณที่ตั้งเขื่อนไซยาไนด์ที่บรรจุน้ำปนเปื้อนไว้นับร้อยไร่ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่ลำห้วยหลักๆ จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ห้วยเหล็ก ห้วยดินดำ ห้วยเลี้ยงควาย ซึ่งไหลลงสู่ ห้วยผุก ลำห้วยฮวย ระยะทางรวมประมาณ 6 กิโลเมตร และจากลำห้วยฮวยจะไหลไปลงแม่น้ำเลย บริเวณบ้านห้วยโตก ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนจะถึงแม่น้ำเลยและไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขง ที่บริเวณบ้านปากคาน ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย
ตั้งแต่มีการทำเหมืองแร่มาตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 11 ปีแล้วแต่ผลกระทบจากการทำเหมืองก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่การใช้อิทธิพลมืดก่อเหตุการณ์รุนแรงที่เป็นปลายเหตุของปัญหาเท่านั้น แต่กับเรื่องสารพิษที่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็น “ต้นเหตุ” ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ เช่นกัน ซ้ำร้ายยังเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบในอีกหลายพื้นที่ตามเส้นทางผ่านของลำน้ำได้ และหากสิ่งที่เป็นภาวะเสี่ยงซึ่งหลายฝ่ายวิตกกังวลนั้นเกิดขึ้นจริงชาวบ้านก็คงเป็นผู้รับเคราะห์ไปเต็มๆ โดยหาคนมารับผิดชอบไม่ได้อีกเช่นเคย
————-
อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ