Search

รู้ทันกรมชล-คนสะเอียบมีมติเอกฉันท์ยันค้านเขื่อนชาวบ้านพร้อมใจปฎิเสธนโยบายผวจ.พัฒนาสุราสู่สากลเชื่อเป็นโครงการอาบยาพิษ

image

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ที่วัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้านสะเอียบ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดอนแก้ว บ้านดอนชัย บ้านดอนชัยสักทอง และบ้านแม่เต้น กว่า 100 คนร่วมกันประชุมหารือกัน และมีมติ ยืนยันการคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนยมบน-เขื่อนยมล่าง รวมทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมปฏิเสธโครงการพัฒนาสุรากลั่นชุมชนสู่สากล เนื่องจากเชื่อว่าเบื้องหลังเป็นแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษภายใต้โครงการเขื่อน

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่มีนโยบายที่จะพัฒนาศูนย์พัฒนาสุรากลั่นชุมชนสู่สากล โดยจะได้ตั้งขึ้นที่บ้านดอนแก้ว ต.สะเอียบ ซึ่งให้เหตุผลว่า 20-30 ปีที่ผ่านมารัฐไม่ได้มีโครงการพัฒนาสะเอียบเลย ทั้งที่สะเอียบนำรายได้เข้ารัฐปีละ 200-300 ล้านบาท จึงอยากจะตอบแทนชาวสะเอียบ ซึ่งเป็นชุมชนที่ผลิตสุรากลั่นชุมชนที่ดีที่สุด ยกระดับสู่สากล โดยการพัฒนาแพ็คเกจใหม่ให้ดูดี จะได้ส่งออกนอกได้ ทั้งนี้ทางจังหวัดแพร่ได้เคยจัดกิจกรรมพาชาวบ้านสะเอียบ ไปดูงานกาผลิตเซรามิคที่จังหวัดลำปางมาแล้วครั้งหนึ่ง

ต่อมาเมื่อชาวบ้านเริ่มรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น จึงมีมติ ไม่ยอมรับ โครงการพัฒนาศูนย์สุรากลั่นชุมชนสู่สากลนี้ โดยชาวบ้านพบว่าโครงการนี้อยู่ภายใต้แผนการโครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนยมบน-เขื่อนยมล่าง ซึ่งกรมชลประทานได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา 3 บริษัททำการศึกษาและได้สรุปเป็นแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษขึ้นมา โดยทางจังหวัดแพร่ก็ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกัน

ก่อนหน้านี้ได้มีนายอนุวัตร วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารจังหวัดแพร่ (อบจ.แพร่) ได้มาประชุมหารือกับกรรมการชุมชน โดยได้นำเหล้าเหมาไถ จากประเทศจีนมาให้กรรมการชุมชนได้ดูและชิมกัน และเสนอให้กรรมการชุมชนยอมรับการพัฒนาโครงการศูนย์สุรากลั่นชุมชนสู่สากล ซึ่งในครั้งนั้นกรรมการชุมชนตำบลสะเอียบก็ได้ให้เหตุผลไปแล้วว่าทำไมจึงไม่ยอมรับโครงการดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องมีการประชุมขอมติชาวบ้านในวันนี้อีกครั้งหนึ่ง

นางสุดารัตน์ ชัยมงคล ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัย หมู่ 1 ต.สะเอียบ กล่าวถึงเหตุผลว่าทำไมชาวสะเอียบจึงคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ว่าเพราะโครงการเหล่านี้ทำลายป่าสักทองผืนสุดท้ายของคนไทยทั้งชาติ ทำลายชุมชนสะเอียบ อีกทั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้ ขณะที่มีทางออกอีกมากมายในการแก้ไขปัญหา

“เราเสนอเหตุผลการคัดค้านและทางออกให้ทุกรัฐบาล ให้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง อาทิ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การทำแก้มลิงทั่วทั้งลุ่มน้ำยม การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็กทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ซึ่งได้ประโยชน์มากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง และเขื่อนแก่งเสือเต้น ส่วนโครงการศูนย์พัฒนาสุรากลั่นชุมชนสู่สากลเราก็ไม่ยอมรับเพราะเราเห็นว่าเป็นโครงการพัฒนาภายใต้แผนการสร้างเขื่อน ซึ่งไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่ยอมรับการพัฒนา แต่การพัฒนาที่แอบแฝงยาพิษมาเช่นนี้เราคงรับไม่ได้ ทั้งที่เมื่อวันก่อนนายก อบจ.แพร่ ได้มอบงบพัฒนาวัดดอนชัน 200,000 บาท เราก็ยินดีรับมาพัฒนาวัด แต่โครงการพัฒนาที่แอบแฝงมา แม้งบเป็น 100 ล้าน เราก็คงไม่เอา เราคนสะเอีบบไม่ได้เห็นแก่เงิน เรารู้และเลือกที่จะพัฒนา เราไม่ใช่หมาที่จะงับกระดูกที่เขาโยนมาให้” นางสุดารัตน์ กล่าว

ในที่ประชุมนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ ได้ขอมติจากชาวบ้านที่มาเข้าร่วมประชุมโดยการยกมือ ซึ่งปรากฏว่าชาวบ้านทั้งหมดยกมือคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และไม่ยอมรับโครงการศูนย์พัฒนาสุรากลั่นชุมชนสู่สากลอีกด้วย

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →