image

เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2557 นายสนิท แซ่ซั่ว ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเล กล่าวว่า หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีการเปิดเผยข้อมูลและผลการพิสูจน์กระดูกบรรพบุรุษของชาวเล ที่หาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เมื่อไม่นานมานี้ ชาวเลที่หาดราไวย์รู้สึกมีความหวังในการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินมากขึ้น หลังจากถูกภาคเอกชนและรัฐบาลพยายามผลักดันและฟ้องร้องกรณีละเมิดหรือบุรุกที่ดินในชุมชนราไวย์มานาน โดยขณะนี้ ดีเอสไอ ยังคงเร่งดำเนินการเพื่อค้นหาหลักฐานต่อไป โดยในส่วนของการพิสูจน์กระดูกโบราณนั้น ดีเอสไอแจ้งกับชาวบ้านบางส่วนว่า ยังสามารถใช้หลักฐานคือผลตรวจดีเอ็นเอไปใช้ประโยชน์ในการต่อสู้อีกหลายกรณี แต่ขอเก็บเป็นความลับก่อน ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั้งหมด เพราะอาจส่งผลต่อรูปคดีและการสทบพยานหลักฐาน

“ที่ผ่านมาเรากลัวว่านายทุนจะเล่นงาน รัฐบาลจะฟ้องเพิ่ม อยู่บนความกลัว พอผลพิสูจน์ดีเอ็นเอออกมาและมีการส่งมอบกระดูกสู่ชุมชน พวกเรารู้สึกมีความหวังมากขึ้น แม้จะสู้มานานหลายปีก็ตาม ทุกวันนี้รู้สึกอบอุ่นเหมือนมีอะไรบางอย่างมาดลใจ มาช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ในทางที่ถูกต้องและทวงคืนทรัพย์สินของเรา เพื่อประโยชน์ในภาคหน้า” นายสนิท กล่าว

นายสนิท กล่าวด้วยว่า สำหรับชุมชนราไวย์ นั้นมีชาวเลถูกดำเนินคดีทั้งจากเอกชน และภาครัฐกรณีการละเมิดที่ดินและบุกรุกที่ส่วนบุคคลมีทั้งหมด 101 คดี ยื่นอุทธรณ์ 7 คดี และยื่นฏีกา 2 คดี โดยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา มี 3 คดีที่ศาลตัดสินให้ยกฟ้องและถอนฟ้อง โดยประกอบไปด้วยตนและเพื่อนบ้านอีก 2 คน เจอข้อหาละเมิดที่ดินส่วนบุคคล แต่ศาลให้โจทย์ถอนฟ้องเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ประกอบกับงานวิจัยจากนักวิชาการหลายที่ยอมรับว่ามีหลักฐานช่วยให้ชาวเลรอดพ้นจากการดำเนินคดีมากขึ้น แม้ในคดีที่เหลือจะยังอยู่ในขั้นพิสูจน์หลักฐานก็ตาม แต่ก็เชื่อว่า คดีที่ถูกยกฟ้อง ถอนฟ้อง จะสามารถใช้เป็นคดีตัวอย่าง เพื่อทวงสิทธิ์ของชาวเลทั้ง 5 จังหวัดในภาคใต้ได้

นายสนิทกล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่า จากประสบการณ์ของการทำงานเครือข่ายชาวเล และต่อสู้มาจนถึงปัจจุบัน ในอนาคตอาจมีการจัดเวทีเล็กๆ เพื่อถอดบทเรียนเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนของชาวเล เพื่อศึกษาหนทางต่อไป เพราะยังมีอีกหลายเกาะที่เผชิญปัญหาไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตามสำหรับหาดราไวย์เอง โชคดีที่ค้นพบกระดูกโบราณ ไม่แน่หากในอนาคตทางการอนุญาตให้สืบค้นหลักฐานคล้ายๆกันในเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เกาะพีพี จังหวัดพังงา ฯลฯ ก็อาจจะพบหลักฐานที่ช่วยชาวเลได้ไม่ต่างกัน แต่กระบวนการทั้งหมดต้องใช้เวลา พื้นที่ราไวย์มีเครือข่ายเข้มแข็ง นายทุนอ่อนกำลัง จึงพอสู้ได้แม้จะถูกฟ้องนับร้อยรายก็ยังไม่มีใครยอมท้อ แต่กรณีเกาะอื่นๆ เรื่องอิทธิพลมีมากมาย ยากที่จะแก้ไขเพราะมีชาวบ้านเป็นตัวประกัน อาจเจอทำร้ายร่างกายและข่มขู่ด้วยวิธีอื่นได้

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัยและให้ออกจากพื้นที่นั้น ยังคงเป็นความขัดแย้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากนายทุนยังคงเดินหน้าอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินดั้งเดิมของชาวเล ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมาทางกองทัพเรือภาค 3 ได้ส่งทีมงานเข้าไปลงพื้นที่ โดยได้เชิญผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆเข้าร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นไปในเรื่องการจัดระเบียบชายหาด มากกว่าการแก้ไขปัญหาของชุมชนโดยเฉพาะชาวเล

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.