เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ชาวบ้านชุมชนชายขอบประกอบด้วย ชาวเลจากจังหวัดในแถบทะเลอันดามัน และกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นในจังหวัดชุมพร ระนองและประจวนฯกว่า 70 คน ได้เดินทางมายังกทม.และแยกย้ายกันไปยื่นหนังสือยังหน่วยงานราชการ 3 แห่ง โดยกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเดินทางไปยังกระทรวงมหาดไทย ขณะที่ชาวเล เดินทางไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอให้หน่วยงานเหล่านี้เร่งรัดแก้ปัญหาความเดือดร้อน
โดยเมื่อเวลา 09.00 น.ที่กระทรวงมหาดไทย เครือข่ายไทยพลัดถิ่นประมาณ 20 คน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงฯ เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่นแบบเบ็ดเสร็ต ( One stop Service )หลังจากที่ผ่านมาการดำเนินการต่างๆ ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2555 เจ้าหน้าที่รัฐหลายพื้นที่ยังคงดำเนินการล่าช้า โดยมีนายวีนัส สีสุข ผู้อำนวยการฝ่ายทะเบียนราษฎร์ เป็นตัวแทนปลัดฯ มารับหนังสือแทนเนื่องจากปลัดติดภารกิจที่อื่น
ทั้งนี้นายวีนัส ได้ใช้เวลาเจรจาหารือกับเครือข่ายเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ด้านหน้ากระทรวงฯ โดยได้ตอบคำถามข้อข้องใจบางส่วนจากตัวแทนเครือข่าย โดยยืนยันว่ารายละเอียดของปัญหาที่ทางเครือข่ายยื่นข้อเสนอมานั้นทางกระทรวงกำลังจะจัดประชุมในวันที่ 23 กรกฏาคม 2557 นี้ ในการประชุมร่วมกับ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (PMOVE) ซึ่งมีประเด็นเรื่องการขอคืนสัญชาติเป็นประเด็นหนึ่งในการประชุมด้วย
นายวีนัส กล่าวว่า ขณะนี้รายชื่อเรื่องคนที่มีการขอรับรองความเป็นไทยพลัดถิ่นมีอยู่ประมาณ 2,000 คน ทั้งนี้จากที่อำเภอมีรายงานมา คือ พบคนได้สัญชาติส่วนมากเป็นคนรุ่นลูก ซึ่งมักได้สัญชาติตามสถานที่เกิด หรือแผ่นดินเกิด แล้วต้องการขอสัญชาติให้พ่อแม่ แต่จะใช้กระบวนการเดียวกันไม่ได้ เพราะขั้นตอนของรุ่นพ่อ รุ่นแม่จะต้องขอโดยการใช้กระบวนการแปลงสัญชาติจากสัญชาติเดิมมาเป็นสัญชาติไทย ซึ่งกรณีอย่างนี้แจ้งทางอำเภอไว้แล้ว ส่วนกรณีอื่นๆ เช่น การร้องเรียนเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการล่าช้าตนจะแจ้งให้ทราบ และเร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็ว
ด้านนางสาววรรณธิดา เมืองสุข ผู้แทนเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น กล่าวว่า ปัญหาของคนไทยพลัดถิ่นตอนนี้พบปัญหาการจำหน่ายบัตรแก่คนไทยที่ขอคืนสัญชาติ จำนวนมากถึง 500 คน โดยปีที่มากที่สุด คือปี 2552และ2555 โดยคนไทยที่ถูกจำหน่ายบัตรพบถูกโยกย้ายที่อยู่โดยเจ้าตัวไม่รู้รายละเอียด ทราบอีกทีเมื่อไปขอเอกสารจากทางอำเภอ พบว่าไม่มีชื่อตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ ทำให้ขาดสิทธิขั้นพื้นฐานใดๆ ไม่มีสิทธิแจ้งเกิด แจ้งตาย เดินทางไปทำงานนอกพื้นที่จะถูกจับ ถูกรีดไถ สมัครทำงานในระบบไม่ได้ เป็นได้เพียงผู้ใช้แรงงาน รับจ้าง มักถูกเบี้ยวค่าแรง ถูกเอาเปรียบ ถูกข่มขู่คุกคาม ไม่มีสิทธิแจ้งความ เด็กส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการศึกษา ไม่มีสิทธิในการจดทะเบียนเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ต้องฝากในนามคนอื่นและมักจะถูกโกง เช่น การซี้อรถ ซื้อบ้าน ฯลฯ เป็นต้น ส่วนนี้ คือ ปัญหาหนัก ที่กระทรวงต้องเร่งแก้ไข
นายมานะ ทองสุข อายุ 17 ปี เยาวชนจากเครือข่ายไทยพลัดถิ่น อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า พ่อแม่และญาติของตนถูกย้ายชื่อไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ถูกจำหน่ายบัตรมานานหลายปี ประสบปัญหาหลายด้านไม่สามารถดำเนินการขอเอกสารทางราชการได้ทั้งๆ ที่มีบัตรประจำตัวประชาชนขอแปลงสัญชาติเป็นไทย มานานแล้ว แต่ยังน่าแปลกใจที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ เพราะปัญหาการจำหน่ายบัตรของเจ้าหน้าที่รัฐ
ในเวลาเดียวกันกลุ่มชาวเลราว 20 คนได้เดินทางไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เพื่อยื่นหนังสือให้แก้ไขปัญหาความเดือนร้อนโดยมีนายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงฯเป็นผู้รับข้อร้องเรียน โดยได้สะท้อนปัญหาการถูกขับไล่ออกจากที่ดิน จนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี รวมไปถึงเรื่องการทำมาหากินในทะเลและพื้นที่ทางวัฒนธรรมต่างถูกรุกรานและถูกจับกุม จึงอยากให้พม.ช่วยประสานกับปลัดสำนักนายกฯในการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเหมือนครั้งก่อน รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการชาวเลขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ขอให้พม.จังหวัดได้เป็นพี่เลี้ยงชาวบ้านในการดูแล โดยขอให้ยกระดับงานด้านนี้ให้ชัดเจนขึ้น และขอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)ซึ่งสังกัดพม.เข้ามาร่วมดูแลกลุ่มชาวเลโดยไม่ได้แยกเป็นรายจังหวัด เพราะชาวเลในอันดามันเชื่อมร้อยกันเป็นเครือญาติกันทั้งสิ้น
ทั้งนี้นายวิเชียรได้รับปากกับชาวบ้านในบางเรื่อง แต่บางเรื่องนายวิเชียรเห็นว่าไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของพม.
ขณะที่ชาวเลอีกกลุ่มหนึ่งได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยมีนายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวธ.เป็นผู้รับหนังสือ ทั้งนี้นายภินันท์ได้รับข้อเสนอไว้บางเรื่อง แต่บางเรื่องก็ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของวธ. อย่างไรก็ตามนายอภินันท์ได้รับปากว่าจะลงพื้นที่ชุมชนชาวเลและจะชวนผู้แทนคสช.ไปด้วย
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.