เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ที่ชุมชนหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดเวทีถอดบทเรียน เรื่อง “ ข้าวคืนนา ปลาคืนน้ำ อีสานคืนถิ่น คืนที่ดินให้ชาวไร่ชาวนา เวทีคืนสิทธิที่ดิน คืนความเป็นธรรม” ซึ่งมี ชาวบ้านและเครือข่ายภาคประชาชน ภาครัฐ ร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน โดยมีนายเกรียงเดช วัฒนวงค์ศิลป์ ปลัดจังหวัดเป็นประธานในพิธี รวมทั้งมีนายโสม คำนวน อายุ 84 ปี ชาวตำบลหนองกินเพล ตัวแทนชาวบ้านที่ชนะคดีพิพาทที่ดินเข้ารับมอบโฉนดที่ดินจากปลัดฯ และร่วมเสวนาถอดบทเรียนด้วย ซึ่งบรรยากาศในงานประกอบด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญแก่นายโสม และชาวบ้านที่ชนะคดีความรวมทั้งหมด 5 คน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการต่อสู้กรณีที่ดินในจังหวัดอุบลฯ
นายโสมให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกดีใจ ที่ได้รับการคืนสิทธิ์ที่ดินและมีโฉนดที่ดินเป็นของตนเองและพร้อมสำหรับการจัดสรรที่ดินให้บุตรหลานต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ในอดีตนั้น ตนเคยมีที่ดินประมาณ 45 ไร่ แต่ถูกนายทุนหลอกซื้อไปหมด กระทั่งขณะนี้มีเหลือ 20 ไร่ เป็นที่ดินที่รักษาไว้เองประมาณ 7 ไร่ที่เหลือเพิ่งได้มาจากสำนักงานที่ดิน 12 ไร่ ที่ดินทั้งหมดเกิดจากการแผ้วถางและบุกเบิกมาโดยบรรพบุรุษในพื้นที่ แต่ระยะหลังพอเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองทางอสังหาริมทรัพย์ เติบโตนายทุนก็พยายามกว๊านซื้อและสร้างเอกสารปลอมขึ้นมาเพื่อนำที่ดินไปขายสร้างกำไรเพิ่ม ชาวบ้านในชุมชนเผชิญปัญหาเดียวกันหมด แต่มีไม่กี่คนที่ต่อสู้และชนะคดี หลายคนเสียเงินค่าดำเนินการทางคดีความและการต่อสู้มาจำนวนมาก แต่ยังไม่เห็นความหวังว่าจะได้ที่ดินคืนมา ในฐานะที่ได้รับมอบที่ดินคืน จะขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องทุกคนและร่วมต่อสู้ต่อไป อย่างน้อยก็ร่วมกำจัดทุนที่ไม่เป็นธรรม
“ผมเคยคิดจะหยุด แต่เครือข่ายไม่ให้หยุดเคลื่อนไหว พอมองเห็นหน้าลูกเริ่มคิดได้ว่า เราจะแพ้ไม่ได้ แก่แค่ไหนก็ต้องทนสู้ เราเสียมันไปไม่ได้ ปีนี้ตั้งใจว่าจะปลูกมันสำปะหลัง ในที่ดินผืนที่ได้รับมอบมา โดยเมื่อก่อนหลงผิดปลูกยูคาลิปตัส แล้วไม่เกิดประโยชน์ แต่ต่อไปจะหันมารักษาดินไว้ให้ดี เพราะกว่าจะได้มา มันยากมาก บทเรียนตอนนี้บอกว่า การไม่มีเงินโอกาสชนะยากมาก แผ่นดินอีสานคือแผ่นดินทอง เสียได้ไง ลูกหลานจะเอาอะไรกิน เพราะทุกคนโตมากับอาชีพ กับผลผลิตจากที่ดินที่เคยมีทั้งนั้น ถึงมีไม่มากก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้รุ่นหลังมีสิทธิที่ทำกิน “ นายโสม กล่าว
นายโสม กล่าวด้วยว่า ครั้งหนึ่งเมื่อยังไม่มีเครือข่ายชาวบ้านร่วมต่อสู้ เคยเสียค่าทนายไปประมาณ 20,000 บาท ครั้งนั้นแทบถอดใจ เพราะหาเงินไปสู้คดีไม่ได้ จุดนี้ คือสิ่งที่คนจนมีโอกาสแพ้สูง ทนาย ค่าคดีความ มันมีราคาแพงมาก แต่ละครั้งเราต้องยอมจำนน เพราะคำว่าไม่มีเงิน แต่ตอนนี้เหมือนมีแสงสว่าง เห็นช่องทางการต่อสู้ และความเป็นปึกแผ่นของชุมชน ทำให้ก้าวผ่านปัญหามาได้ เชื่อว่าหากความยุติธรรมของไทยไม่ตาย สังคมนี้จะมีโอกาสเห็นความสำเร็จของพี่น้องที่ต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินมากขึ้น
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.