เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวเลในจังหวัดแถบอันดามัน ภายหลังวันที่ 21-22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มมอแกน มอแกลนและอูรักลาโว้ย ได้ร่วมกันเดินทางมายังกทม.เพื่อยื่นหนังสือถึงหน่วยงานราชการและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยล่าสุดม.ล.ปนัดดา ดิสกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี เลขที่ 116 /2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ตามข้อเสนอของเครือข่ายชาวเลที่ต้องการให้มีคณะกรรมการชุดนี้เข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนโดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งเรื่องที่ดินซึ่งชาวเลถูกขับไล่และฟ้องร้องอย่างหนัก
ทั้งนี้ในคำสั่งของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ซึ่งมีด้วยกัน 35 คน โดยมากจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน และผู้แทนชาวบ้าน โดยมีพลเอก สุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)เป็นประธาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น รองประธาน
สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯคือ 1.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและปัญหาในเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ระกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมและประเพณีชาวเล 2.อำนวยการและติดตามผลการดำเนินการของส่วนราชการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยงข้อง 3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
4.เชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐและบุคคล เข้าร่วมประชุมชี้แจง ข้อเท็จจริง ให้ข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยงข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไข 5.ปฏิบัติงานอื่นๆตามที่ได้รับมอบหมาย
พลเอกสุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ แล้วนั้น ตนและกรรมการจะเรียกประชุมครั้งแรกภายใน 3 วัน โดยจะวางแผนแก้ปัญหาเร่งด่วนกรณีชุมชนชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต โดยอาจมุ่งแก้ปัญหาเรื่องสิทธิทำกินในทะเลอันดามัน เพื่อให้ชาวประมงได้ประกอบอาชีพอย่างไม่เดือดร้อน และเร่งติดตามกรณีดีเอสไอ ตรวจกระดูกโบราณ ซึ่งน่าจะใช้ประกอบการสู้คดีของชาวเลที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว
พลเอกสุรินทร์กล่าวว่า อีกชุมชนเร่งด่วน คือชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล คาดว่าจะเร่งรัดเรื่องการประสานงานให้มีการชะลอการฟ้องไล่รื้อ และคุ้มครองคุณภาพชีวิตชุมชน ตลอดจนชะลอเรื่องการบุกรุกพื้นที่วัฒนธรรม รวมทั้งเร่งรัดในการตรวจสอบเอกสารสิทธิของเอกชน โดยจะเร่งขอความร่วมมือให้ผู้ครอบครองมาชี้แจงข้อมูลที่ถือครองที่ดินและเร่งรัดเรื่องการคุ้มครองชาวเลจากการข่มขู่และคุกคามของกลุ่มผู้มีอิทธิพล ซึ่งอาจจะลงพื้นที่เพื่อประสานงานร่วมกับชุมชน ภายใน 1 -2 เดือน นี้
“หลีเป๊ะแก้ยากเพราะ ชาวบ้านขัดแย้งกันเองด้วย ชาวเลบางรายก็พยายามจะโกงที่ดินของเพื่อนบ้าน ขณะที่เอกชนเองก็พยายามจะใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือ อีกทั้งอุทยานแห่งชาติฯ ก็ถือว่ามีความขัดแย้งกับชาวเลไม่น้อย เพราะเมื่อวานนี้(22 กค.)ในที่ประชุม อุทยานฯ เองก็ระบุว่าจะเอาจริงเรื่องการบุกรุกที่อุทยาน ฯ ซึ่งมีการเผยข้อมูลว่า ชาวเลบางรายก็บุกรุกเพราะรับจ้างนายทุน ส่วนนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่สามรถพิสูจน์ได้ แต่หากใครทำผิดก็ว่าไปตามผิด ใครเดือดร้อนจริง ก็คงต้องช่วยเขา เพราะความรุนแรงเกิดกับชาวเลเกาะหลีเป๊ะนั้น ถือว่าอิทธิพลมืดมีมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยเหลือยาก” พลเอกสุรินทร์ กล่าว
ขณะที่นายเจียม สับสันติเรน ชาวเกาะหลีเป๊ะ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนย้ายมาอยู่กับภรรยาที่เกิดในเกาะหลีเป๊ะได้ประมาณ 3 ปี ภรรยาบอกว่าที่ดินเป็นของพ่อ-แม่ของเขา แรกๆก็อยู่อย่างสบายใจ ระยะหลังมีคนอาอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ พยายามไล่เราออก ยิงปืนขู่ ส่งคนมาเตือน ชาวเลทุกคนอยู่ในความกลัวแต่โชคดีที่ขณะนี้ชาวเลได้รับความคุ้มครองจากกองทัพเรือภาค 3 ความรุนแรงลดลงก็จริงแต่ไม่อาจไว้ใจสถานการณ์ได้ โดยครอบครัวของตนมีบ้าน 1 หลัง แบ่งให้ลูกกับครอบครัวอยู่ด้วยกัน ขณะนี้ถูกนายทุนเจ้าของรีสอร์ทไล่รื้อโดยเสนอเงินให้ 30,000 บาท แต่ไม่ได้บอกว่าให้ย้ายไปอยู่ที่ใด ตนจึงปฏิเสธ เพราะเกรงว่าไม่มีที่ดินทำกิน แต่ก็ต้องเดือดร้อนเรื่องสาธารณูปโภค เพราะบ้านชาวเลนั้นซื้อไฟจากเอกชน เช่น โรงแรม ค่าไฟเดือนละ 2,000 บาท ขณะที่รายได้อยู่แค่เดือนละ8,000ถึง 10,000 บาท ซึ่งหากยอมรับเงินจากนายทุน ค่าซื้อหลังคาบ้านยังไม่พอ แล้วหากย้ายจริงๆ ก็กลัวว่าจะต้องเช่าที่ดินเขาอยู่ตนจึงต้องอดทนต่อสู้
“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นใจเรา ตอนนี้เราไม่รู้ว่าทำไมเอกชนเขามีเอกสารสิทธิ์ ทำไมเราไม่มีอะไรเลย ทั้งที่เราอยู่มาก่อน เขาเอาอะไรมาวัดว่าพวกเราผิด ต้องออกจากพื้นที่ เรารับไม่ได้และไม่รู้ที่มาของปัญหานี้ ไม่รู้ใครโกงเอกสาร ใครโกงที่ดิน อยู่ๆ เขาถือเอกสาร นส.3 มาแสดงให้เราดู แล้วก็เสนอให้เราอออกไปจากพื้นที่ ผมกลัวว่าวันหนึ่งเขาจะฟ้องศาล เรายังไม่รู้จะทำอย่างไร หากเรื่องถึงศาล แต่ยืนยันว่า เราอยู่มานาน 4 รุ่นแล้ว” นายเจียม กล่าว