Search

ลือกระฉ่อนทหารจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติอีกระลอกหวั่นถูกจับ-พ่อค้าแม่ขายพม่าปิดร้านหนี-ชุมชนมหาชัยเงียบแฉเบื้องลึกเหตุจากระบบส่วย-ผู้มีอิทธิพลหวั่นถึงตัววอนเร่งหาทางออกก่อนธุรกิจค้าปลีกสะเทือนทั้งระบบ

image
บรรยากาศในตลาดไทยยูเนี่ยนซึ่งเคยคึกคัก แต่เมื่อร้านค้าของพ่อค้า-แม่ค้าพม่าปิดหนีเพราะกลัวข่าวลือเป็นจริง ทำให้กลายเป็นความเงียบเหงา

นายไพโรจน์ มั่นสิน หัวหน้าผู้ดูแลชุมชนตลาดกุ้ง อาคารเช่าของแรงงานชาวพม่าในเมืองมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ขณะนี้บรรยากาศในชุมชนค่อนข้างเงียบ เพราะเมื่อเร็วๆนี้มีคนมาปล่อยข่าวว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้แจกใบปลิวออกคำสั่งให้ชาวพม่าที่ประกอบกิจการร้านค้าโชว์ห่วยเลิกขายของ หากใครฝ่าฝืนต้องถูกดำเนินคดี และจ่ายค่าปรับกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากร้านค้านั้นเป็นการดำเนินกิจการแบบเล็กๆ ตามกฎหมายไทยอนุญาตเฉพาะคนไทยเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ และห้ามแรงงานข้ามชาติประกอบอาชีพดังกล่าว ซึ่งเดิมมีชาวพม่าเปิดร้านค้าในห้องเช่าประมาณ 20 ร้าน มีการขายของทั้งอาหารตามสั่งแบบพม่า และขายของทั่วไป แต่เมื่อมีข่าวลือดังกล่าวทำให้แรงงานพม่าเริ่มกลัวและระแวงว่าจะถูกดำเนินดี จึงต้องปิดร้านไป ทั้งนี้ยังมีอีกหลายชุมชน เช่น ชุมชนไทยยูเนี่ยน และตลาดมหาชัยนิเวศน์ ฯลฯ มีบรรยากาศเงียบเหงาไม่แตกต่างกัน โดยคนในชุมชนปิดกิจการร้านค้าทั่วไปได้ประมาณ 10 วันแล้ว 

“เรื่องใบปลิวแจกจริงมั้ย ไม่มีใครรู้ แต่ก็มีบ้างที่ทหารลงมาตรวจ แต่ก็ไม่ได้มีใครโดนจับอะไร และไม่ได้ยืนยันว่า ทหารออกมาสั่งห้ามขาย ซึ่งจริงๆ มันก็ขายไม่ได้นั่นแหละตามกฎหมาย เขาห้ามแรงงานข้ามชาติมาแสวงหากำไรอยู่แล้ว แต่เหตุผลของคนพม่าที่ขายทั้งก๋วยเตี๋ยว ข้าว ของจุกจิกเพราะเขาสื่อสารกันง่าย อ่าน เขียนออกโดยไม่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติม โดยเจ้าของห้องเช่าก็อาจขอคิดค่าเช่าเพิ่มเติมกรณีใครขายของ แต่ก็ไม่มากนัก ผมยังงงว่า เขาจะรีบปิดร้านทำไม แต่ชาวพม่ายืนยันว่ายังไม่กล้าเปิด แรงงานที่ทำงานกะกลางคืนก็ต้องห่อข้าวไว้กินเอง ส่วนกลางวันสบายหน่อยออกเดินตลาดอื่นที่มีคนไทยขายใกล้ๆได้ ไม่มีปัญหา ” นายไพโรจน์ กล่าว

นางแอเมง (นามสมมุติ) แรงงานชาวพม่าจากเมืองมะละแหม่ง วัย 64 ปี กล่าวว่า ตนทำงานที่สมุทรสาครมานานกว่า 30 ปี โดยเริ่มแรกขนส่งกุ้งจากแพประมงในตลาดกุ้งและโรงงานแกะกุ้ง พอสามีตายก็เปลี่ยนมาเป็นขายข้าวผัดโดยได้ขออนุญาตเจ้าของอาคารเช่าเปิดร้านค้าขายให้แรงงานที่ทำงานกะกลางคืน ซึ่งดำเนินกิจการมาเกือบ10 ปีแล้ว รายได้ประมาณ 700-800 บาทต่อวัน ครั้นพอมีข่าวลือว่าทหารจะมาจับก็ต้องปิดร้านก่อน เพราะกลัวถูกจับและถูกส่งกลับประเทศพม่า ทั้งที่ตนไม่อยากจะกลับ แม้จะต้องถือบัตรแรงงานข้ามชาติไปตลอดชีวิตก็ยินดีอยู่ เพราะที่มะละแหม่งนั้น การครอบครองที่ดินทำกินก็ลำบาก ตนไม่มีที่ดินและที่ทำกินมากพอ จะซื้อเรือทำประมงแถวมะละแหม่งก็ไม่มีเงินเก็บขนาดนั้น จึงตั้งใจไว้ว่าจะอยู่ประเทศไทยต่อไป แต่ทำงานโรงงานไม่ไหวจึงต้องมาเปิดร้านค้า

“ตอนแรกลงทุนกับเพื่อน 2 คน แล้วก็บอกคนไทยว่าขอจ่ายค่าเช่าด้วยกัน เขาก็ให้ทำ ไม่ว่าอะไร ค่าเช่าไม่แพงแค่จ่ายเพิ่มเดือนละ 500 บาทเท่านั้น ส่วนค่าเช่าห้องปกติเดือนละ 4,000 บาท ช่วงนี้เขาบอกว่าทหารให้ปิดก่อน แล้วขอให้คนไทยลงมาดูแลเอง ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น ก็ดีเหมือนกัน แต่ร้านแถวนี้ไม่มีคนไทยอยากขายข้าว เขาขายแค่น้ำ ของอื่นๆ ไม่ขาย เดี๋ยวรอดูก่อนว่าเขาเอายังไง ถ้าเขาให้คนไทยเป็นเจ้าของป้าก็รับจ้างผัดข้าวก็ได้ แต่กลัวกำไรไม่มี” นางแอเมง กล่าว

image

ด้านนายอาโป (นามสมมติ) เจ้าของร้านโชว์ห่วยในชุมชนไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า ปิดกิจการร้านค้ามา 10 กว่าวันแล้ว เพื่อรอดูท่าทีว่าทางการไทยจะดำเนินการอย่างไร แต่เชื่อว่าเรื่องข่าวลือทหารแจกใบปลิวนั้นไม่จริง สิ่งที่ชาวพม่าบางคนไม่เปิดเผยออกมา คือ ตามหลักการเปิดร้านค้าของชาวพม่านั้น ทุกคนรู้ว่าตามกฎหมายดำเนินการไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนไทย ซึ่งส่วนนี้ทั้งเจ้าของห้องเช่า เจ้าหน้าที่และแรงงานต่างรู้ดี แต่ที่ยังต้องดำเนินการอยู่ เพราะชาวพม่าสื่อสารภาษาไทยกับคนไทยลำบาก หากจะซื้อของในร้านคนไทยก็กลัวจะสื่อสารพลาด ตนและคนอื่นๆก็จำใจต้องเปิด แต่เบื้องหลังการเปิดร้าน คือระบบส่วยทำกันมานาน มีตั้งแต่เงินที่จ่ายให้เจ้าหน้าที่ ผู้มีอิทธิพล เพื่อนบ้านและผู้รู้เห็น ทั้งเป็นรายเดือนและรายปี

นายอาโปกล่าวว่า ส่วยที่แรงงานผู้ประสงค์เปิดร้านค้าต้องจ่ายให้ระบบนั้นมีตั้งแต่เดือนละ 2,000 -5,000 บาท แต่พอเจ้าหน้าที่ทหารเริ่มประกาศนโยบายด้านความมั่นคง คนที่ปล่อยข่าวให้ชาวพม่าปิดร้านก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นผู้มีอิทธิพลเพราะเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะสืบมาถึงตนกรณีการรีดส่วย โดยช่วงที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามานั้น ระบุแค่เพียงว่า หากใครจะเปิดร้านต้องขอใบอนุญาต แต่คนคุมส่วยไม่กล้าพอที่จะรับการดำเนินการ จึงพยายามปล่อยข่าวลือให้ชาวพม่ากลัว โดยมีบางรายถูกจับและปรับไปบ้างแล้ว ร้านค้าอื่นๆ จึงทยอยปิดตัวตามทำให้บรรยากาศเงียบลงไป คนที่เดือดร้อนคือผู้ซื้อสินค้าในพื้นที่ ที่ยังคงอ้างว่าสื่อสารกับคนไทยไม่เข้าใจ

“ผมว่ามันก็ดีที่ทหารจัดระบบ แต่จัดเร่งๆ เพราะยิ่งช้าผมยิ่งแย่ ใจหนึ่งก็ดีที่ไม่ต้องจ่ายส่วยหนักเหมือนเมื่อก่อน แต่อีกใจสงสารแรงงาน เขาก็ไม่รู้จะไปซื้อสินค้าที่ไหน คนไทยที่นี่ก็ไม่ได้เยอะพอจะจะขายของให้พม่าได้ทั้งหมด มีแค่ตลาดใหญ่มหาชัยนิเวศน์เท่านั้นที่มีแม่ค้า พ่อค้าคนไทยเยอะ แต่ส่วนมากตลาดนั้นเป็นตลาดขายส่ง คนพม่าจะไปซื้อที่ตลาดนั้นเพราะต้องการซื้อสินค้าแบบชุดใหญ่ เอามาขายปลีกที่แฟลตของตัวเอง เขาก็ได้กำไรกันเยอะ หากจัดระบบดีๆ ก็มีประโยชน์กับคนซื้อ คนขายและกฎหมายไทย เพราะปล่อยไว้ระบบส่วยก็กลับมา ภาษีเถื่อนก็กลับมาอีก” นายอาโป กล่าว

ขณะที่นายมาน แรงงานชาวพม่า ที่ใช้ชีวิตในตลาดไทยยูเนี่ยนและซื้อสินค้าในตลาด กล่าวว่า ร้านคนพม่าจำเป็นต้องมี เพราะการซื้อขาย มันเป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารให้ดี คนที่ไม่รู้ภาษาไทยจะลำบาก โดยจากประสบการณ์ ตนเคยถูกแม่ค้าไทยไล่ออกจากร้านตอนเปิดตู้เย็นเลือกเครื่องดื่มนานๆ เพราะอ่านไม่ออก พยายามเลือกหาเครื่องดื่มคล้ายกับสินค้าไทยส่งออกไปพม่า หากแม่ค้าพม่าปิดร้านนานอย่างนี้ แรงงานที่มาซื้อของก็อยู่ยาก

ขณะที่นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความตื่นกลัวของแรงงานต่อข่าวลือคล้ายกับกรณีการปราบปรามแรงงานผิดกฎหมาย แรงงานข้ามชาติเมื่อช่วงที่ผ่านมา แต่พบว่ามีการจับกุมจริงและปรับเป็นเงินหลักพันต่อแรงงานที่ขายสินค้า สถานการณ์นี้ วิเคราะห์ได้หลายประเด็น เช่น การปราบปรามดูโจ่งแจ้ง และรวบรัดเกินไป อ้างความมั่นคงส่งผลให้ผู้มีอิทธิพลรู้ตัว และพยายามสื่อสารให้แรงงานปิดร้าน ซึ่งตามหลักอาจไม่มีโทษร้ายแรงนักแต่ความกลัวมันฝังรากลึกต่อแรงงานแล้ว ซึ่งการทำแบบนี้แก้ปัญหาถาวรไม่ได้ เพราะนอกจากจะทำให้แรงงานพม่าซื้อ-ขายลำบากแล้ว ยังทำให้ธุรกิจขายส่งสินค้าสะเทือนด้วย โดยเมื่อเร็วๆนี้ทราบว่าผู้ประกอบการห้องเช่าเริ่มออกมาให้ข้อมูลแล้วว่า หากแรงงานประสงค์จะเปิดร้านค้าต้องขออนุญาตอย่างไร โดยเบื้องต้นทางกฎหมายระบุว่า ให้นายจ้างคนไทยเป็นผู้ดูแลและลงทุนเรื่องร้านค้าทั้งค้าปลีกและค้าส่ง แต่ก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นข้อดี ทางที่ดีทางการโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรจะมีมาตรการจริงจังเรื่องการเก็บภาษีรายได้จากร้านค้าที่คนพม่าเปิดเพื่อป้องการเก็บส่วยแบบผิดกฎหมายได้ แรงงานเองก็มีทางเลือกซื้อสินค้าตามมา

“จริงๆแล้วคนไทยบางคนก็อคติต่อเรื่องนี้ คือมองว่าพม่าไม่มีสิทธิ แต่หากจะมองแบบเป็นระบบ เขาเช่าบ้านของคนไทยแล้วร้านค้าเล็กๆก็ไม่ได้ทำกำไรมหาศาลเหมือนธุรกิจอื่นๆ ในประเทศและไม่ได้เบียดเบียนใคร จะบอกว่าแย่งงานคนไทยหรือเปล่า ก็ไม่ เพราะคนไทยเองที่มีร้าน ก็เข้ามาขายของให้พม่า เขาก็ได้เงินได้กำไรจากคนกลุ่มนี้ ทางออกที่ดีมีอยู่แล้ว ประเด็นคือใครจะเริ่มทำ ตอนนี้อำนาจอยู่ที่ คสช.ก็น่าจะถือโอกาสทำอย่างจริงจัง” สมพงค์กล่าว

On Key

Related Posts

สส.ปชน.เชียงรายจี้รัฐบาลสร้างระบบเตือนภัยแม่น้ำกก-แนะเร่งถอดบทเรียน 6 เดือนภัยพิบัติ คนขับเรือลำบากหลังนักท่องเที่ยวลดฮวบ ผวจ.เชียงรายเตรียมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ปัญหาคุณภาพน้ำข้ามแดน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สRead More →

วัวควายเดือดร้อนถ้วนหน้าหลังน้ำกก-สายปนเปื้อนสารหนู-ใช้น้ำทำการเกษตรไม่ได้ “ครูแดง”แนะเร่งแก้ปัญหาต้นเหตุ “ดร.ลลิตา”เผยว้าตั้งหน่วยให้สัมปทานเหมืองแร่ จี้หารือทางการจีนช่วยปราม

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2568 นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตRead More →

สนามรบในรัฐกะเหรี่ยงเดือด ทหารพม่าใช้เรือส่งกำลังพลเสริมทางแม่น้ำจาย หลังถูกปิดล้อมค่ายใหญ่ในเขตกอกะเร็ก KNUออกประกาศเตือนชาวบ้านเลี่ยงเดินทาง หวั่นตกเป็นเป้าทหารพม่า

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2568 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงRead More →

ชาวเมืองล่าเสี้ยวสุดเซ็ง ทัพโกก้างคืนเมืองล่าเสี้ยวให้ทัพพม่า-เล่นเกมอำนาจการเมืองกัน เปรียบเหมือนหมาแย่งบอลแต่ชีวิตชาวบ้านไม่มีอะไรเปลี่ยน

สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 19 เมษายน 25Read More →

ผู้เชี่ยวชาญหวั่นผลกระทบสารหนูในน้ำกก-น้ำสายกระจายตัววงกว้าง-รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่รีบแก้ที่ต้นทาง ชี้เป็นสารพิษสะสมก่อเกิดมะเร็ง จี้ ทส.ตั้ง กก.เฝ้าระวัง-ตรวจผลอย่างน้อยทุกเดือน เจ้ากรมกิจการชายแดนทหารทำหนังสือประสานพม่าร่วมแก้ไข

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2568 เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวRead More →