ที่ตลาดมหาชัยนิเวศน์ หรือคนท้องถิ่นเรียกกันว่า “ตลาดมอญ”เขตอุตสาหกรรมมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร “ป้าโบ” หญิงสูงวัยชาวไทยเชื้อสายมอญกำลังเรียงเสื้อผ้าพื้นเมืองหลากสีในแผงขายของที่เปิดมานานหลายปี ด้วยหวังว่าช่วงเทศกาลเข้าพรรษาชาวมอญและชาวพม่าจะนิยมมาเลือกซื้อชุดพื้นเมืองเพื่อแต่งตัวเข้าวัดทำบุญตามประเพณี แต่ความหวังของป้าโบกต้องดับวูบ เพราะบรรยากาศในช่วงสำคัญนี้กลับซบเซาอย่างน่าใจหาย แม้กระทั่งคนในชุมชนเองก็ไม่อาจตอบได้เกิดจากสาเหตุอะไร
“ปกติ 10 โมงเช้าคนก็เดินกันเต็มแล้วนะ นี่เงียบมาหลายวันแล้ว ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าแล้ว ไม่รู้คนไปไหนกันหมด ” ป้าโบอารมณ์เสียบ่อยในช่วงนี้ เพราะสภาพตลาดที่ร้างผู้คน ทำให้แกได้รับผลกระทบไปเต็มๆ
ความเงียบงันของตลาดมอญ ฯ ป้าโบได้ยินคนในชุมชนลือกันสนั่นว่า มีทหารเข้ามาจับคนพม่าที่เปิดร้านค้า ทำให้แม่ค้าพ่อค้าชาวพม่าปิดแผงเก็บตัว แต่ที่ยังมีขายอยู่ก็จะเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ และคนไทยทั่วไปที่เข้ามาเช่าแผงสินค้าขายของให้แรงงานในพื้นที่
ป้าโบขายเสื้อผ้าชุดพื้นเมืองมอญและพม่า โดยจ่ายค่าเช่าแผงวันละ 400 บาท ขายสินค้าชุดละ 600 บาท แต่ 10 กว่าวันแล้ว ร้านยังขายเสื้อผ้าไม่ได้เลย เพราะคนมาจับจ่ายน้อยลงมาก อาจเป็นเพราะคนส่วนมากเข้าใจว่าตลาดแห่งนี้มีแม่ค้าส่วนมากเป็นคนพม่า พอมีข่าวลือว่าทหารเข้ามากวาดจับ คนส่วนมากจึงกลัวและไม่มีใครมาเดินซื้อของเหมือนช่วงที่ผ่านมา
“ป้าพูดพม่าไม่ได้ แต่มีแม่ค้าพม่าแถวๆ นี้เขาช่วยแปลให้อีกที เวลาคนพม่ามาซื้อของป้านะ บางคนพูดมอญได้เขามาจากมะละแหม่ง รัฐมอญ แต่ตอนนี้ไม่รู้ไปไหนกันหมด เขากลัวมั้ง คนพม่าไม่มีใครเปิดร้านเลย บางคนก็ปิดบ้านเงียบๆ ออกมาซื้อของตอนเย็น สักพักก็กลับบ้านไป เขาคงไม่กล้าออกมา” นางสันนิษฐานเอาเอง
คำบอกเล่าจากแม่ค้ามอญไม่อาจอธิบายและให้คำตอบได้ทั้งหมดว่า เหตุใดตลาดมหาชัยฯจึงเงียบลงแค่ชั่วข้ามคืน แต่ป้าโบยืนยันว่าไม่อาจขายสินค้าได้ทุกวันเต็มสัปดาห์จึงเลือกมาขายบางวันเท่านั้น
ขณะที่แม่ค้าในตลาดต่างยืนยันสถานการณ์ที่ซบเซาเพราะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาตรวจสอบจริง บางคนเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบที่พยายามมาหาข้อมูล คนพม่าที่มีร้านขายของก็หยุดงานลงทันที ยกเว้นลูกจ้างชาวพม่าที่รับจ้างคนไทยเฝ้าแผงขายของ เช่น ขายถุงมือโรงงาน ขายดอกไม้ หมากพลู ที่ยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ แต่ก็ปฏิเสธให้ข้อมูลเรื่องการจัดระเบียบร้านค้าชาวพม่าจากเจ้าหน้าที่ทหาร
สุมาลี แม่นเหมาะ แม่ค้าขายดอกไม้ชาวจังหวัดนครปฐม ระบุว่าเธอมาเปิดร้านขายดอกไม้นานแล้ว ระยะหลังพอได้ยินเรื่องราวของทหารเข้ามาจับกุมพม่าที่เปิดร้านค้าบ้าง แต่ก็ไม่ได้นึกว่าจะร้ายแรงขนาดปิดร้านหนี เพราะโดยส่วนตัวมองว่าการเปิดร้านค้าเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆก็ทำได้ ไม่ใช่ธุรกิจใหญ่โต หรือทำกำไรมากมาย ในฐานะแม่ค้ารู้ดีว่ารายได้ไม่สูงนักแต่เป็นรายได้คงที่
“ขายดอกไม้ เราก็ขายให้พม่าซ่ะส่วนใหญ่ เคยชวนเพื่อนมาลงทุน เขาไม่มา เขาบอกว่า พูดพม่าไม่ได้ แต่เราเห็นว่า เขาเข้าวัดกันบ่อย ทั้งคนไทย มอญ พม่า ขายได้วันละ 2,000- 3,000 บาท หากเขาจะเปิดร้านบ้างไม่ใช่เรื่องแปลก ค่าเช่าเขาก็จ่าย หากว่ามีใครเบี้ยวแล้วไม่จ่ายก็ว่ากันไปตามผิด ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรที่จะมาจับขนาดนั้น แต่ตอบไม่ได้เช่นกันว่าทำไมทางรัฐบาลเขาเข้มงวดจังเลย” สุมาลี ให้ความเห็น
ต่างจากสมควร แม่ค้าขายผัก ระบุว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อห้ามไม่ให้พม่าขายของ เพราะที่นี่ประเทศไทย เราให้ต่างชาติมาหากินง่ายๆไม่ได้ ต้องให้สิทธิคนไทยก่อน เคยได้ข่าวว่าขณะนี้ทางทหารพยายามจะเปิดให้แรงงานที่อยากเปิดร้านค้าไปลงทะเบียนโดยหานายจ้างหรือผู้ลงทุนเป็นคนไทย มาประกันร้านค้าให้ โดยส่วนตัวมั่นใจว่าเป็นทางออกที่ดีในการวางกฎเกณฑ์การเปิดร้านค้า เพราะหากวางเฉยเชื่อว่าอีกไม่นาน คนพม่าอาจยึดอาชีพค้าขายแทนงานโรงงาน
ความคิดที่แตกต่างทั้งแม่ค้าชาวไทย สะท้อนความหลากหลายของสังคมที่เลือกรับและไม่รับการเปิดร้านค้าของชาวพม่า แต่สำหรับผู้บริโภคชาวพม่า อย่าง มีมี่ ที่จากบ้านเกิดในรัฐมอญ ฝั่งพม่า เข้ามาขายแรงงานในประเทศไทย บอกระหว่างซื้ออาหารในตลาดว่า เธอเองไม่เคยให้ความสำคัญกับสัญชาติว่าใครคือเจ้าของ เธอเลือกซื้อสินค้าตามความต้องการของตัวเอง ราคาสินค้าแต่ละร้านไม่ได้ต่างกัน แต่บางครั้งการซื้อสินค้าจากร้านคนไทยก็ติดปัญหาเรื่องการสื่อสาร ยืนยันว่าไม่เคยแยกแยะร้านค้าว่าเป็นของไทยหรือพม่า แต่อยากให้บรรยากาศตลาดกลับมาคึกคักเหมือนเดิม
“ถ้าเป็นของใช้ทั่วไปก็ซื้อได้ค่ะ ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นอาหาร เราชอบกินข้าวผัดกับขนมจีนพม่า ซื้อหมากด้วย คนไทยเขาไม่ขายเหมือนเรานี่ค่ะ เวลาถามหาเครื่องปรุงที่ไม่มี เขาก็บอกว่ากินแปลกบ้าง เรื่องมากบ้าง แต่ก็ยังไม่เคยต่อต้านแม่ค้าไทย ซื้อของอยู่ทุกวัน เวลาซื้อจากร้านค้าคนพม่า บางร้านเขาแนะนำสินค้าให้เราได้ ใครขายก็ได้ขอให้มีของมาขายเยอะๆ มีเวลาเลือกเองได้พอแล้ว” มีมี่ อธิบายรสนิยมของเธอ
ขณะที่คนไทยที่ประกอบอาชีพขับรถรับส่งแรงงานและขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในตลาด ให้ความเห็นว่า ตลาดมหาชัยฯ ไม่เคยตกอยู่ในความเงียบแบบนี้มาก่อน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่ากระทบคือ รายได้ของคนทำมาหากิน ซึ่งไม่ปกติคนมาใช้บริการตลาดมักจะจ่ายเงินจ้างรถกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอตลาดซบเซาลงคนรายได้ก็หดลงเช่นกัน
หลากความคิดเห็นของคนในตลาดมหาชัยฯ เป็นข้อมูลสะท้อนว่า ผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการจัดระเบียบโดยไม่ศึกษาสาเหตุนั้น มีมากกว่าด้านบวกของความเป็นชาติที่เข้มงวดด้วยกฎหมายของสังคมไทย ซึ่งกรณีนี้นักพัฒนาเอกชนอย่าง “รณฐกฤษ สืบชมภู” เจ้าหน้าที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) มองว่า เป็นการคุมเข้มที่ปลายเหตุ ไม่ใช่ต้นเหตุ เพราะที่ผ่านมาการเปิดร้านค้าของชาวพม่า เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแรงงานฝ่ายเดียว เช่น เกิดจากกลุ่มมีอิทธิพลเริ่มรีดไถเงินแรงงาน ครั้นพอรายได้ไม่พอจ่ายก็หันมาหาอาชีพเสริม บางรายถูกเอาเปรียบจากนายจ้างและกลุ่มคนมีสี จึงอยากหลุดพ้นการเป็นลูกจ้างหันมาค้าขาย ต่อมาพัฒนาเป็นระบบส่วยเปิดร้าน บางรายจ่ายสูงถึงเดือนละ 5,000 ตามตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้คุ้มครอง บางรายก็ถูกเรียกเก็บรายวัน ครั้นพอทหารมาจัดระเบียบคนไทยถือโอกาสร้องเรียนไป โดยมุ่งเน้นที่ประเด็นแรงงานทำผิด แต่ไม่มีใครอ้างถึงระบบส่วยที่ฝังรากมานาน ส่งผลให้การปราบปรามไม่เป็นไปตามเป้าหมาย สุดท้ายเมื่อผู้มีอิทธิพลเกรงกลัวจะถูกเจ้าหน้าที่สืบทราบว่ามีส่วนร่วม ก็กระจายข่าวให้แรงงานยุติการเปิดร้าน แล้วผลกระทบก็เกิดกับคนซื้อ กับชุมชน กับรายได้ของประชาชน
ขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ และปราบปรามส่วย-ผู้มีอิทธิพลให้สิ้นซาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนหลายแห่งในเมืองมหาชัย ยังคงแก้ไม่ถูกจุดหรือเกาไม่ถูกที่คัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้คนเล็กคนน้อยที่ทำมาหากินโดยสุจริตพลอยเดือนร้อนไปด้วย
บางทีการาเชื่อฟังแต่ข้าราชการฝ่ายเดียว อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้เสียการใหญ่ทั้งระบบก็ได้
—————–
จรรยา บุญมาก