“มอเตอร์เวย์สาย 8 นครปฐม-ชะอำ” ถือเป็น 1 ใน 13 โครงข่ายเส้นทางตามแผนการพัฒนาทางหลวง ภายใต้แผนแม่บทโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 ซึ่งตลอดแนวมอเตอร์เวย์สาย 8 นี้ มีจุดเริ่มต้นจาก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ผ่าน จ.ราชบุรี ไปสิ้นสุดที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี รวมระยะทาง 109 กิโลเมตร
ขณะนี้กรมทางหลวงกำลังเร่งดำเนินแผนงานการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สาย 8 นี้ โดยมอบหมายให้ที่ปรึกษาบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด สำรวจและออกแบบเส้นทางซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ในฟากชาวบ้านเอง ไม่เพียงแต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่านั้น แต่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่กำลังตื่นตัวและแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยตามที่โครงการฯ ที่พยายามอ้างถึงประโยชน์เพียงด้านเดียวว่า จะเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางสู่ภาคใต้หรือบรรเทาความแออัดของการจราจรบนถนนเพชรเกษม แต่ผลกระทบสำคัญในประเด็นสิ่งแวดล้อมกลับแทบไม่พูดถึง
จากการลงพื้นที่เมื่อปลายกรกฎาคมที่ผ่านมา ในเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการทางหลวงพิเศษ นครปฐม –ชะอำ ที่ ต.คุ้งกระถิน อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายจากทั้งหมด 14 ครั้งของราชบุรี พบว่า ชาวบ้านกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบโดยต่างไม่เห็นด้วยและไม่เอาโครงการนี้ และเป็นที่น่าสังเกตว่ากระบวนรับฟังดังกล่าวพยายามเร่งรัดจัดให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาเพียงประมาณ 1 เดือน และมุ่งเน้นการพูดถึงประโยชน์ในด้านการคมนาคมเท่านั้น
เมื่อชาวบ้านตั้งคำถามถึงภาคการเกษตรที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง กลับไม่ได้รับการชี้แจงที่ชัดเจน แต่มุ่งเน้นย้ำไปที่เรื่องการเวนคืนที่ดินว่าจะได้รับการชดเชยอย่างเป็นธรรม ทั้งที่กระบวนการรับฟังเสียงชาวบ้านนั้นถือเป็นขั้นตอนสำคัญ
อีกทั้งเรื่องเวทีสรุปกระบวนการรับฟังความคิดเห็นซึ่งถือเป็นเวทีใหญ่รวมทุกพื้นที่ของราชบุรี จนถึง ณ วันนี้ชาวบ้านยังไม่ทราบเลยว่าจะจัดขึ้นวันใดและที่ไหน โดยแจ้งกับชาวบ้านคร่าวๆ เพียงว่าเป็นช่วงปลายเดือนสิงหาคม
“ดูเหมือนเป็นการมัดมือชก เขาคิดโครงการเสร็จมาเสร็จเรียบร้อย แล้วเอามาถามชาวบ้านว่าต้องการปรับแก้อะไรหรือไม่ ทั้งที่ควรเข้ามาถามชาวบ้านก่อนที่จะออกแบบว่าเอาหรือไม่”ชาวบ้านหลายคนสะท้อนความอึดอัดใจ
จากข้อมูลโครงการ ระบุว่า ในส่วนของจังหวัดราชบุรีมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ 18 ตำบล 5 หมู่บ้าน คือ อ.บางแพ อ.ดำเนินสะดวก อ.เมืิอง อ.วัดเพลง อ.ปากท่อ ซึ่งจะมีผลทำให้สูญเสียพื้นที่เกษตรไปเป็นถนนจำนวนมาก คือ โครงการตอนที่ 1 สูญเสียพื้นที่ 5890.2 ไร่ และโครงการตอนที่ 2 สูญเสียพื้นที่ 3286.25 ไร่ จากการเวนคืนที่ดินทั้งหมด 10,583 ไร่ และเวนคืนสิ่งปลูกสร้าง 614 หลังคา
ที่น่าตกใจ คือเมื่อเข้าไปดูข้อมูลจากเอกสารสถิติการเกษตรของประเทศไทย ปี 2554 ของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร 2554 เมื่อเปรียเทียบการใช้ที่ดินทางการเกษตรเป็นรายจังหวัดตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงเกษตร พบว่า ราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกผักมากที่สุดถึง 116,286 ไร่
ส่วนข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดได้ระบุว่า จ.ราชบุรี มีอัตราการขายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 1.57 ต่อปี โดยมีการขยายตัวด้านการเกษตรตั้งแต่ปี 2546-2553 เฉลี่ยร้อยละ 10.79 ต่อปี โดย 2553 มีมูลค่าการผลิตภาคการเกษตรถึง 24,182 ล้านบาท มีพื้นที่ปลูกผักและผลไม้ถึง 1,027,340 ไร่ และมีผลผลิตปีละกว่า 2 ล้านตันต่อปี และเป็นแหล่งผลิตหมูได้มากที่สุดของประเทศประมาณปีละ 1.49 ล้านตัว จึงทำให้มีตลาดกลางสินค้าเกษตรถึง 2 แห่ง เพื่อส่งสินค้าเกษตรไปทุกภาคโดยเฉพาะภาคกลางและภาคใต้
นอกจากนี้ จ.ราชบุรี ถือเป็น 1 ใน 6 เมือง เกษตรสีเขียวต้นแบบของกรมพัฒนาที่ดิน ที่ประกอบด้วย เชียงใหม่ หนองคาย ศรีษะเกษ ราชบุรี พัทลุง จันทบุรี อันเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อผลักดันให้เป็นเมืองเกษตรสีเขียว และพัฒนาเป็นเมืองท้องเที่ยวเชิงเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้เป็นโครงการสำคัญที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศอีกด้วย
หนึ่งในข้อกังวลหลักๆ ของชาวบ้านที่พูดถึง จะเป็นประเด็นเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมอเตอร์เวย์จะตัดผ่านพื้นที่การเกษตรสำคัญ เพราะบริเวณลุ่มน้ำแม่กลองเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีระบบชลประทานครอบคลุมทั่วพื้นที่เชื่อมต่อไปถึง จ.สมุทรสงคราม อันเป็นแหล่งอาหารสำคัญของประเทศ หากมีการสร้างจริงผลกระทบจะเกิดขึ้นในวงกล้างกระทบกันแบบลูกโซ่
นอกจากนี้เมื่อวัน 2 สิงหาคมที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ จ.ราชบุรี – จ.สมุทรสงครามได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาเรื่อง “พื้นที่การเกษตรที่เสียไปกับถนนมอเตอร์เวย์ ชาวราดรีจะได้หรือเสียมากกว่ากัน” โดยได้มีการพูดถึงผลกระทบและทางออกของปัญหาไว้อย่างน่าสนใจ
นายสุรจิต ชิรเวทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสาพ จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า โครงการนี้แม้จะอยู่ในแผนแม่บทตามมติคณะรัฐมนตรี 2540 แต่มาดำเนินการจริงในช่วงรัฐธรรมนูญ 2550 จึงควรต้องยึดหลักกฏหมายที่กำหนดไว้ ให้เวทีการรับฟังความคิดเห็นต้องจัดโดยรัฐ ไม่ใช่จัดโดยบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นผู้รับจ้างเอกชนที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุดอยู่แล้ว จึงอาจมีแนวโน้มที่จะบิดเบือนข้อมูล โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ต้องศึกษา คือการทบทวนผลกระทบด้านต่างๆ เพราะการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านคือการที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะสร้าง และหน้าที่ของที่ปรึกษาคือการรวบรวมข้อเท็จจริงไปให้กรมทางหลวง ไม่ใช่ถูกจ้างมาเพื่อปกป้องโครงการ แต่จ้างมาเพื่อศึกษาโครงการ
นอกจากนี้ นายสุรจิต กล่าวอีกว่า ตามธรรมชาติของพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง มวลน้ำจะไหลจากเทือกเขาตะนาวศรีหรือจากทิศตะวันตกไปตะวันออกอยู่แล้ว มอเตอร์เวย์ทั้งสายก็จะเป็นเสมือนคันกั้นน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะลำกระโดงหรือคลองที่ชาวบ้านขุดขึ้นเพื่อชักน้ำเข้าสวนหรือไร่นา เป็นเครือข่ายเชื่อมกันนับพันสาย เมื่อนำแผนที่มอเตอร์เวยที่ได้ออกแบบไว้มาดู กลับไม่มีข้อมูลลำกระโดง ซึ่งเกรงว่าชาวบ้านไม่สามารถชักน้ำเข้าสู่สวนได้ และถ้าจะออกแบบให้ครอบคลุมก็จะเป็นต้องมีท่อส่งน้ำจำนวนมากมาย ค่าก่อสร้างถนนก็จะสูงมากและไม่น่าจะคุ้มต่อการลงทุน
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 แต่สิทธิของประชาชนยังคมมีอยู่ภายใต้กฏหมายลูกอีกมากมาย ที่ระบุไว้ว่า โครงการใดที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต้องมีกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีเอชไอเอ ซึ่งชาวบ้านสามารถใช้เป็นเครื่องมือบังคับให้หน่วยงานปฏบัติตามกฏหมาย ส่วนเรื่องการเวนคืนที่ดินนั้น หากมองจากบทเรียนที่ผ่านมาส่วนใหญ่หน่วยงานรัฐจะจ่ายตามราคาประเมินจริง แต่มักจะประเมินต่ำกว่าข้อเท็จจริงมาก และถ้าชาวบ้านไม่พอใจต้องไปฟ้องศาลแพ่งหรือศาลปกครองเอง จึงต้องการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อสังคมอย่างทั่วถึง และเกิดกระบวนการรับฟังความคิอเห็นอย่างแท้จริง แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเอาหรือไม่เอาถนนสายนี้
“ชาวบ้านไม่ต้องกังวล ถ้าเป็นความเดือนร้อนของชาวบ้าน เป็นปัญหาของสาธารณะ ผมยินดีจะเป็นทนายยื่นฟ้องศาลปกครองให้ เพราะเห็นว่ามีผลกระทบมากมาย และไม่ต้องกังวลหรือกลัว เพราะกฏหมายได้คุ้มครองสิทธิของประชาชนไว้ หน่วยงานรัฐไม่สามารถฟ้องกลับประชาชนได้”
ด้าน ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การลุกขึ้นมาเรียกร้องของชาวบ้าน ไม่ใช่การสู้เพื่อประโยชน์ของคนราชบุรีเท่านั้น แต่เป็นการสู้เพื่อคนทั้งประเทศ เพราะลุ่มน้ำแม่กลองถือเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำหรือตู้กับข้าวให้กับประเทศไทยมาตั้งแต่ทวารวดี ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ตนได้ลงพื้นที่ ชาวบ้านส่วนใหญ่บอกว่าเวนคืนเท่าไรก็ไม่ขาย เพราะไม่มีที่ไหนเหมือนที่นี่ ปลูกต้นอะไรก็ขึ้น มีดินที่ดี มีระบบชลประทานที่ดี เป็นพื้นที่เกษตรสำคัญของประเทศ
“เราทำหน้าที่การเกษตรของประเทศ เราต้องทำหน้าที่นี้ต่อไป โครงการมอเตอร์เวย์นี้แค่คิดก็ผิดแล้ว ปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมีบทเรียนจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่ดีที่สุด เอาไปทำนิคมอุตสาหกรรม จนตอนนี้อยุธยา อ่างทอง สิงบุรีมีแต่โรงงาน เกิดความขัดแย้งจากการปล่อยน้ำจากอุตสาหกรรม เป็นปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ผ่านมาไม่มีนักการเมืองคนไหนกล้าพูดเรื่องเหล่านี้ว่าต้องจัดสรรประโยชน์การใช้ที่ดินให้ชัดเจนอย่างไร เพราะหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ” ดร.สมิทธ์ กล่าว
แม้จะพยายามบอกว่า มอเตอร์เวย์สาย 8 นครปฐม-ชะอำจะช่วยแก่ปัญหาด้านจราจรเป็นหลัก แต่เมื่อดูในข้อเท็จจริงแล้ว น่าจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะระยะทางที่ใกล้ขึ้นจากถนนสายเดิมเพียง 15-30 กิโลเมตร กลับต้องแลกมาด้วยกับพื้นที่แหล่งอาหารสำคัญของประเทศที่จะสูญเสียไปตลอดกาล ทั้งที่มีทางเลือกมากมายที่ประชาชนนำเสนอให้กรมทางหลวงโปรดพิจารณา ทั้ง การพัฒนาการขนส่งระบบราง การสร้างทางยกระดับ ซึ่งส่งผลกระทบน้อยกว่ามาก.
—————-
ชัยรัตน์ จิโรจน์มนตรี