สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

เสียงเงียบๆ จากคนชายฝั่ง

ริ้วแดดไหวระริก ระริก ตกกระทบระลอกน้ำ สะท้อนความร้อน แผ่กระจายรังสีทั้งยูวีเอ และยูวีบี แผดเผาหลายชีวิตที่ลอยคออยู่ในน้ำ ในโป๊ะดักปลา และบนเรือ กลางทะเลอ่าวไทย
วิชา เหลืองทอง เด็กหนุ่ม กำลังขมีขมัน หยิบโน่น จับนี่อยู่ในเรือลำหนึ่ง ผิวพรรณ และท่วงท่าบางอย่างบ่งบอกว่าเขาไม่น่าจะใช่คนเฝ้าโป๊ะหาปลาธรรมดา

ครั้นได้สนทนากัน เด็กหนุ่มบอกว่า ครอบครัวทำประมงชายฝั่งมาตั้งแต่ตัวเองยังไม่เกิด เตี่ย หรือพ่อของเขามีโป๊ะดักปลาอยู่กลางอ่าวไทย 3 ลูก หาเลี้ยงครอบครัว และคนงาน รวมทั้งส่งเสียจนลูกๆ เรียนจบ ตัวเขาเรียนจบและเคยทำงานในเมืองแล้วไม่มีความสุขนัก จึงกลับมาช่วยเตี่ยทำงานที่ อ.แม่กลอง จ.สมุทรสงครามแห่งนี้

“พอพูดถึงแม่กลองใครๆ ก็ต้องคิดถึง ปลาทู เพราะปลาทูที่นี่อร่อยที่สุดในประเทศไทย ผมกลับมาบ้านทำรีสอร์ตเชิงอนุรักษ์ และอยากให้คนที่มาพักกับเราได้รู้จักกับวิถีชีวิตของคนแม่กลอง โดยเฉพาะคนที่ทำอาชีพประมง หรือคนที่หาปลาทูมาให้เรากินกัน เลยคิดว่าไหนๆ บ้านเราก็มีโป๊ะแล้ว น่าจะพาคนไปดูปลาทูเป็นๆ ที่เพิ่งขึ้นมาจากทะเลด้วยก็ดี”

จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่า รสชาติของปลาที่ได้จากการจับของเครื่องมือแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน

วิชาบอกว่า ปลาทูที่ติดโป๊ะ หรือเรือของชาวประมงพื้นบ้านนั้นจะขึ้นมาตายอย่างสงบบนเรือ ขณะที่ปลาทูที่ติดอวนลาก หรืออวนรุนมานั้น จะช็อกตายตั้งแต่อยู่ในน้ำ ปลาทูที่จับโดยวิธีอันละมุนละม่อมของชาวประมงพื้นบ้านนั้นรสชาติดีกว่าแน่นอน

“เตี่ยผมเป็นคนไม่ค่อยหวือหวา เขาสอนผมเสมอว่าให้ทำมาหากินแบบให้เขาให้เราอยู่ได้ก็พอ แบบนี้เราอยู่ได้ ไม่เอาเปรียบทะเลมากไปและเราก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน” วิชาบอก

ทุกวันนี้ วันไหนมีแขกมาพักที่ “ต้นน้ำ รีสอร์ต” ที่ อ.แม่กลอง เขาจะพาแขกมา ดูการทำโป๊ะที่กลางทะเลแห่งนี้เสมอ เวลาที่เหลือก็มาดูแลโป๊ะแทนเตี่ยด้วย

ชาวประมงรุ่นใหม่อย่างวิชาแสดงความกังวลว่า ตอนเด็กๆ ที่เขามาช่วยเตี่ยทำโป๊ะนั้นเห็นว่าแต่ละวันได้ปลามากเหลือเกิน ปลาสารพัดชนิด และหอยตัวใหญ่ๆ แต่เวลานี้ปลาน้อยลงมาก บางวันน้อยลงจนน่าใจหาย น้ำทะเลจืดลงมาก เพราะบนฝั่งปล่อยน้ำเสียลงมา ปลาปูหอยตายหมด โดยเฉพาะหอยแมลงภู่ อยู่ไม่ได้เลย

“อาชีพประมงอย่างเรา โดยเฉพาะประมงพื้นบ้าน ถือว่ามักน้อยที่สุดแล้ว เรามีทะเลเป็นเครื่องมือทำมาหากิน ทะเลไม่ใช่ที่ดิน เราครอบครองไม่ได้ แต่เราแบ่งที่กันทำกิน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ที่สำคัญคือ ต้องดูแลแหล่งทำกิน เพื่อให้ทำกินได้นานๆ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน” เด็กหนุ่มตั้งคำถามทิ้งท้ายเอาไว้ ก่อนที่เราจะนั่งเรือจากมา

คำถามของวิชา ทำให้นึกถึงคำพูดของเกจิด้านทะเลของประเทศไทยคนหนึ่ง รศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่ง บอกเอาไว้ว่า ในบรรดาอาชีพทั้งหมด คนที่ทำประมง หรือประมงพื้นบ้านแบบดั้งเดิมนั้นถือว่ามักน้อยที่สุด พวกเขาไม่เคยคิดจะครอบครอง ไม่หวือหวา แค่อยากทำมาหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอด แต่นั่นแหละ คนที่ไม่มีปากไม่มีเสียงก็มักจะโดนรังแก และเอารัดเอาเปรียบเสมอทั้งทางตรงและทางอ้อม

ข้อกังวลที่ดูเหมือนน่าหนักใจมากที่สุดเวลานี้ คือ การพูดกันถึงเรื่องโครงการถม ทะเลอ่าวไทย เพื่อเอาพื้นที่มาทำเป็นสถาน ที่ท่องเที่ยว ซึ่งอ้างกันว่า นอกจากมี ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแล้วยังแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งอีกด้วย

หากจะทำกันจริงๆ โดยไม่มีการศึกษารายละเอียด อ้างเอาแต่ขี้ปากของ ส.ส. บางคนที่ไม่มีความรู้ แต่สักเอาแค่พูด พูด พูด เพื่อเอาใจนาย หรืออยากมีผลประโยชน์ร่วมนั้น พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเห็นจะแย่แน่ๆ

พื้นที่อ่าวไทยตอนใน หรืออ่าวรูปตัว ก. อันเป็นเป้าหมายตั้งต้นของการถมทะเลนั้น องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) เคยประเมินเอาไว้ว่า เป็นอ่าว 1 ใน 17 ของอ่าวที่มีความสมบูรณ์ที่สุด จากอ่าวที่มีอยู่ประมาณล้านกว่าอ่าวในโลก มีระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วทั้งผืนไม่ต่ำกว่าวันละ 80 ล้านบาท

ทั้งหมดจะหายวับไปทันที หากเราวู่วามถมทะเลโดยไม่คิดและศึกษาให้รอบคอบ

หากว่าเสียงปาวๆ ที่ออกมาจากรัฐบาลทุกวันนี้บอกว่า ตัวเองมาจากชาวบ้าน มาจากรากหญ้าโดยแท้จริง ก็จะต้องหันมาฟังเสียงเงียบๆ ที่ออกจากผู้คนชายขอบที่ทำมาหากินอยู่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยแห่งนี้บ้าง…

 
โดย ชุติมา นุ่นมัน  มติชน 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →