Search

“ทำไมเธอถึงต้องพูดแทนช้าง”กัญจนา ศิลปอาชา กับมุมมองช้างๆ ในวันช้างโลก

image

ในวันที่การเมืองไทยยังตกอยู่ในสถานการณ์ผันผวน และจำเป็นที่ “ขา”ข้างหนึ่งยังต้องเกี่ยวไว้กับบทบาททางการเมือง ในฐานะทายาทคนหนึ่งของนักการเมืองคนสำคัญ “บรรหาร ศิลปอาชา” ผู้นำพรรคชาติไทยพัฒนาและอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ในวันนี้ “กัญจนา ศิลปอาชา” ก็พยายามหาคำตอบให้กับชีวิตและทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ

เธอเป็นคนที่ชอบดูสารคดีสัตว์ ในช่วงที่เจ้าแพนด้าน้อยในสวนสัตว์เชียงใหม่กำลังน่ารักน่าชังและมีการถ่ายทอดสดแบบ “เรียลลิตี้”ส่งตรงไปยังคนรักสัตว์ที่เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีแห่งหนึ่ง กัญจนาสามารถนั่งดูนอนดูเจ้าแพนด้าน้อยข้ามวันข้ามคืนจนแทบไม่เป็นอันหลับอันนอน

แต่ในยามนี้เธอขอพูดแทนช้าง

“เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ดูสารคดีชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับช้างในศูนย์บริบาลช้าง (Elephant Nature Park) ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งช่วยเหลือช้างที่ถูกทารุณ รู้สึกประทับใจมากในภารกิจของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อคุณเล็ก(แสงเดือน ชัยเลิศ) จึงตัดสินใจเก็บกระเป๋าเดินทางไปหาคุณเล็กทันที” กัญจนาบอกถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าไปคลุกคลีและเรียนรู้ชีวิตของสัตว์คู่บ้านคู่เมือง

หลังจากครั้งแรกผ่านไป ก็มีครั้ง 2,3,4…

“รู้สึกประทับใจศูนย์บริบาลช้างแห่งนี้มาก เพราะที่นี่ไม่มีการล่ามโซ่ เขาปล่อยให้ช้างอยู่กันตามธรรมชาติจริงๆ เขาไม่มีการแสดงช้าง การนั่งช้าง หรือการบังคับใดๆ ทำให้ช้างมีความสุขมาก เพราะฉะนั้นคนไทยจึงไม่ชอบไป มีแต่ฝรั่งที่ขอมาเป็นอาสาสมัคร”

image

หลายเดือนที่ผ่านมา กัญจนาได้เรียนรู้ชีวิตช้างมากมาย โดยมีคุณเล็กและเหล่าช้างในศูนย์บริบาลเป็นครูใหญ่ บางครั้งเธอติดตามคุณเล็กซึ่งตะลอนไปเยี่ยมเยียนช้าง และต้องนอนค้างอ้างแรมในหมู่บ้านที่อยู่ดงลึก ไม่มีน้ำประปาและไม่มีไฟฟ้า

“เราพบว่ายังมีการปฎิบัติต่อช้างอย่างไร้คุณธรรมอย่างมากมาย ช้างพูดไม่ได้ เขาบอกเล่าหรือร้องทุกข์ต่อใครไม่ได้ว่าพวกเขาและลูกหลานถูกทารุณ ถูกทรมาน ถูกเอาเปรียบอย่างไร พวกไม่ไม่สามารถร้องเรียนว่าให้มาช่วยจัดสวัสดิการ จัดวันเกษียณอายุ หรือขอเบี้ยบำนาญในยามแก่เฒ่าหลังถูกใช้ทำงานหนักมาชั่วชีวิตได้”

กัญจนาบอกว่า เป็นที่รู้กันอยู่ว่าช้างร่วมสร้างชาติไทยมาพร้อมๆ กับบรรพบุรุณของเรา แต่ทุกวันนี้กลับได้รับการปฎิบัติอย่างโหดเหี้ยม ทั้งถูกฆ่าเอางา ถูกพรากจากครอบครัว ถูกบังคับให้ทำงานหนัก และถูกฝึกอย่างทารุณ

“ในศูนย์แห่งนี้ดิฉันได้พบช้างที่โชคร้านทุกรูปแบบ บ้างโดนระเบิด บ้างติดยาบ้า มีอยู่เชือกหนึ่งที่น่าสงสารมาก เธอชื่อว่าขวัญจิต อายุราว 60 ปี เธอถูกใช้งานอย่างหนักมาตลอดชีวิตโดยเฉพาะการลากซุง จนถึงวัยชราและหมดเรี่ยวแรง เธอถูกเจ้าของล่ามโซ่ไว้และรอวันตาย เมื่อทางศูนย์แห่งนี้ไปพบและขอไถ่ตัวเธอมาอยู่ด้วย ตอนนี้เธอกลับมาร่าเริงและมีความสุข ลำตัวที่เคยผ่ายผอมก็อ้วนท้วนขึ้น แถมเธอยังได้คู่ซี้เป็นเพื่อนวัยเดียวกัน” ความผูกพันระหว่างกัญจนากับช้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เธอกลายเป็นอาสาสมัครของศูนย์บริบาลช้างแห่งแม่แตงในที่สุด

ในฐานะที่เคยผ่านงานระดับนโยบายของประเทศมาแล้ว ทำให้กัญจนามองเห็นสภาพปัญหาตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับโครงสร้างที่เกิดขึ้นและถูกตั้งคำถามจากสังคมเสมอว่า ทำไมช้างไทยถึงยังลำบาก

“เรื่องช้างเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ขนาดหน่วยงานที่ดูแลช้างก็ยังแยกกันระหว่างช้างป่ากับช้างบ้าน โดยช้างป่าอยู่ในกฎหมายของอุทยานฯ แต่ช้างบ้านซึ่งเขาถือว่าเป็นสัตว์ยานพาหนะอยู่ในการควบคุมของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นต้องแก้ปัญหาและทำให้เป็นช้างเดียวกัน เคยมีความพยายามจะรวมเอากฎหมายสองฉบับนี้ไว้ด้วยกัน แต่มีคนที่เสียผลประโยชน์ออกมาต่อต้านทันที”

ที่ผ่านมาแม้คนไทยจำนวนมากต่างรู้สึกเห็นอกเห็นใจช้างที่ต้องตกระกำลำบาก และต้องออกเร่ร่อนเลี้ยงคนที่เลี้ยงช้าง แต่เอาเข้าจริงๆความเห็นอกเห็นใจดังกล่าวกลับไม่เพียงพอ เพราะการขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับช้างทำให้กลายเป็นการส่งเสริมทำบาปมากขึ้น

image

“แค่แหย่ง(ที่นั่งบนหลังช้าง)ที่ทำจากไม้และอุปกรณ์ก็หนักเกือบ 100 โล แถมมีคนนั่งอีก บางที่นั่ง 2 คน บางที่นั่ง 3 คน ช้างตัวหนึ่งต้องแบกรับน้ำหนัก 300 โล ต้องเดินพาคุณเที่ยว ทั้งๆที่ช้างตัวหนึ่งรับน้ำหนักได้จริงๆแค่ 100 โล มันทารุณเขามากเกินไป บางที่พอเสร็จงานก็ไม่เอาแหยงออก ปล่อยทิ้งไว้เช่นนั้น ช้างก็ต้องแบบรับน้ำหนักทั้งวัน” เธอพูดแทนช้างตามปางต่างๆที่มักหากินกับนักท่องเที่ยวด้วยการพาไปนั่งช้าง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมการเอารัดเอาเปรียบช้าง หรืออย่างกรณีการฝึกช้างด้วยวิธีต่างๆ

“อย่างการผ่าจ้าน เพื่อทำให้ช้างเชื่อง เป็นวิธีที่ดิฉันรับไม่ได้ เพราะสุดแสนทารุณ เขาแยกลูกแยกแม่ออกจากกัน เอามามัดขึงในคอกแคบๆ ใช้ตะขอสะบตามเนื้อตามตัวและใบหู ทำเพื่อให้ช้างหวาดกลัวสุดขีดจนสูญเสียจิตวิญญาณ และยอมเป็นทาสเจ้าของช้าง”

กัญจนาบอกว่าขณะนี้กำลังร่วมลุ้นให้มีการออกพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิการสัตว์ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่พูดกันมานาน แต่ยังไม่สามารถออกได้สำเร็จ เช่นเดียวกับกรณีการค้างาช้าง ซี่งแม้ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามการค้างาช้างไทย แต่กลับไม่คุ้มครองช้างแอฟริกา ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งค้างาช้าง และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของทั่วโลก

“เรื่องนี้คงต้องจริงจัง เพราะขณะนี้ไซเตสเขายื่นคำขาดมาแล้ว เราเคยสัญญาว่าจะแก้ไขเรื่องนี้ แต่กลับปล่อยให้สถานการณ์ล่วงเลยมาจนถึงบัดนี้ เราต้องชี้แจงให้ได้ว่าภายในเดือนกันยายนนี้ ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และภายในเดือนมีนาคมปีหน้า หากเรายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เราคงถูกคว่ำบาตรแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังเรื่องอื่นๆอีกมากมาย”

ในวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันช้างโลกนี้ หากมีโอกาสขอพรสักอย่าง กัญจนาบอกว่า อยากให้ให้ช้างได้มีชีวิตอยู่ในธรรมชาติตามวิถีของเขา ไม่มีการจับกุมคุมขัง และอยู่อย่างมีความสุข

“ดิฉันอยากเห็นช้างบ้านลดจำนวนลงเรื่อยๆ และช้างป่าเพิ่มขึ้น”

ดูเหมือนเสียงวอนของเธอจะยังห่างไกลนัก เพราะทุกวันนี้มีแต่ข่าวช้างป่าเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งถูกรถชน ถูกไฟฟ้าช็อต ถูกยิง ขณะที่ช้างบ้านที่ล้มลงกลับไม่ค่อยมีข่าว เพราะมีการจับช้างป่าไปสวมสิทธิแทนอยู่เรื่อยๆ

.

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →