วันที่ 29 สิงหาคม 2557 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้มีการจัดประชุมในหัวข้อ “ค้นหาทางออกเพื่อการวางแผนพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำที่เท่าเทียมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง” โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 40 คน จากสถาบันวิจัยต่างๆ และผู้แทนของหน่วยงานรัฐในประเทศลุ่มน้ำโขง
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่าประเด็นปัญหาของแม่น้ำโขงปัจจุบันคือการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง ในประเทศไทยนั้นประชาชนต่างตื่นตัวเรื่องผลกระทบที่จะเกิดจากเขื่อนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เห็นได้จากการลุกขึ้นทวงสิทธิของตนอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลก่อนที่เสนอแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน และน่ายินดีที่ศาลปกครองของไทยได้รับฟ้องกรณีการรับซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีโดยกฟผ. ซึ่งอาจนำไปสู่การทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมชุมชนริมแม่น้ำโขงในประเทศไทยทั้ง 8 จังหวัด
“แต่ปัจจุบันสถานการณ์ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดในภูมิภาค และมีจุดยืนตั้งคำถามเรื่องเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงชัดเจนที่สุด คือกัมพูชา ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากโครงการเขื่อนดอนสะโฮงกำลังเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือ PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง และต้องมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใน 4 ประเทศสมาชิก ทั้งลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม” นายไกรศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ผู้แทนทางการลาว กล่าวว่าลาวเป็นประเทศที่มีภูเขาและแม่น้ำ การพัฒนาเขื่อนในประเทศก็เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในประเทศ
“ปัญหาปัจจุบันคือข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่ตรงกัน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เหตุการณ์เมื่อปลายปีที่แล้วที่น้ำโขงท่วม น้ำโขงแล้ง เหล่านี้เป็นเพราะเกิดภาวะโลกร้อน เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่เป็นเพราะเขื่อน ท่านไม่ต้องโทษใคร ต้องโทษตัวเราทุกคน”ผู้แทนลาว กล่าว
ทั้งนี้ที่ประชุมให้ความสนใจอย่างมากต่อการนำเสนอรายงานวิชาการเรื่องผลกระทบต่อการสร้างเขื่อนต่อการประมงในลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นการประมงน้ำจืดมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ซึ่งนักวิชาการผู้นำเสนอกล่าวว่าจนปัจจุบัน เรายังไม่มีเทคโนโลยีใดที่พิสูจน์ได้ว่าจะแก้ปัญหาการอพยพของปลาเนื่องจากการสร้างเขื่อน
“การศึกษาเบื้องต้นพบว่าหากสร้างเขื่อนไซยะบุรีอาจสูญเสียปลาไปราว 60,000 ตันต่อปี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งศึกษาผลกระทบต่อปลา มิเช่นนั้นความเสียหายจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอ” นักวิชาการกล่าว