Search

บวชต้นไม้-ปลูกป่า สืบชะตา”สาละวิน”

 

view_resizing_images

“ที่เรามาบวชป่า เพราะไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครได้อีกแล้ว หน่วยงานรัฐก็ช่วยอะไรไม่ได้ จึงต้องหันมาหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยปกป้องผืนป่า” ชาวบ้านคนหนึ่งพูดขึ้นในงานปลูกป่า บวชป่า สืบชะตาป่า แม่น้ำสาละวิน ที่บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน  หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขบวนการลักลอบตัดไม้กลับมาอาละวาดในผืนป่าสาละวินอีกครั้ง โดยใช้วิธีตัดไม้สักเป็นท่อนๆ แล้วลากลงแม่น้ำสาละวิน ชายแดนไทย-พม่า เพื่อส่งไปฝั่งพม่า หรือแปรรูปในป่าและส่งออกสู่ตัวเมือง แม้ชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าสาละวิน จะพยายามหาทางยุติการกระทำของขบวนการดังกล่าว แต่ผลที่ได้กลับมาคือการข่มขู่คุกคามอย่างหนัก แม้ต่อมามีการเปิดโปงต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ทำให้ขบวนการดังกล่าวหยุดตัดไม้สักในป่าสาละวินลงได้ image เนื่องจากในขบวนการตัดป่าเหล่านี้ มีบุคคลหลายระดับเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการระดับสูง จากหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานปกครอง รวมทั้ง นักการเมือง และนายทุนนักธุรกิจ ขณะที่การแก้ปัญหาของหน่วยงานภาครัฐเอง ทั้งการตั้งด่านและการเพิ่มกำลังลาดตระเวน ก็ยังไม่เป็นระบบและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้ขบวนการตัดไม้ยังเข้ามาลักลอบตัดไม้สักในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จากความเลวร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น เครือข่ายชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายทำงานในประเด็นทรัพยากรในพื้นที่มาตลอด จึงร่วมกับ อ.สบเมย และภาคีความร่วมมือในท้องที่ และภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมปลูกป่า บวชป่า สืบชะตาป่า แม่น้ำสาละวิน ริมแม่น้ำสาละวิน บ้านแม่สามแลบ พื้นที่ซึ่งเคยถูกแก๊งตัดไม้เข้ามาลักลอบตัดโค่น image เพื่อสร้างสำนึกและสร้างความตระหนักร่วมกันในการปกป้องผืนป่าแห่งนี้ และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนในผืนป่าสาละวิน และความเชื่อของคนต่อธรรมชาติ พิธีกรรมเหล่านี้เป็นการแสดงความเคารพต่อสรรพสิ่ง อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือในการปกป้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับชุมชนต่อไป โดยมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบแม่น้ำสาละวิน 10 หมู่บ้าน ร่วมกับ พล.ต.คู่ชีพ เลิศหงิม ผบ.กองพลทหารราบที่ 4 ตัวแทนแม่ทัพภาคที่ 3 นายสุรพล พนัสอำพล ผวจ.แม่ฮ่องสอน นายบุญเกื้อ คุณาธารกุล นายอำเภอสบเมย พ.ต.อ.ดาวฤกษ อยู่สวัสดิ์ ผกก.สภ.สบเมย นายยุทธนา ศรีเงินงาม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวิน และนายอภิรัฐ นพกุล ผอ.สำนักงานจัดการทรัพยากร ป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน นำตัวแทนหน่วยราชการร่วมงาน เริ่มด้วยประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม และพิธีกรรมตามความเชื่อของคนกะเหรี่ยง เพื่อขอพรให้คุ้มครองป่าสาละวิน คืนความอุดมสมบูรณ์แก่ป่าและแม่น้ำ พร้อมปกป้องชาวบ้านและชุมชนให้รอดพ้นจากขบวนการตัดไม้สัก ก่อนที่ชาวบ้านร่วมกันปลูกต้นไม้ 2,000 ต้น พร้อมบวชป่าร่วมกันตามหลักศาสนาที่นับถือ โดยกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลามใช้ผ้าขาวผูกต้นไม้ ชาวพุทธใช้ผ้าเหลืองผูก และชาวคริสต์ใช้ถ่านเขียนบนต้นไม้เป็นรูปไม้กางเขน หรือใช้วิธีตอกไม้กางเขนติดที่ต้นไม้ image นายสุรพล ผวจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ที่ผ่านมาป่าสาละวินถูกบุกรุกอย่างมาก ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่รุนแรง เจ้าหน้าที่จับกุมคดีไม้สักทั้งหมด 44 คดี มีไม้สักท่อน 429 ท่อน และไม้แปรรูปทั้งหมด 2,870 แผ่น มีผู้ต้องหาเป็นชาวบ้านทั้งหมด 4 คน และคดีความอยู่ในขั้นสอบสวนหาผู้เกี่ยวข้องต่อไป แต่หลังจากเจอสถานการณ์ร้ายๆ เกี่ยวกับป่าสาละวินเข้ามา ชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่มีความย่อท้อ ยังคงเดินหน้ารักษาทรัพยากรต่อไป และขอยืนยันว่าจะไม่ให้มีการตัดไม้เกิดขึ้นในพื้นที่อีก ขณะที่ นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการทรัพยากรกลุ่มลุ่มน้ำสาละวิน สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่า สถานการณ์ตัดไม้ในพื้นที่เริ่มหนักมากขึ้นเรื่อยๆ มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2556 โดยขบวนการตัดไม้จะตัดไม้สักอายุ 30 ปีขึ้นไป ทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีไม้สักในพื้นที่ถูกตัดไปกว่า 100,000-200,000 ต้น จากนั้นขบวนการตัดไม้จะเผาทำลายเศษซากไม้ที่ถูกตัด เพื่อเป็นการอำพรางร่องรอยการตัดไม้ ส่วนไม้ที่ตัดก็จะทำเป็นแพนำล่องน้ำสาละวินไปพักไม้ที่ประเทศพม่า เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ก่อนสวมเป็นไม้พม่ากลับเข้ามาฝั่งไทย image ผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการทรัพยากรกลุ่มลุ่มน้ำสาละวิน เล่าว่า การตัดไม้ในพื้นที่ นอกจากจะเป็นการทำลายป่าแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านที่นี่ ใครจะไปหาปลา หรือเดินทางไปไหนมาไหน หากพบกับขบวนการตัดไม้ก็จะถูกขู่ฆ่า หรือขู่ยิงทิ้ง นอกจากนี้ แพไม้ของพวกเขายังทำให้ตาข่ายหาปลา และเรือของชาวบ้านได้รับความเสียหาย ตลอดระยะเวลาที่มีปัญหาแม้มีการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจและเจ้าหน้าที่ป่าไม้อยู่หลายจุด ในเส้นทางที่ใช้ขนไม้ทางบก แต่ก็ไม่เคยจับกุมขบวนการเหล่านี้ได้เลย รวมทั้งนายทุน ทางเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เคยจับกุมได้แม้แต่คนเดียว ได้แต่เพียงจับตัวชาวบ้านที่นำไม้ไปใช้ปลูกบ้าน “อยากให้ทุกหน่วยงานตั้งใจร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่เกี่ยงกันไปมาเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการตั้งจุดสกัดขบวนการตัดไม้ ในช่วงตอนกลางคืน รวมทั้งต้องประสานขอความร่วมมือจากประเทศพม่าในการสกัดกั้นขบวนการตัดไม้ และอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐดูแลเรื่องความปลอดภัยของชาวบ้านในพื้นที่ โดยเครือข่ายพร้อมให้ความร่วมมือ และทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ เพื่อร่วมกันปกป้องรักษาป่า” นายพงษ์พิพัฒน์เสนอทางแก้ปัญหา ด้านผู้นำชุมชนบ้านแม่สามแลบ ร่วมเล่าว่า เรื่องตัดไม้ในพื้นที่เกิดขึ้นมา 5-6 ปีแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่รุนแรง จนกระทั่งช่วง 2 ปีหลังมานี้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น มีการตัดไม้สักและขนไม้สักเป็นขบวน การใหญ่ แม้จะจับกุมบ้างแต่ขบวน การตัดไม้ก็ไม่เกรงกลัวอะไรเลย “จึงพูดคุยกับชาวบ้านว่าจะต้องร่วมกันบวชป่าและปลูกป่า พร้อมทั้งทำพิธีสาปแช่งโดยสาวพรหมจรรย์ ให้คนตัดไม้มีอันเป็นไป เพราะพวกเราทนไม่ได้ที่เห็นใครเข้ามาตัดต้นไม้ และคิดว่าการบวชป่าเป็นหนทางสุดท้ายที่จะช่วยรักษาป่าไว้ เพราะในความเชื่อของชาวบ้าน วิธีการนี้จะทำให้ขบวนการตัดไม้ที่เป็นคนในหมู่บ้านไม่กล้ามาตัดไม้ คงไม่มีใครกล้าพาขบวนการตัดไม้เข้ามาในพื้นที่ และหลังจากนี้ไม้ไผ่ต้นเดียวก็ไม่สามารถตัดได้ แม้แต่สัตว์ป่าก็ล่าไม่ได้” ผู้นำชุมชนบ้านแม่สามแลบ เล่าต่อว่า ส่วนการแก้ปัญหาระดับชุมชนหลังจากการบวชป่านั้น กลุ่มชาวบ้านทั้งกะเหรี่ยง ไทยใหญ่ มุสลิม ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จะตั้งตัวแทนขึ้นมากลุ่มละ 1 คน เพื่อดูแลพื้นที่บวชป่าและปลูกป่า โดยจะเข้าตรวจสอบพื้นที่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง “เราอยู่กับป่ามาตั้งแต่เกิด ก็ต้องช่วยกันดูแลป่า ถ้าไม่ช่วยกันดูแลคิดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะไม่มีต้นสักเหลืออยู่ในป่าของเรา และถ้าไม้สักหมดไป ขบวนการตัดไม้ก็จะเข้ามาตัดไม้แดง และไม้อื่นๆ จนหมด” ผู้นำชุมชนบ้านแม่สามแลบ พูดด้วยแววตาเป็นกังวล บนดงดอยที่ไม้ใหญ่น้อยขึ้นอยู่รกครึ้ม กลับเต็มไปด้วยร่องรอยของตอสักที่ถูกตัดกระจัดกระจาย ความหวังของชาวบ้านนอกจากพิธีกรรมที่ส่งผ่านไปถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยดูแลรักษาผืนป่าแล้ว ก็คือการทำงานอย่างเอาจริงเอาจังของหน่วยงานรัฐ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาขบวนการตัดไม้ ด้วยการติดตามจับกุม ผู้กระทำผิดตัวจริง และกลุ่มอิทธิพลเบื้องหลังมาดำเนินคดี ให้ได้ โดย นพพล สันติฤดี ข่าวสด 4กย 57

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →