เสียงสวดพิธีกรรมจาก 3 ศาสนาเริ่มขึ้น นับตั้งแต่การสวดบวชป่าตามวิถีพุทธ พ่อเฒ่าบริกรรมคาถานับถือผี และเสียงมนต์จากผู้นับถืออิสลาม ชนชาวกะเหรี่ยงใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและบวชป่าสาละวิน เพื่อรักษาต้นไม้และผืนป่าของพวกเขา (วันที่ 8 ก.ค.)
ตลอดระยะทางริมแม่น้ำสาละวินยาวกว่า 2.5 กม. ที่อุดมไปด้วยไม้สักทอง กำลังจะถูกคาดด้วยผ้าเหลือง
‘เราเกิดในป่า ต้องรักษาป่า เห็นคนตัดไม้แล้วทำใจไม่ได้ มันเหมือนมาทำร้ายเรา’ นายสุภาพ นุชวงค์ตาล ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย กล่าวนำการสนทนา พร้อมอธิบายว่า การบวชป่าตามพิธีพุทธและการสาปแช่งตามวิถีผู้นับถือผี เป็นความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง ที่เชื่อว่า หากผู้ใดตัดไม้หรือทำร้ายสิ่งมีชีวิตในบริเวณบวชป่า จะต้องมีอันเป็นไป แต่ใช่ว่าจะใช้เฉพาะจิตวิทยา เพราะชาวบ้านมีการจัดกลุ่มจากผู้นับถือศาสนา จากทั้ง 3 ศาสนา ผลัดเปลี่ยนเฝ้าระวังการตัดไม้ ดูแลด้วยจิตอาสาไร้ค่าตอบแทน
แหล่งข่าวอีกราย ย้อนประวัติขบวนการลักลอบตัดไม้ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ว่า ขบวนการดังกล่าวเคยรุนแรงเมื่อราว 6 ปี ที่แล้ว จนเงียบหายไป แต่เริ่มกลับมาอีกครั้งตั้งแต่ปี 2556 มีชายฉกรรจ์และรถบรรทุกใหญ่เข้าไปในป่า เขต อ.สบเมย เสียงเลื่อยที่เงียบไป กลับมาแผดก้องผืนป่า ชาวบ้านเริ่มหวาดกลัวอิทธิพลผู้คุกคาม
“ตกค่ำ ชาวบ้านไม่กล้าเดินทางแล้ว กลัวไปเจอพวกตัดไม้ พวกมันขู่จะทำร้ายถ้าไปบอกเจ้าหน้าที่”
ตลอดช่วงระยะเวลาแห่งความหวาดกลัว วีรชัยแทรกตัวอยู่ในพื้นที่ เพื่อติดตามขบวนการตัดไม้ คะเนได้ว่าแต่ละคืนจะมีการตัดไม้ไม่ต่ำกว่า 30 ต้น พิจารณาจากการล่องแพไม้ท่อนราว 4-5 แพต่อคืน ในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สิ่งที่น่าแปลกใจคือการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง แต่ปัญหาคงมีอยู่
“เจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจตลอดทางมันยังรอดไปได้ ส่วนที่จับได้ก็พวกหางแถว ชาวบ้านบางคนซวย เพราะเก็บไม้ไว้สร้างบ้านเท่านั้น ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไปหมด”
แหล่งข่าวอธิบายขบวนการตัดไม้รุ่นใหม่ไว้ชัดเจน “เจ้าหน้าที่ตรวจกลางวันเขารู้ เขาก็เน้นทำกลางคืน ยิ่งช่วงหน้าฝน น้ำขึ้นยิ่งล่องไม้ง่ายเพราะน้ำขึ้นสูง ส่วนใหญ่จะล่องไม้ไปแปรรูปฝั่งพม่า เข้าทางเมียวดี แล้วตีกลับมาทางแม่สอด(จ.ตาก) ส่วนที่ขนทางรถก็ยังเห็นอยู่ แต่เขาขนผ่านด่านหมด”
พล.ต.คู่ชีด เลิศหงิม ผบ.กกล.นเรศวร และผบ.พล.ร4 ชี้ช่องโหว่ของการตรวจสอบขบวนการตัดไม้ ว่า ที่ผ่านมามีการตั้งจุดตรวจเฉพาะเวลากลางวัน แต่ขบวนการมักรู้เส้นทางในพื้นที่ กอปรกับเลือกเวลากลางคืนในการขนส่งไม้ โดยหลังจากนี้ จะมีการเพิ่มกำลังให้ตรวจตราทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งนี้ยอมรับว่า มีไม้จากป่าสาละวินเล็ดลอดออกไป ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการบางราย ที่ส่อพฤติกรรมมิชอบต้องจัดการอย่างเด็ดขาด
อย่างไรก็ตามคนในพื้นที่ต้องมีบทบาทตรวจสอบ เพื่อเฝ้าระวังอย่างแข็งขัน และป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่
“เรารู้ว่าใครบกพร่อง แต่จะโทษใครไม่ได้ เพราะทุกคนก็ตั้งใจทำงาน ขณะที่มีอำนาจอยู่ ก็ต้องทำงานให้เต็มที่ แต่สุดท้ายมันต้องจบที่ชุมชน เพราะที่นี่คือบ้านของเขา”
รศ.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ รองประธานอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า ในคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ต้นตอของปัญหาการลักลอบตัดไม้ป่าสาละวิน ที่เกิดขึ้นไม่จบสิ้น เป็นเพราะความต้องการไม้(demand)ของกลุ่มทุนไม่จำกัด โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสีเทา ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปไม้ในลักษณะต่างๆ รวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ไม้เป็นวัสดุ ส่วนการตัดไม้และขนส่งไม้ท่อนให้เห็นจนชิ้นตาในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเส้นทางหลักที่จะเข้าสู่ป่าสาละวินทั้งทางบกและทางน้ำ มีไม่กี่เส้นทาง หากกวดขันจริงจังจะไม่เกิดการบุกรุกเช่นนี้
“ถ้าเจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่ให้ความร่วมมือ มันทำไม่ได้ จิตสำนึกของเจ้าหน้าที่มันคือมั่นคงของแผ่นดิน ไม่ใช่แค่เรื่องระบบนิเวศน์”
การแก้ปัญหาระยะยาว รศ.เพิ่มศักดิ์ เห็นว่า ควรจัดการตั้งแต่ต้นตอของความต้องการ(demand) นั่นคือผู้ต้องการใช้ไม้เพื่อแปรรูปเป็นไม้แผ่น เฟอร์นิเจอร์ กระทั่งการปลูกสร้างรีสอร์ท โดยการสืบค้นและพิสูจน์ที่มาของไม้อย่างชัดเจน หลักฐานของราชการนั้นไม่เพียงพอ เพราะสามารถสร้างหรือซักฟอกให้ถูกกฎหมาย ซึ่งหากพบมีการนำไม้ผิดกฎหมายมาสร้างจริง ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายเคร่ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อกรณีขบวนลักลอบตัดไม้ป่าสาละวินจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวของทำงานอย่างจริงจัง จุดตรวจและสำนักงานของภาครัฐตั้งอยู่ตลอดทาง ถ้าเอาจริงมันทำไม่ได้
“ต้องให้ประชาชนร่วมกับรัฐ ตั้งระบบตรวจสอบติดตามไม้ รัฐทำฝ่ายเดียวล้มเหลว เสียงบประมาณเปล่า อีกทั้งยังขาดความโปร่งใส ไม่สามารถสู้อิทธิพลทุน ถนนไม่กี่สาย กับน้ำสาละวินสายหลัก ถ้าเอาจริงมันไม่ยาก”
รอยเลื่อยยังคงไม่เลือนหายจากไม้ใหญ่ในป่าสาละวิน นายทุนเฝ้ารอวันที่ข่าวคราวจากผืนป่าสาละวินเงียบหาย พวกเขาพร้อมกลับมาแผดเสียงเลื่อยกลับเสียงสัตว์ป่าอีกครั้ง ได้แต่หวังว่าพวกเราจะเฝ้าติดตาม ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย
ขณะประกอบพิธีกรรมบวชป่าและปลูกป่า หญิงสาวชาวกรุงที่เข้าร่วมพิธี ถามแม่เฒ่าชาวพื้นถิ่น ว่า “ต้นไม้ที่ปลูกวันนี้ ต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะโต”
แม่เฒ่าตอบเคล้าน้ำตา “จนกว่าฉันจะตาย หรือเธอจะตาย”
โพสต์ทูเดย์