วันที่ 8 กันยายน 2557 ที่โรงแรมลักษวรรณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการรับฟังปัญหาของลุ่มน้ำ และแนวทางการแก้ไขเพื่อยกร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1 (ภาคเหนือ) ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำโขงเหนือและลุ่มน้ำสาละวิน จัดโดยคณะกรรมการอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกครั้งที่ 1 โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ตัวแทนกรมชลประทาน ผู้แทนหน่วยงานต่างๆจาก 5 จังหวัดคือ เชียงราย พะเยา ตาก แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ อาทิ คณะกรรมการลุ่มน้ำ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาเกษตรกร องค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 200 คน
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าว ว่า การประชุมครั้งนี้มีการคุยกันทั้งเวทีใหญ่และเวทีย่อย โดยตัวแทนของลุ่มน้ำต่างๆ เสนอแผนจัดการทรัพยากรน้ำในแต่ละพื้นที่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำกก แม่น้ำปิง แม่น้ำสาละวิน โดยตนในฐานะตัวแทนแม่น้ำโขงที่เชียงราย เบื้องต้นได้พูดถึงการมีธรรมาภิบาลเรื่องการกำหนดแผนบริหารทรัพยากรน้ำของรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจให้เคารพสิทธิประชาชน ทุกพื้นที่เพื่อร่วมออกแบบนโยบายด้วยกัน โดยเฉพาะแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย และเขื่อนต่างๆ ที่ต้องใช้งบประมาณของประเทศมหาศาล จำเป็นต้องเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมและศึกษาความคุ้มค่าทุกด้าน
“คุยกันครั้งนี้ ทุกคนมีระเบียบแบบแผนเจรจาแต่ละส่วน โดยยืนยันเช่นเดิมว่ากระจายอำนาจในการจัดการน้ำแก่ประชาชน คนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาชนส่วนมาก และคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตในพื้นที่ ไม่เอาเฉพาะมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือการแก้ไขปัญหา ท่วม แล้ง แบบเร่งรัดแล้วแก้ที่ปลายเหตุ แต่ต้องเน้นการให้ความรู้ประชาชน ในเชิงวิชาการและมีผู้รู้มานำเสนอจริงๆ ไม่อิงเฉพาะตัวแทนพรรคการเมือง แม้ว่าประชุมตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ แต่เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มที่ดีที่ให้ประชาชนได้นำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ด้วยหวังว่าจะแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืนได้” นายนิวัฒน์ กล่าว
ด้านนายหาญณรงค์ กล่าวว่า เวทีวันนี้แม้จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สะท้อนปัญหา แต่กลับไม่พยายามให้เกิดกระบวนการหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบจากการขุดลอกแม่น้ำ โครงการก่อสร้างเขื่อนต่างๆ ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน เช่น ถ้าลุ่มน้ำไหนใช้น้ำมากเกินไปก็ควรจะมีการลดการใช้น้ำให้เหมาะสม แต่กระบวนการกลับนำไปสู่การพูดถึงโครงก่อสร้างต่างๆ ซึ่งหลายโครงการก็เป็นแผนงานเดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ถ้าเวทีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการน้ำ ก็จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่รอบด้าน ครบถ้วนในทุกมิติ ไม่ใช่จัดเวทีการมีส่วนร่วมทั้งที่รัฐมีพิมพ์เขียวอยู่แล้วว่าต้องการดำเนินการอย่างไร
นายพิศนุกรณ์ ดีแก้ว ตัวแทนเครือข่ายลุ่มน้ำอิง กล่าวว่า ไม่มั่นใจว่าความคิดเห็นที่ได้จากเวทีในวันนี้จะถูกนำไปพิจารณาเพื่อกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากคนต้นน้ำและคนท้ายน้ำซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้ อีกทั้งเมื่อมีการลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามกลับไปยังหน่วยงานรัฐเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนในหลายประเด็น จึงตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการมีส่วนร่วมในวันนี้เป็นเพียงการจัดขึ้นเพื่อรองรับแนวคิดหรือโครงการที่รัฐได้ออกแบบมาแล้ว
ขณะที่รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ที่ปรึกษาคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในเวทีกล่าวว่า กระบวนการนี้เป็นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งพยายามออกแบบกระบวนการให้เกิดการมีส่วนร่วม เพื่อให้สามารถนำปัญหาที่แท้จริงไปวิเคราะห์เป็นยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา โดยในเดือนหน้าหน่วยงานต่างๆ จะนำโครงการมาเสนอเข้าสู่แผน ซึ่งต้องผ่านกระบวนการที่นำข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ไปปรับปรุงรายละเอียดให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่ต่อไป
“อาจจะติดกับภาพเก่าๆ ของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกรมชลประทาน ที่เมื่อก่อนคิดโครงการเสร็จแล้วจึงมาถามชาวบ้านว่าจะเอาหรือไม่เอา แต่ตอนนี้ได้พยายามปรับวิธีการและแนวคิด ใช้เกณฑ์ที่มีผลรับได้ทุกฝ่ายทั้งผู้เสียประโยชน์และผู้ได้ประโยชน์จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด แต่ส่วนหนึ่งในแผนอาจจะมีโครงการเดิมอยู่บ้าง รวมถึงโครงการใหม่ แต่กระบวนการที่กำลังดำเนินการได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมกันตรวจสอบสามารถแก้ไขปรับปรุงได้ให้เกิดความเหมาะสม” รศ.ดร.สุวัฒนา กล่าว
อนึ่ง สาระสำคัญร่างกรอบนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้ แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีหน้าที่ที่สำคัญในการกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้งและคุณภาพน้ำของประเทศ และเสนอแผนงานโครงการและมาตรการเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ฯลฯ ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการฯ จำนวน 5 ชุด ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก มีอธิบดีกรมชลประทานเป็นเลขานุการ
2. คณะอนุกรรมการการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ มีอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเป็นเลขานุการ 3.คณะอนุกรรมการฯ รับผิดชอบด้านระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ มีผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เป็นประธาน 4.คณะอนุกรรมการฯ ด้านการจัดตั้งองค์กร ข้อกำหนด และกฎหมายต่าง ๆ มี เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน และ 5.คณะอนุกรรมการ รับผิดชอบด้านการประชาสัมพันธ์ มีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน